×

LINE MAN Wongnai เข้าซื้อกิจการ FoodStory สตาร์ทอัพไทยผู้พัฒนาระบบ POS สำหรับร้านอาหาร คาดแผน ‘เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ’ จะเกิดขึ้นใน 2 ปี

20.07.2023
  • LOADING...
LINE MAN ซื้อกิจการ FoodStory

LINE MAN Wongnai ประกาศบรรลุข้อตกลงเพื่อเข้าซื้อกิจการ FoodStory สตาร์ทอัพไทยผู้พัฒนาระบบ POS สำหรับร้านอาหาร ซึ่งทำธุรกิจนี้มาแล้ว 11 ปีด้วยกัน

 

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของ LINE MAN Wongnai ในการรวมทรัพยากรด้านเทคโนโลยี บุคลากร และความเชี่ยวชาญระหว่าง LINE MAN Wongnai และ FoodStory เป็นหนึ่งเดียวกัน 

 


  ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

“เราจะร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านอาหารทั้ง POS และ Merchant App ที่ตอบโจทย์ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ร้านอาหารในไทย ตอกย้ำผู้นำเบอร์ 1 ของตลาด POS ในไทย” 

 

ภายหลังการเข้าซื้อ ผู้ร่วมก่อตั้ง FoodStory ได้แก่ ฐากูร ชาติสุทธิผล และชวิน ศุภวงศ์ จะเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธุรกิจ Merchant Solutions รวมถึงพนักงานกว่า 150 คนจะเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของเอกลักษณ์ วิริยะโกวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Lifestyle & Solution Services LINE MAN Wongnai 

 

สำหรับตลาด POS ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านอาหารใช้งานรวมทั้งตลาดราว 1 แสนร้านค้า จากร้านอาหารทั้งหมด 5 แสนร้านค้า โดย LINE MAN Wongnai เผยว่า ตัวเองเป็นเบอร์ 1 ในตลาดนี้ด้วยส่วนแบ่ง 50% หรือมีฐานมากกว่า 50,000 ร้าน และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่รับประทานอาหารนอกบ้านกลับมาคึกคัก โดยในจำนวนนี้ 40% เป็นร้านที่เปิดออนไลน์อย่างเดียว

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีของ LINE MAN ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 – เมษายน 2566 มีมูลค่าธุรกรรมรวม (GMV) เติบโตขึ้น 33% ในขณะที่ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 8.1-8.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลงราว 0.8-6.5% จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

  

หากพิจารณาตามพื้นที่ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 – เมษายน 2566 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีจำนวนออร์เดอร์เติบโตขึ้น 25% จำนวนผู้ใช้งานเติบโตขึ้น 27% ในขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดมีจำนวนออร์เดอร์เติบโตถึง 17% และจำนวนผู้ใช้งานเติบโตขึ้น 10% จึงเตรียมวางแผนทุ่มงบการตลาดเพื่อดึงดูดผู้ใช้งานและเพิ่มตัวเลือกร้านอาหารทั่วประเทศไทยให้มากขึ้น

 

“เวลาลูกค้าเลือกใช้งานเดลิเวอรีจะดูจาก 3 เหตุผลหลักคือ มีร้านอาหารที่อยากสั่ง มีตัวเลือกที่เยอะ รวมไปถึงโปรโมชันและค่าส่ง” ยอดกล่าว “จากข้อมูลพบว่าลูกค้าบางรายสั่งเดือนละ 20-30 ครั้ง และตอนนี้ยอดสั่งซื้อต่อบิลได้เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”

 

ยอดฉายภาพว่า แม้กระแสเดลิเวอรีจะไม่หวือหวาเหมือนช่วงโควิด แต่การแข่งขันไม่ได้ลดลงเลย มีแต่ทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งจากผู้เล่นในตลาด 5 ราย เชื่อว่าที่สุดแล้วจะเหลืออยู่ราว 3 ราย คาดว่าภาพที่จะชัดอาจเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ 

 

“ตอนนี้ผู้เล่นแต่ละรายขโมยลูกค้ากันเองแล้ว เพราะ 20-30% ของผู้ใช้ไม่ได้มี Brand Loyalty ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำสำหรับแพลตฟอร์มคือการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยเชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้เราจะมี EBITDA เป็นบวก”

 

นอกจากนี้ LINE MAN ยังเร่งขยายการเติบโตของบริการออนดีมานด์ในกลุ่ม Non-Food ได้แก่

  • LINE MAN MESSENGER บริการส่งของ เอกสาร และวางบิลด่วน พบยอดการใช้งานรวมเติบโตขึ้น 2 เท่า และเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดเติบโตขึ้น 4 เท่า พื้นที่ที่มีการใช้งานสูงที่สุดอยู่ในพื้นที่เมือง ได้แก่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล พัทยา และเชียงใหม่ 
  • LINE MAN MART บริการสั่งของสด-ของใช้ด่วน มีจำนวนร้านค้าบนแพลตฟอร์มกว่า 50,000 ร้าน มียอดออร์เดอร์เติบโต 1.6 เท่า ในปี 2566 เร่งขยายจำนวนร้านค้าแบรนด์ชั้นนำ 11 แบรนด์ ครอบคลุมกว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ
  • LINE MAN TAXI บริการเรียกแท็กซี่ พบความต้องการของผู้ใช้งานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 มีการเติบโตถึง 2 เท่า นอกจากนี้ LINE MAN ยังได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงการรับงานของคนขับแท็กซี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาสามารถเพิ่มการรับงานแท็กซี่ต่อวันได้เฉลี่ย 21%

 

ทั้งหมดนี้เป็นการปูทางของ LINE MAN Wongnai ก่อนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อติดนามสกุลมหาชนเร็วสุดในช่วง 2 ปีต่อจากนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising