×

พลิกโผ! LINE MAN แซง Grab ครองแชมป์ Food Delivery ไทย คาดมูลค่าตลาดทะลุ 2.4 แสนล้านบาทในปี 2028

11.09.2024
  • LOADING...

ในขณะที่ Food Delivery บ้านเรายังคงฝุ่นตลบกับการหาคำตอบว่าใครจะเป็นผู้ซื้อ Robinhood หลังประกาศปิดตัวแบบที่คนไม่ทันตั้งตัว ในฟาก 2 ยักษ์ของตลาดก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อ LINE MAN พุ่งแรงจนแซง Grab ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดแล้ว 

 

Redseer Consulting เปิดเผยส่วนแบ่งการตลาดตามจำนวนธุรกรรม (Transaction) ของบริการ Food Delivery ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2019 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2024 โดยมีการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาดระหว่างผู้เล่นหลักต่างๆ 

 

ซึ่ง LINE MAN ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง โดยในครึ่งแรกของปี 2024 มีส่วนแบ่งประมาณ 44% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2020 ขณะที่ Grab ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงปีที่ผ่านมา

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ด้าน ShopeeFood มีส่วนแบ่งตลาดลดลงมาอยู่ที่ 10% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ส่วนกลุ่ม Others ซึ่งรวมถึงผู้เล่นรายอื่นๆ เช่น foodpanda และ Robinhood มีส่วนแบ่งตลาดที่เหลืออยู่ประมาณ 6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024

 

LINE MAN ถือว่าเติบโตได้เร็วมาก ซึ่งช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai ระบุว่า LINE MAN ยังเติบโตมากกว่าตลาด แม้ในภาพรวมจะไม่ได้หวือหวาเท่ากับช่วงก่อนหน้านี้ 

 

ในรายงานยังระบุถึงการที่ LINE MAN สามารถขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดได้ เป็นผลมาจากการควบรวมกิจการในปี 2020 ในขณะที่ ShopeeFood ใช้ประโยชน์จากฐานผู้ใช้ที่มีอยู่แล้ว

 

ตอนต้นปี 2024 Momentum Works ออกรายงานที่ระบุถึงสถานการณ์ที่แม้ Grab จะครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งถึง 47% ในปี 2023 สำหรับบ้านเรา ทว่าสิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ตัวเลขดังกล่าวนั้นกลับลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีถึง 51% สวนทางกับ LINE MAN ที่มีส่วนแบ่งตลาด 36% โตจากปีก่อนหน้าที่มีส่วนแบ่งตลาด 24% เท่านั้น

 

รายงานของ Redseer Consulting ยังระบุมูลค่ารวมของธุรกรรม (GMV) ในธุรกิจ Food Delivery คาดว่าจะเติบโตขึ้นจาก 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.4 แสนล้านบาทในปี 2023 เป็น 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.4 แสนล้านบาทภายในปี 2028 

 

ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้ ได้แก่ การขยายตัวของเมือง, การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต, ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารหลากหลายชาติพันธุ์ รวมถึงความสะดวกและรวดเร็วในการจัดส่ง ขณะที่ในด้านอุปทาน การที่ร้านอาหารในไทยมีลักษณะกระจัดกระจาย ทำให้บริการสั่งอาหารออนไลน์กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการเชื่อมต่อร้านอาหารกับผู้บริโภค

 

สำหรับดีลการเข้าซื้อกิจการ Robinhood นั้น แม้ก่อนหน้านี้จะมีรายงานออกมาว่า ‘ไทยเบฟเวอเรจ’ ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี จะเป็นผู้ปิดดีล แต่แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องระบุกับ THE STANDARD WEALTH ว่าไม่ใช่ไทยเบฟ แต่เป็นบริษัทอื่นที่เป็นของคนไทย 100% คาดว่าจะปิดดีลภายในเดือนกันยายนนี้ และมีมูลค่าการเข้าซื้ออยู่ที่ราว 1-2 พันล้านบาทด้วยกัน 

 

ขณะเดียวกัน Redseer Consulting ยังมีการตลาดบริการเรียกรถจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี โดยในปี 2023 ตลาดบริการเรียกรถมีมูลค่า GMV อยู่ที่ 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทและคาดว่าจะเติบโตอีก 13% เป็น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.4 หมื่นล้านบาทภายในปี 2028 

 

การเติบโตมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว, การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถและคนขับ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยในตลาดบริการเรียกรถ ผู้เล่นรายใหญ่ 3 รายครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 85% ซึ่งมีผู้เล่นหลักคือ Grab, LINE MAN, Bolt, inDrive และ maxim

 

เพิ่มเติมข้อมูลเมื่อเวลา 19.30 น.

 

อย่างไรก็ตาม Grab ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรมใดๆ ของ Grab ให้กับ Redseer Consulting มาก่อน และไม่เคยเปิดเผยจำนวนธุรกรรมหรือยอดการใช้บริการ (Number of Transaction) ของธุรกิจ Food Delivery ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ให้แก่บุคคลภายนอก

 

ดังนั้น รายละเอียดจำนวนธุรกรรมที่ปรากฏ และถูกแปลงเป็นสัดส่วนการตลาดของ Grab ที่ 40% โดยระบุที่มาของข้อมูลว่าเป็น Desk Research จึงไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจาก Grab ทั้งนี้ Grab ขอยืนยันที่จะไม่รับรองความถูกต้องของข้อมูลที่ระบุในรายงานดังกล่าว

 

จากกรณีที่เกิดขึ้น ฝ่ายกฎหมายของ Grab ทำการติดต่อ Redseer Consulting เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล รวมถึงระเบียบวิธีการทำวิจัย และอาจพิจารณาดำเนินการใดๆ ในลำดับต่อไปตามที่บริษัทฯ เห็นสมควรเพื่อปกป้องข้อมูลขององค์กร

 

ทั้งนี้ Grab ยืนยันว่ายังมีผลการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนผ่านรายได้รวม 15,622 ล้านบาท และกำไร 1,308 ล้านบาทในปี 2566

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X