THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ถึงการตัดสินใจลุกจากเก้าอี้ Head of Digital Banking ของ SCB มานั่งเก้าอี้ตัวใหม่ในบ้านหลังใหม่ที่ต้องตั้งต้นนับศูนย์! และอะไรคือแนวคิดตั้งต้นที่ต้องการผลักดันบริการวงเงินให้ยืม (Credit Line) ไปจนถึงการขับเคลื่อนองค์กรที่แวดล้อมไปด้วยคนรุ่นใหม่ในสเตปที่ต้องไวและคม! เพราะนี่คือก้าวใหม่ของธุรกรรมทางการเงินที่จะช่วยให้ทุกบริการทางการเงินของผู้ใช้แอปพลิเคชัน LINE ในไทยกว่า 47 ล้านรายเป็นเรื่องง่าย
ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด
“เรารู้กันอยู่แล้วว่าเกมการแข่งขันในอนาคต Data เป็นตัวชี้ขาดว่าใครแตกต่าง และใครที่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาค้นหาและปลดล็อกพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้มากกว่า ธุรกิจนั้นย่อมได้เปรียบ” ธนาเล่าว่า เขาคิดมาตลอดและคิดมาก่อนที่ LINE จะจับธุรกิจการเงินว่าคู่แข่งที่น่าสนใจหากกระโดดลงมาเล่นในธุรกิจนี้คือกลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดและอยู่ในทุกช่วงชีวิตของลูกค้า
“ตอนนั้นผมมองไปถึงแพลตฟอร์มใหญ่ๆ อย่าง Facebook, Google และ LINE เราใช้ชีวิตอยู่กับแพลตฟอร์มเหล่านี้ทั้งวันทั้งคืน เขามีข้อมูลเราเยอะและลึก ถ้า 3 เจ้านี้ลงมาเล่นการเงินน่าจะน่ากลัวสำหรับแบงก์ แต่ในใจก็รู้ว่า Facebook กับ Google ไม่น่าจะลงมาเล่น หรือถ้าเล่นเมืองไทยก็ยังไม่ใช่เป้าหมายแรก แต่ LINE น่าจะเป็นไปได้ที่สุด คิดเลยว่าถ้า LINE ทำการเงิน แบงก์น่าจะเจอคู่แข่งที่น่าสนใจแล้ว”
‘โอกาสนี้มันต้องลอง’ ในวันที่โอกาสมาถูกที่ ถูกเวลา
กระแสข่าวที่ว่า LINE กำลังมองหาแบงก์ในไทยเพื่อเดินหน้าธุรกิจการเงิน ยิ่งทำให้ธนาเชื่อมั่นว่า เกมการเงินกำลังจะเปลี่ยนไปโดยคู่แข่งหน้าใหม่ที่มีฐานลูกค้าเกือบทั้งประเทศ
“ผมได้ยินข่าวตั้งแต่ตอนอยู่ที่ SCB ตอนนั้นผมมองว่า สิ่งที่ LINE กำลังทำน่าสนใจมาก การที่ LINE มีฐานลูกค้าอยู่ในมือมหาศาล ธุรกิจที่มีฐานข้อมูลลูกค้าขนาดนี้ เวลาจะขยายธุรกิจหรือทำอะไรเพิ่มก็ง่าย และช่วงนั้นธุรกิจที่คล้ายกันอย่าง WeChat ของประเทศจีน เขาก็มี WeBANK ซึ่งประสบความสำเร็จมากๆ สร้างความเติบโตให้ธุรกิจมหาศาล และในประเทศเกาหลีก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีแอปฯ KakaoTalk เป็นบริการแชตที่เปิดมาก่อนบริษัท Naver ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ LINE และคนเกาหลีก็นิยมมากๆ เมื่อ 2 ปีก่อนเขาก็เพิ่มเปิด KakaoBank ก็ประสบความสำเร็จมากเช่นกัน ผมว่าสองสิ่งนี้น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ LINE เริ่มศึกษายุทธศาสตร์และมองตลาดนี้ จึงสร้างโปรเจกต์ LINE Bank ออกมา จากนั้นก็หาพันธมิตรในประเทศต่างๆ
“ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ของ KBank ตรงกับ LINE มาก สังเกตดีๆ จะเห็นคำว่า Powered by KBank ตลอด มันมีนัยอยู่นะ ในมุมของ KBank คือลูกค้าไม่ต้องตรงมาหาฉันก็ได้ ฉันแค่ขอเป็นส่วนหนึ่งในทุกที่ที่ลูกค้าอยู่ จึงเป็นแบงก์ที่จับมือกับพันธมิตรเยอะมาก
“วันที่เขามาชวนก็หนักใจนะ (ยิ้ม) หนักใจในแง่ที่ว่า เราอยู่ในที่ที่มีการแข่งขันกันสูงมาก แต่ถ้าตัดเรื่องนั้นออกและถามตัวเองว่า ถ้าเราทำ คงได้เห็นอะไรใหม่ๆ และมันก็น่าสนใจที่ได้ลองของที่ต่างจากเดิม พอคำตอบในใจมัน ใช่ ใช่ ใช่ โอกาสนี้มันต้องลอง มันคือสิ่งที่เราคิดมาตลอด อุตส่าห์ได้โอกาสมาก็ลุยเลย
“เหตุผลที่ตัดสินใจเด็ดขาดคือ อย่างน้อยการรวมตัวกันระหว่าง KBank และ LINE พื้นฐานของความได้เปรียบมันชัด พอพื้นฐานมันชัด ความท้าทายที่จะปลุกปั้นบริการที่ดีให้เกิดขึ้นจริงมันก็ยิ่งชัด ที่เหลือก็อยู่ที่ตัวเราว่าจะมีความสามารถในการปลดล็อกความได้เปรียบออกมาได้จริงหรือเปล่า”
กว่าจะมาเป็น #เรื่องเงินง่ายในLINEคุณ
นับศูนย์สำหรับธนา ที่อดีตเคยปั้น SCB Easy มากับมือ ดูเหมือนเป็นงานที่คุ้นมืออยู่แล้ว หรือการตั้งไข่ในองค์กรขนาดเล็กอาจทำให้หลายๆ อย่างคล่องตัวกว่า แต่คุณคงไม่ลืมว่า บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารกสิกรไทยและ LINE
“ก็เคยคิดเล่นๆ นะว่า พอมาเป็นสตาร์ทอัพมันอาจขยับตัวได้คล่องกว่า แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของยักษ์ใหญ่สองเจ้าคือ LINE และ KBank ดังนั้นเราจึงต้องทำตามกฎกติกาของทั้งสองบ้าน แรกๆ อุปสรรคคงเป็นเรื่องแนวคิด วิธีการทำงาน และวัฒนธรรม ที่ต่างกัน คุยกันคนละภาษา อยู่กันคนละประเทศ มันก็ท้าทายนะ เป็นการทำงานที่เราต้องผ่านหลายด่าน แต่ละองค์กรก็มีคาแรกเตอร์ มีความเชื่อมั่นในวิธีการและความรู้ที่ต่างกัน LINE BK เป็นลูกที่ต้องรักษาการณ์ให้สองบ้านใหญ่ทำหน้าที่นำทั้งสองสิ่งมาเชื่อมโยงและพากันเดินไปพร้อมกันให้ได้ เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน
“ในความต่างผมมองเป็นข้อดีนะ พอ LINE BK อยู่ตรงกลาง เลยได้เห็นจุดแข็งของสองบริษัท KBank จุดแข็งของเขาคือเป็นแบงก์ที่มีฐานลูกค้าใหญ่มากกว่า 16.6 ล้านคน และเป็นลูกค้าที่มีธุรกิจเยอะสุด โดยเฉพาะธุรกิจบุคคล SMEs การมีธุรกรรมเยอะ ทำให้เขาเข้าใจความต้องการลูกค้ากลุ่มนี้เยอะมาก เรียกว่าเป็นแบงก์ที่ลูกค้าใช้จ่ายจากบัญชีเป็นแบงก์หลัก
“ส่วน LINE ฐานลูกค้ากว่า 47 ล้านคนที่เขาประมาณการมาที่ใช้บริการ ข้อมูลเยอะ จึงเข้าใจลูกค้าเยอะเช่นกัน เราได้รู้จักลูกค้าในมุมอื่นที่ไม่ใช่การเงิน ซึ่งมันไม่ใช่แค่สองฝั่งมีฐานลูกค้าเยอะเท่านั้น แต่ลูกค้ายังใช้เวลากับสองแพลตฟอร์มนี้เยอะ เพราะสิ่งสำคัญของธุรกิจแพลตฟอร์มคือ ต้องการเวลาของลูกค้าเพื่อที่เราจะได้เข้าใจพฤติกรรมของเขาให้มากที่สุด คนนี้ชอบอ่านดวง คนนี้ทำธุรกรรมเวลานี้หรือจ่ายค่าบ้านช่วงวันไหน คนนี้ตอบข้อความช้า พอเริ่มจับทางได้ถูกว่าเขาต้องการอะไรช่วงไหนก็เหมือนจั๊กจี้ถูกที่ มันก็ง่ายที่เราจะเสนอบริการอื่นๆ ให้กับเขา ยิ่งใครได้เวลาลูกค้าเยอะ ก็มีโอกาสเยอะ อยู่กับเขาให้ได้ และเข้าใจเขาให้มาก มันคือพื้นฐานของการมัดใจลูกค้า”
สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งตอกย้ำแนวคิดบริการ บริการวงเงินให้ยืม (Credit Line) ว่าเดินมาถูกทางแล้ว
เรื่องที่ไม่ถามไม่ได้เลยคือ สถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบกับทุกธุรกิจบนโลก สร้างผลกระทบอะไรกับการมาถึงของ LINE BK บ้าง เท่าที่ฟังดูเหมือนจะได้รับผลกระทบน้อยในแง่ของการทำงาน เพราะยักษ์ใหญ่ระดับ LINE และ KBank ต่างก็เคยชินกับการประชุมผ่าน VDO Conference อยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจกลับทำให้แนวคิดที่จะผลักดันธุรกิจสินเชื่อบน LINE BK ยิ่งชัดเจนขึ้น
“เพราะโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ธุรกิจสินเชื่อทำยากขึ้นในการวิเคราะห์ว่าลูกค้ากลุ่มไหนสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อได้และมีความเสี่ยงน้อยพอที่จะไม่ทำให้ก่อเกิดหนี้เสีย เพราะหากมองในแง่ธุรกิจ วงการสินเชื่อใครจะสำเร็จหรือไม่เสร็จ วัดกันที่ความสามารถในการประเมินความเสี่ยง เพราะมันเป็นธุรกิจกระจายความเสี่ยง ทุกวันนี้เราประเมินความเสี่ยงกันด้วยข้อมูลส่วนตัวและประวัติเครดิต คนที่จะมีประวัติเครดิตคือคนที่เคยกู้มาก่อน ซึ่งก็คือคนที่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อได้ คนที่ไม่มีประวัติก็ประเมินความเสี่ยงไม่ได้ เขาก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เพราะไม่ผ่านการประเมิน คนไทยอาชีพส่วนใหญ่ทำอาชีพค้าขาย เกษตรกร หรือกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่มีเงินเดือนแน่นอน จึงไม่เคยเข้าถึงบริการสินเชื่อ พวกเขาก็ต้องไปทำสินเชื่อนอกระบบ แต่ถ้าเราสามารถเปิดบริการให้เขามากขึ้น เขาก็อยากยืมเงินในระบบมากกว่าอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่มีทางออกก็จะติดอยู่กับหนี้นอกระบบ”
บริการวงเงินให้ยืม (Credit Line) บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่ธนาพูดถึงเป็นหนึ่งในบริการที่ธนาคาดหวังว่าจะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรม โดยผู้ที่ผ่านการประเมินจะสามารถขอวงเงินสินเชื่อได้ด้วยตัวเอง ทุกที่ ทุกเวลา อนุมัติไว เบิกเงินเข้าบัญชีได้ทันที โดยผู้มีรายได้ขั้นต่ำ 7,000 บาท ไม่จำเป็นต้องใช้สลิปเงินดือนก็ขอสินเชื่อได้ ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดให้กับผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำและไม่มีสลิปเงินเดือน เช่น ฟรีแลนซ์ และผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็ก
และผู้ใช้ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะ LINE BK ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาของการสื่อสารของลูกค้า และจะไม่นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลอย่างเด็ดขาด
“ตอนที่ LINE BK ตั้งบริการนี้ขึ้นมา เพราะเราอยากฉีกกรอบเรื่องนี้มากๆ เราอยากเข้ามาช่วยตรงนี้ เพราะเรามีข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายรวมถึงพฤติกรรมการใช้งานต่างๆ ใน LINE แต่ต้องบอกก่อนว่า LINE ไม่ได้เห็นสิ่งที่ผู้ใช้งานคุยกันเลย สิ่งที่เขาเห็นเป็นเพียงพฤติกรรมการใช้งาน เป็นคนตอบไลน์เร็ว ตื่นเช้า ตื่นสาย สั่งอาหารหรือเปล่า ชอบดูคอนเทนต์แบบไหน แต่จะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาของการสื่อสารของลูกค้าได้ เพราะทุกอย่างถูกเข้ารหัสไว้หมด สิ่งที่เราต้องทำคือ วิเคราะห์ด้วย AI และวิเคราะห์ด้วยทีมงานวิเคราะห์สินเชื่อ โดยใช้รูปแบบเฉพาะที่จะนำข้อมูลทางการเงินและพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียที่ไม่เกี่ยวกับข้อมูลความเป็นส่วนตัวของลูกค้ามาวิเคราะห์ร่วมกัน ประมวลผลว่าพฤติกรรมแบบนี้ความเสี่ยงเยอะ แบบนี้ความเสี่ยงน้อย และจะกลายเป็นโมเดลที่จะใช้สกรีนคนได้ชัดขึ้น”
ส่วนเรื่องความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เช่น ข้อความในแชต หรือความปลอดภัยในธุรกรรมการเงิน ธนาย้ำชัดว่า เรื่องความปลอดภัยคือเรื่องแรกที่ทีมงานทุกคนให้ความสำคัญที่สุด
“เราเข้าใจในความกังวลของผู้ใช้งาน แต่เราอยากให้ผู้ใช้งานมั่นใจ เพราะเรามี KBank เป็นพันธมิตร ดังนั้นทุกขั้นตอนที่เกี่ยวต้องจึงต้องแน่นเหนียวรัดกุมที่สุด และเราเป็นธุรกิจที่ถูกกำกับโดยแบงก์ชาติ เราถือใบอนุญาตการให้สินเชื่อกับแบงก์ชาติโดยตรง ถึงเราจะทำเรื่องเทคโนโลยีที่ต้องขยับให้เร็ว แต่พอทำเรื่องการเงินทุกอย่างต้องช้าลง เพราะเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญที่สุด ซึ่ง LINE ก็เป็นบริษัทที่แคร์เรื่องความสำคัญของข้อมูลมากๆ เราลองให้บริษัทใหญ่ๆ มาลองเจาะระบบก็ไม่สามารถทำได้ มันมีชั้นความปลอดภัยที่สร้างขึ้นมาตามมาตรฐานโลก แต่ท้ายที่สุดในทุกๆ บริการบนโลกดิจิทัล ผู้ใช้บริการเองก็ต้องระมัดระวังเรื่องการให้ข้อมูลกับมิจฉาชีพด้วย”
วันที่ 20 ตุลาคม 2563 LINE BK ประกาศเปิดตัวพร้อมให้บริการทางการเงินอย่างเป็นทางการและเต็มรูปแบบครั้งแรกในฐานะ ‘Social Banking’ ที่ฝังตัวเองอยู่บนแพลตฟอร์มของ LINE ด้วยผลิตภัณฑ์หลัก บัญชีเงินฝาก บัญชีเงินออมดอกพิเศษ บัตรเดบิต และวงเงินให้ยืม (Credit Line) กระแสตอบรับสำหรับธนาถือว่าดี นี่คือของใหม่จริงๆ ในมุมของลูกค้า แต่หากถามทีมงานเบื้องหลัง ก็ยังมีอีกหลายจุดที่ต้องเร่งมือ เพื่อสร้างความพอใจให้กับผู้ใช้งาน LINE BK ที่สุด
“ธุรกิจนี้ต้องมีสมดุลตรงที่ว่าดีพอที่จะเริ่มก่อนได้หรือยัง หรือในคอนเซปต์ที่เรียกว่า MVP (Minimum Viable Product) แค่นี่ก็โอเคนะเพื่อที่จะเร็วพอที่จะปล่อยผลิตภัณฑ์สู่ตลาด เพื่อดูว่าลูกค้าต้องการจริง อยากใช้จริงแค่ไหน แก้ปัญหาเขาได้จริงหรือเปล่า ถ้าถามคนในทีมหลายคนก็ยังอยากปรับนั่นเพิ่มนี่ แต่ธุรกิจนี้ความเร็วสำคัญ ใครเร็วกว่า ปรับตัวเร็วกว่า ก็จะดึงใจลูกค้าได้ดีกว่า มันก็ยากนะที่จะบอกว่ามันดีพอหรือยัง แต่ก็ต้องปล่อย หลังจากนี้จะได้เห็นว่าหลังจากใช้งานแล้วเจอปัญหาอะไร อันไหนยังทำให้ง่ายขึ้นได้อีก ต้องรีบนำกลับมาปรับปรุงเพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์การใช้ที่ดีขึ้น
“อีกมุมคือ LINE BK น่าจะเป็นโปรเจกต์แรกๆ ที่พยายามรับลูกค้าหลายล้านคนบนการยืนยันตัวตนลูกค้าผ่านออนไลน์ล้วนๆ เป็นสเกลที่ใหญ่มากๆ ก็มีอะไรให้เรียนรู้เยอะ เพราะลูกค้ายังไม่ชินกับหลายๆ อย่างในวิธีการนี้ บางคนก็รู้สึกว่ามันหลายขั้นตอนจัง มันยังเป็นของใหม่สำหรับลูกค้าคนไทยในสเกลใหญ่ ซึ่งการที่เราเป็นเจ้าแรกในตลาดก็มีทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี เพราะเราก็มีต้นทุนและต้องฝ่าฝันแรงเสียดสีใหม่ๆ ไปให้ได้”
‘Social Banking’ ใครมีแอปฯ LINE ก็เหมือนมีธนาคารบนแชต
ธนาบอกว่า นัยของคำว่า Social Banking คือการร้อยเรียงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบน Social Platform เข้ากับการใช้ Mobile Banking ให้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น ไวขึ้น
“เราไม่ได้มาแข่งกับ Mobile Banking แต่เราเข้ามาทำให้การใช้ชีวิตทุกด้านของเขาสะดวกขึ้น ประเทศไทยมีคนใช้ Mobile Banking แทบจะติดอันดับโลก ดังนั้น อะไรคือบริการการเงินที่สะดวก หนึ่งในนั้นคือการโอนเงินผ่านแชต มันมีรอยต่อเล็กๆ อย่างการสลับแอปฯ ไปมา ระหว่างแชตกับแอปฯ ธนาคาร รอยต่อเล็กๆ นั้นที่เราอยากตัดทิ้ง โอนจาก LINE ได้เลย สลิปเด้งมาทันที เพื่อให้ไม่ต้องหลุดจากวงจรการใช้งานที่เขาคุ้นเคย ก็หวังว่าบริการนี้จะทำให้ชีวิตลูกค้าสะดวกขึ้น ถ้ามันเชื่อมทุกอย่างให้ง่ายขึ้นก็ค่อยๆ พัฒนาบริการอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์การเงินไร้รอยต่อ”
ล้วงลึกการเดินทัพขององค์กรน้องใหม่ที่ช่วยให้ LINE BK เข้าใจผู้ใช้งานเจนนี้มากขึ้น
“ผมว่าเราต้องหาเวทีให้น้องๆ รุ่นใหม่” ธนาบอก เมื่อ THE STANDARD ถามถึงการสร้างองค์กรใหม่ โดยมีพนักงานกว่าครึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีวิธีการทำงานที่ต่างจากการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่หรือไม่
“มันเหมือนการเซ็ตศูนย์ ชอบนะ ทุกคนมาศูนย์จริงๆ ผมเองก็อยากมาเซ็ตศูนย์ เลยไม่ได้เอาคนเดิมๆ ที่เคยทำงานด้วยกันมา แต่เราเลือกที่จะทำงานกับคนใหม่ๆ มาลองเซ็ตกันใหม่ สร้างปฏิสัมพันธ์กันใหม่ ในทีมครึ่งหนึ่งก็มาจากสายการเงิน อีกส่วนก็สายเทคโนโลยีสุดๆ ทุกคนเหมือนได้มากดรีเซ็ต หลายคนคงชอบที่ได้ลองทำอะไรใหม่ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ความสามารถเยอะ มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา เราก็ต้องหาเวทีให้เขาได้แสดงพลังออกมา เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนทำงานสายนี้ ย่อมต้องการพื้นที่ที่จะวิ่งได้เร็ว และได้แสดงความคิดของตัวเอง แสดงความสามารถและเห็นผลในสิ่งที่ตัวเองใส่แรงลงไป
“เราสร้างวัฒนธรรมองค์กรภายใต้แกนที่ ‘DUET’
- D คือ Difference ทำอะไรต้องแตกต่าง ทุกคนต้องฉีกกรอบจากเดิม
- U คือ User ในที่นี้คือลูกค้า ถ้าคุณอยากแตกต่างคุณก็ต้องหาให้เจอว่าลูกค้ามี Pain Point อะไร ยิ่งยุคนี้ User Centric เรื่องใหญ่มาก
- E คือ Enjoy สำหรับผมอันนี้คือโจทย์ที่ยากที่สุด ผมเชื่อว่าถ้างานไม่สนุก คนก็ไม่อยากทำ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้งานคุณสนุกและคุณสนุกกับการงานที่คุณทำ
- T คือ Together เรายังเป็นบริษัทเล็กๆ ถึงอย่างไรก็ต้องลงแรงช่วยกัน ไม่มีใครมีหน้าที่ชัดเจน เรามีกันอยู่ประมาณ 100 คน ฉะนั้นทุกคนต้องพร้อมทำอะไรมากกว่าในสิ่งที่ตัวเองทำ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน”
แล้วเป้าหมายของ LINE BK คืออะไร?
“ถ้าถามผม ผมคงอยากเห็นเส้นทางที่ชัดเจนของธุรกิจ เห็นลูกค้าแฮปปี้ และธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้น LINE BK จะไปต่อได้ ถ้าผมเห็นทางชัดขึ้นเมื่อไร คิดว่าแรงกายแรงใจของทีมก็คงจะมีมากขึ้น
“แต่ถ้าเป้าหมายของผมเอง ก็คงคล้ายกับเป้าหมายของ LINE BK แต่ขอเติมเข้าไปอีกหน่อยในแง่ที่ว่า ถ้าการมาเซ็ตศูนย์ของเรา แล้วเราได้สร้างบริษัทที่มันจะกลายเป็นผู้เล่นหลักในเกมนี้ในอนาคต ก็คงภูมิใจว่าเราเริ่มจากศูนย์ได้เหมือนกัน”