ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2011 แอปพลิเคชัน LINE ได้เปิดตัวให้ใช้งานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในญี่ปุ่น ด้วยจุดประสงค์การเป็นช่องทางให้ผู้คนได้ติดต่อสื่อสารกันท่ามกลางผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (แผ่นดินไหวและสึนามิทำให้การสื่อสารระบบโทรคมนาคมล่ม) ก่อนจะสะสมไมล์ความนิยมมาโดยตลอดผ่านฟีเจอร์การใช้งาน สติกเกอร์ที่น่ารัก และแพลตฟอร์มที่มีความครบเครื่องสุดๆ
ปัจจุบัน LINE ได้เดินทางมาถึงปีที่ 10 ของการให้บริการในฐานะแพลตฟอร์มที่ตอบสนองชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานได้อย่างครบวงจรในระบบนิเวศ LINE Ecosystem ของพวกเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยบริการต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่งแม้จะเริ่มต้นจากแค่ช่องทางแชตสื่อสาร แต่ ณ วันนี้กลับมีหลากหลาย เช่น สั่งอาหาร, ดูซีรีส์, กู้เงิน (จ่ายเงิน), อ่านข่าว หรือประชุมงาน เป็นต้น
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดการเดินทาง 10 ปีของ LINE เราได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จากแอปพลิเคชันสื่อสารสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถยกระดับชีวิตคนไทยในยุคดิจิทัล ด้วยฟีเจอร์และบริการต่างๆ บนแอปแอปพลิเคชันที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นทั้งแชต, ประชุมงาน, ช้อปปิ้ง, สั่งอาหาร, จ่ายเงิน, ดูซีรีส์, อ่านข่าว ฯลฯ เราจึงก้าวเข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งชีวิตของผู้ใช้ และมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการใช้บริการของแพลตฟอร์มเรา
“มากไปกว่านั้น เรายังเป็นแพลตฟอร์มเพื่อธุรกิจ ที่สามารถขับเคลื่อนแบรนด์ องค์กร และผู้ประกอบการไทยทุกระดับ บนเส้นทาง Digital Transformation สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้ธุรกิจ เรารู้สึกดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในทุกวันนี้ โดยเบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของ LINE ที่พัฒนาบริการทุกอย่างมาเพื่อตอบโจทย์ของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการสนับสนุนและความไว้วางใจของทุกคนที่มีให้กับเรา”
ความสำเร็จและการเติบโตดังกล่าวยังเป็นสิ่งตอกย้ำประสิทธิภาพของกลยุทธ์ Humanization & Localization ที่ LINE ใช้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อครองใจผู้ใช้ในเมืองไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของการพัฒนาฟีเจอร์และบริการ รวมถึงการทำการตลาดที่ตอบโจทย์คนไทย เช่น การพัฒนา LINE MAN ที่มาปฏิวัติไลฟ์สไตล์การกินของคนไทยจนเติบโต และควบรวมธุรกิจกับ Wongnai จนเกิดแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง, การพัฒนา MyShop โซลูชันที่มาเสริมแกร่ง Chat Commerce ให้ LINE Official Account รองรับการเปิดร้านค้าออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมมือกับภาครัฐพัฒนา LINE Official Account เพื่อตอบโจทย์บริการที่หลากหลายเพื่อประชาชน
“แม้องค์กรจะเติบโตมากขึ้นไปตามกาลเวลา แต่ LINE ก็จะยังคงไว้ซึ่งการเป็น Tech Company with Startup Mindset แนวคิดที่ทำให้พวกเราชาว LINE ยังคงสนุกสนาน ตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ ไม่กลัวที่จะผิดพลาดล้มเหลว ไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งต่างเป็นดีเอ็นเอของเราให้สามารถพัฒนาบริการและฟีเจอร์ต่างๆ บนอีโคซิสเต็ม LINE เพื่อยกระดับชีวิตของผู้ใช้ในทุกมิติอยู่เสมอ” ดร.พิเชษฐกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจเปิดเผยจาก LINE ประเทศไทย ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การใช้งานฟีเจอร์การสื่อสารต่างๆ ของ LINE เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19
ตัวอย่างเช่น LINE Group Audio Call ที่มีการใช้งานเพิ่มสูงกว่า 72%, LINE Group VDO Call เพิ่มขึ้น 162 % เช่นเดียวกันกับ LINE Meeting ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2563 ก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 371%
ส่วน LINE Official Account ก็มีผู้ใช้บัญชีทางการเพิ่มขึ้นถึง 25% เป็น 4 ล้านบัญชี (เปรียบเทียบระหว่างไตรมาส 3/62 และไตรมาส 3/63)
โดยในช่วงปีที่ผ่านมา มีการเชื่อมต่อใช้เครื่องมือ MyShop โซลูชันที่ช่วยบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นถึง 257% ขณะที่การจับจ่ายออนไลน์บน LINE SHOPPING คึกคัก สร้างยอดขาย (GMV) โตกว่า 200% ทั้งสินค้าจิปาถะไปจนถึงแฟชั่นและแก็ดเจ็ต ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ช่วงโควิด-19 ของ LINE ได้เป็นอย่างดี
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล