วันนี้ (16 กันยายน) นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจาก World Weather Attribution เตือนว่า ภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มที่อาจจะทำให้วิกฤตนำ้ท่วมในปากีสถานเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดังกล่าวมีส่วนทำให้ปริมาณน้ำฝนในฤดูมรสุมมากยิ่งขึ้นกว่าปีก่อนๆ
แต่เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวพันกับความไม่แน่นอน ทางทีมวิจัยจึงไม่สามารถวัดขนาดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ แต่พวกเขาเชื่อว่ามีโอกาสราว 1% ที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า
ตลอดช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้คนหลายล้านคนในปากีสถานได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตในครั้งนี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เบื้องต้นมียอดผู้เสียชีวิตจากวิกฤตน้ำท่วมดังกล่าวนี้แล้วราว 1,500 ราย สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ตลิ่งที่พังทลาย ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ขอบเขตความเสียหายยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ทีมนักวิทย์ระบุว่า “หลักฐานที่เราค้นพบบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญต่อวิกฤตในครั้งนี้ แม้เราจะไม่ได้วัดปริมาณความเสียหายออกมาในรูปแบบเชิงปริมาณก็ตาม
“สิ่งที่เราเห็นในปากีสถาน คือภาพฉายด้านสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดในช่วงหลายปีนับจากนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโดยฝีมือมนุษย์มีส่วนทำให้สถานการณ์ต่างๆ รุนแรงมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ ปากีสถานนับเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศไม่ถึง 1% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แต่กลับต้องเป็นประเทศหน้าด่านที่ต้องเผชิญวิกฤตทางธรรมชาติที่รุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากรายงานชี้ว่าปากีสถานปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของก๊าซเรือนกระจกโลก แต่กลับเป็นประเทศเปราะบาง และอยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่เสี่ยงเผชิญกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศรุนแรงต่อเนื่องในประชาคมโลก
ภาพ: Asif Hassan / AFP
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/science-environment-62915648
- https://www.france24.com/en/live-news/20220915-climate-change-likely-worsened-pakistan-floods-study
- https://www.dw.com/en/climate-change-likely-worsened-pakistan-extreme-floods/a-63142625