“ผมดรอปเรียนมาทำ NFTs”
สารภาพตามตรงว่าเรารู้สึกแปลกใจมากหลังจากที่ได้รู้ว่า ฮาร์ท หรือรู้จักกันในนามของ lilheart เด็กหนุ่มวัย 22 ปี หันหลังให้การเรียนปีสุดท้ายเพื่อมาทำ NFTs เต็มตัว อะไรทำให้เด็กหนุ่มตรงหน้าตัดสินใจทำสิ่งที่ต่างจากขนบและเลือกทำสิ่งที่หลายคนมองว่า ‘เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้’ ความมุ่งมั่น? โอกาส? หรือแค่เด็กคนหนึ่งที่ตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น เพราะแค่เบื่อการเรียน
แต่หลังจากที่ได้คุยกันสักพัก เราพบว่าเขาเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีทั้งความฝัน มีพลังและความอยาก มีความกล้า และรู้จักความต้องการของตัวเอง ฮาร์ทบอกว่าประสบการณ์ในชั้นเรียนเริ่มไม่ตอบโจทย์เขาแล้ว และการทำ NFTs ก็สอนอะไรแก่เขามากมายกว่าในชั้นเรียนเสียอีก
🎵 จุดเริ่มต้นของ Lofi-Roomie 🎵
Lofi-Roomie เป็นคอลเล็กชัน NFTs 100 ชิ้นงานของ lilheart เขาเป็นคนแรกๆ ในหมู่ศิลปินไทยที่เลือกพัฒนาโปรเจ็กต์ NFT Music แทนที่จะเป็น Profile Picture หรือภาพ Pure Art แบบที่คนอื่นนิยมกัน พอเราถามว่าทำไม เขาตอบว่าต้องขอบคุณ ท๊อป จิรายุส ผู้บริหาร Bitkub ที่ทำให้รู้จักกับ NFT Music
“ผมเข้าวงการคริปโตตอนที่ Bitcoin แตะล้านบาทครั้งแรก เราเข้ามาศึกษาเพราะอยากลงทุน อยากหารายได้เพิ่มเป็นค่าขนม ตอนนั้นมือใหม่มาก มีอะไรก็พยายามศึกษา ติดตามข่าวสารตลอดเวลา ใครไปพูดที่ไหน มีงานอะไรก็ตามไปฟังหมด งานนั้นพี่ท๊อปพูดถึงเรื่อง NFTs แบบละเอียดมาก อธิบายไปถึง NFT Music และแนวโน้มในอนาคต เราฟังแล้วคิดว่า เออ เราเล่นดนตรีมา 8 ปี ทำเพลงมาก็ 2 ปี และอิมโพรไวส์เพลงลง YouTube บ้าง นี่อาจเป็นทางของเราก็ได้
“งานชิ้นแรกของผมที่ลงขายเป็นเพลงที่เราเคยแต่งไว้ และเอาหน้าปก YouTube ที่เพื่อนเคยให้ทำมาประกอบกัน ตอนนี้ลงไม่มาก ไม่กี่ชิ้น ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ไม่ได้สนใจ จนกระทั่งวันหนึ่งเราเริ่มหันมาเป็นผู้ซื้อ NFTs แล้วหันมามองงานของตัวเอง ถ้าเป็นเราก็ไม่อยากซื้อเหมือนกัน ยกเว้นแต่ซื้อเก็บสะสมจริงๆ
“คนซื้อชิ้นงาน NFTs มีทั้งคนที่ซื้อเพราะเก็งกำไรและซื้อเพราะชอบผลงานจริงๆ ผมเลยมานั่งคิดใหม่ อะไรคือสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราถนัด และพรีเซ็นต์อย่างไรให้คนสนใจ ก็เลยมาจบที่เพลงแนว Lofi Roomie แนวเพลงที่ชอบบวกความเป็นห้อง ที่ได้แรงบันดาลใจจากห้องของผมนี่แหละในช่วงกักตัว”
แม้จะได้คอนเซ็ปต์ชัดเจนแก่ตนเองแล้วว่า Lofi Roomie แต่คอลเล็กชันก็ยังไม่มีโรดแมปหรืออะไรชัดเจนอยู่ดี
“ตอนแรกผมแพลนคอลเล็กชันนี้ไว้แค่ 30 ชิ้นงาน แต่มาสุดที่ 100 ชิ้นงาน ทั้งทำเพลงและภาพประกอบเอง ซึ่งผลตอบรับเกินคาดสำหรับผม มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติมาอุดหนุน เพราะเขารู้สึกชอบงานผมจริงๆ มีคนหนึ่งเขาเอาเพลงที่ผมทำไปประดับในแกลเลอรีของเขาที่สร้างขึ้นใน Metaverse บางคนก็ชอบงานและติดต่อมาให้เราทำเพลงให้บ้าง เกินคาดมากจริงๆ”
🎵 คิดว่า NFTs บ้านเราอยู่ตรงไหน 🎵
“ดีขึ้นกว่าตอนที่ผมเข้ามาใหม่ๆ มาก ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่า NFTs คืออะไร ถึงรู้ก็ยังงงๆ ทุกคนได้แต่ทำชิ้นงานแล้วก็ขายไป การตลาดยังไม่ค่อยทำ ไม่มีการสร้างคอมมูนิตี้ ฯลฯ หันกลับมาดูตอนนี้ มีหลายโปรเจ็กต์ ทำการตลาดเก่งมาก คอมมูนิตี้แข็งแกร่งไม่แพ้ต่างชาติเลย บางโปรเจ็กต์คือไปไกลสู่โปรเจ็กต์บลูชิปได้เลย ซึ่งผมว่ามันดีมากต่อคนที่เข้ามาใหม่
“คนไทยเก่งเรื่องงานศิลปะอยู่แล้ว มีต่างชาติที่อุดหนุนงานผม เขาถามผมว่าคนไทยไปอยู่ไหนมา ทำไมมีแต่งานเจ๋งๆ แต่ทำไมไม่ค่อยโปรโมต”
เราแล้วโปรโมตอย่างไร?
“อันที่จริงผมก็โปรโมตเหมือนคนอื่นๆ แหละ คือใช้ Twitter และโซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์ มีช่อง Discord ในการสร้างคอมมูนิตี้ แต่ผมชอบร่วมกิจกรรมแฟนอาร์ตกับทางโปรเจกต์ต่างๆ สนุกดี”
🎵 อุปสรรคของ NFT Music ในไทย 🎵
“เท่าที่ผมพบเจอมา คนทำดนตรีบ้านเราคือทำดนตรีเป็นอย่างเดียวครับ ส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องพรีเซ็นต์หรือภาพประกอบที่ใช้ประกอบกันเพื่อการลงขาย ซึ่งผมแนะนำให้เขาจับมือกับศิลปินภาพประกอบเพื่อทำโปรเจ็กต์ ถ้าดนตรีดี ภาพประกอบดี”
🎵 NFTs ให้อะไรผมเยอะมาก และไม่เสียใจเลยคือคิดดรอปเรียน 🎵
“ผมรู้สึกมีความสุขมากตอนนี้ เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ห้องเรียนให้ไม่ได้ ได้ฝึกภาษา เรียนรู้เรื่องการเงิน ได้ทำสิ่งที่รัก แถมยังได้รายได้ด้วย เกินคาด หลายคนเสียดายเวลาแทนผมที่ดรอปเรียนมา แต่ผมไม่รู้สึกเสียดายเลยแม้แต่น้อย เพราะถ้าผมไม่ตัดสินใจดรอปเรียนในวันนั้น ชีวิตผมคงไม่สามารถมาถึงตรงนี้ได้”
สำหรับใครที่อยากสนับสนุนงานโปรเจ็กต์ Lofi-Roomie สามารถเข้าไปชมได้ที่ https://opensea.io/collection/lofi-roomies หลังจากจบคอลเล็กชันนี้ ฮาร์ทบอกเราว่าเขามีแผนทำ NFT Music แบบ Generative Art ตอนนี้อยู่ในขั้นรวบรวมทีมงาน ส่วนใหญ่จะปล่อยเมื่อไรนั้น ฮาร์ทบอกว่า อยู่ที่พละกำลังของผมครับว่าจะไหวแค่ไหน ซึ่งเราคงต้องติดตามกันไปในอนาคต