×

‘อ้วน’ หรือ ‘อวบระยะสุดท้าย’ ไขข้อข้องใจ และเตือน ‘ภัย’ โรคอ้วน

04.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • โรคอ้วนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เพื่อบอกความรุนแรงของภาวะ หรือของโรคว่า ปานกลาง รุนแรง และรุนแรงมาก โดยระดับความรุนแรงมากตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก คือ ค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ขึ้นไป หรือตั้งแต่ 30 ขึ้นไป
  • ‘Gastric Balloon’ เป็นวิธีการทางเลือกสำหรับรักษาโรคอ้วน โดยการใส่บอลลูน ที่บรรจุสารน้ำเข้าไปในกระเพาะอาหาร บอลลูนจะเข้าไปลดความจุของกระเพาะอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลงและอิ่มนาน ร่างกายจึงนำไขมันส่วนเกินออกมาใช้ ส่งผลให้น้ำหนักลดลง เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 27 ซึ่งลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล

     รูปร่างอ้วนเป็นเรื่องที่ผู้ใส่ใจในเรื่องความสวยความงามเป็นกังวลกันมาก นับตั้งแต่โลกเราให้ค่านิยมยกย่องคนรูปร่างผอมเพรียว ซึ่งเป็นความงามตามสมัยนิยม แต่ไม่ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร นั่นก็อาจจะไม่ได้มีความหมายมากเท่ากับการที่ร่างกายของเรายังคงแข็งแรงและมีสุขภาพดี

     เราทุกคนล้วนทราบกันดีจากการวิจัยแทบทุกสำนักว่า ภาวะอ้วนที่กลายเป็นโรคนั้นส่งผลกระทบในแง่ลบตามมาได้มากมาย แต่กระนั้นหลายคนก็ยังไม่เข้าใจว่า จริงๆ แล้วขนาดไหนจึงจะเรียกว่าเป็น ‘ภาวะอวบระยะสุดท้าย’, ‘อ้วนระยะเริ่มต้น’ หรือกระทั่งอ้วนสุดขีดไปจนเรียกได้ว่า ‘อ้วนจนน่าวิตก’ ซึ่งนอกจากนำมาซึ่งโรคร้าย อย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ-สมอง หรือ เบาหวานแล้ว ยังเสี่ยงต่อภาวะไขมันอุดตัน หยุดหายใจขณะหลับ และโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย

     เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราได้รับเกียรติจากคุณหมอของโรงพยาบาลพญาไท 2 ‘นพ. จีรวัส ศิลาสุวรรณ’ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการ ส่องกล้องในระบบทางเดินอาหาร มาเป็นผู้ไขข้อข้องใจและให้คำแนะนำ และต่อไปนี้คือบทสรุปและคำแนะนำต่อภาวะอ้วน ที่คุณสามารถนำไปใช้คำนวณและปฏิบัติตนเพื่อดูแลตน

ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆ ของร่างกายเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ที่ส่งผลถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

นพ. จีรวัส ศิลาสุวรรณ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ

โรงพยาบาลพญาไท 2

 

     “ภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในปัจจุบัน จัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุข เพราะประชากรทั่วโลก รวมทั้งในคนไทย มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเป็นทั้งปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุสำคัญของโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงมาก และอัตราการเสียชีวิตก็ยังคงสูงต่อเนื่อง”

 

แค่ไหนถึงเรียกว่า ‘อ้วน’?

     องค์การอนามัยโลก ให้นิยามภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน (Overweight and Obesity) เอาไว้ว่า

     “ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆ ของร่างกายเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ที่ส่งผลถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้”

     โดยเมื่อมีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป เรียกว่า ‘น้ำหนักตัวเกิน’ แต่ถ้ามีค่าดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เรียกว่า ‘เป็นโรคอ้วน’

     โรคอ้วนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เพื่อบอกความรุนแรงของภาวะหรือของโรคว่า ปานกลาง รุนแรง และรุนแรงมาก โดยระดับความรุนแรงมากตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก คือ ค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ขึ้นไป หรือตั้งแต่ 30 ขึ้นไป (เฉพาะสำหรับชาวเอเชียที่รูปร่างโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กกว่าชาวตะวันตก)

 

คำนวณยังไง?

     ‘ดัชนีมวลกาย’ คือ ค่าสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักตัวกับส่วนสูง ซึ่งนิยมใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ว่าใครอ้วนหรือผอม ใครน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน ค่า BMI คำนวณได้จาก การใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

 

 

     จากตัวอย่างข้างต้น BMI 25.39 สำหรับคนไทย (ชาวเอเชีย) ก็จะอยู่ในช่วงของ 25.00 – 29.99  ซึ่งจัดได้ว่าเข้าข่ายอ้วนแล้ว สำหรับตารางดัชนีมวลกายนี้สาเหตุที่จำเป็นต้องแยกระหว่างชาวอเมริกัน ยุโรป แอฟริกัน และชาวเอเชีย เนื่องจากคนเอเชียโดยเฉลี่ยนั้นมีรูปร่างสรีระที่เล็กกว่าชาวอเมริกัน ยุโรป และแอฟริกัน

     จากข้อมูลของดัชนีมวลกายที่องค์การอนามัยโลกทำการศึกษาพบว่าคนเอเชียที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 23 เป็นต้นไป จะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น หรือแปลได้ว่าถ้าคุณน้ำหนักเกินก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

     คำนวณดัชนีมวลกายด้วยโปรแกรมอัตโนมัติได้ที่ : โปรแกรมคำนวณดัชนีมวลกาย Body Mass Index (BMI) – ตารางแคลอรี

 

อ้วน… แล้วไง ต้องแคร์ไหม?

     นั่น… พูดแบบนี้ คุณกำลังประมาทภาวะ ‘น้ำหนักตัวเกิน’ และ ‘โรคอ้วน’ ต่ำไปเสียแล้ว รู้ไหมว่านั่นอาจเป็นการเชื้อเชิญ หรือพาตัวเองให้เดินเข้าไปสู่ การเป็นโรคต่างๆ เหล่านี้ได้

     1) โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต)

     2) โรคเบาหวาน

     3) โรคความดันโลหิตสูง

     4) โรคไขมันในเลือดสูง

     5) โรคนิ่วในถุงน้ำดี เพราะการมีไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้น้ำดีจากตับมีไขมันสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไขมันจะตกตะกอนเกิดเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ง่าย

     6) มีปัญหาในการหายใจ อาจทำให้เป็นโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep Apnea)

     และในอีกแง่มุมหนึ่ง ในบางกรณีภาวะอ้วนสามารถส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านสังคมอย่างช้าๆ ทั้งกับตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง จนนำไปสู่ภาวะของโรคซึมเศร้าได้ด้วย

คำถามชวนคิด: ในบางคนที่ออกกำลังกายจนตัวใหญ่ ดัชนีมวลกายเกินค่าที่กำหนด แต่ส่วนที่เกินมาเป็นมวลกล้ามเนื้อ ไม่ได้เป็นไขมัน ถือว่าอ้วนหรือเปล่า?  และในกรณีเช่นนี้ถือว่ามีอันตรายต่อสุขภาพไหม?

แนวทางปฏิบัติป้องกันโรคอ้วน

  1. รู้จักควบคุมอาหาร

     ลดปริมาณพลังงานที่บริโภค คนที่กินอาหารมากต้องกินให้น้อยลง และเลือกกินให้มากขึ้น ซึ่งต้องทำอย่างมีวินัย น้ำหนักที่เกินอยู่จึงจะลดลง และไม่แนะนำให้ลดน้ำหนักโดยวิธีอดอาหาร เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

     เมื่อกินอาหารน้อยลง จะต้องระมัดระวังว่าอาหารนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการดีพอไหม ให้สมดุลกับ ข้อที่ว่ามันยังมีความเอร็ดอร่อยและไม่น่าเบื่อมากเกินไปด้วย ทุกมื้ออาหารควรมีผักและผลไม้เสมอ เพราะอาหารทั้ง 2 ประเภทนี้นอกจากให้วิตามินและเกลือแร่ ยังให้ใยอาหารซึ่งทำให้ท้องไม่ผูก ทั้งยังช่วยให้รู้สึกอิ่มไม่หิวบ่อย สำหรับผลไม้ไม่ควรกินชนิดที่มีรสหวานจัด เช่น องุ่น ละมุด ทุเรียน ฯลฯ ถ้ากินก็ขอให้กินเป็นครั้งคราวเท่านั้น

     และในส่วนของการบริโภคไขมัน ให้ดูที่มาจากพืชในการปรุงอาหาร และพิจารณาร่วมกับกรดไขมันจำเป็นในสัดส่วนที่เหมาะสม ส่วนคาร์โบไฮเดรต แป้ง น้ำตาล พิจารณาจากคุณค่าและที่มาเป็นหลัก ส่วนขนมหวาน น้ำอัดลม และการปรุงอาหารด้วยน้ำตาล ให้ลด ละ ให้ได้มากที่สุดจะเป็นดี

  1. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

     การลดน้ำหนักจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อเราออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถ้าคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนต้องค่อยๆ เริ่มและหัดให้เกิดวินัย นับตั้งแต่การเดินซึ่งก็เป็นวิธีออกกำลังกายอย่างหนึ่ง การออกกำลังกายในแต่ละช่วงควรใช้เวลาประมาณ 15-45 นาที โดยทำอย่างต่อเนื่องกันไปจนกระทั่งรู้สึกว่าเหนื่อยแล้วค่อยพัก ในวันหนึ่งๆ ถ้ามีเวลาออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาวันละ 1 ชั่วโมงจะดีมาก

 

คำถามชวนคิด: ในบางคนที่ออกกำลังกายจนตัวใหญ่ ดัชนีมวลกายเกินค่าที่กำหนด แต่ส่วนที่เกินมาเป็นมวลกล้ามเนื้อ ไม่ได้เป็นไขมัน ถือว่าอ้วนหรือเปล่า?  และในกรณีเช่นนี้ถือว่ามีอันตรายต่อสุขภาพไหม?

     ในกรณีนี้ นพ. จีรวัส ศิลาสุวรรณ ให้ความกระจ่างว่า

     “การออกกำลังกายจนตัวใหญ่ แล้วดัชนีมวลกายเกินค่าที่กำหนด ไม่ถือว่าอ้วนครับ ขอให้พิจารณาข้อสำคัญที่ค่า body fat ว่ามีมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ หรือมองดูแล้ว วัดดูแล้วว่าลงพุงไหม หากอยู่ในข่ายของคนที่เล่นเวตซึ่งมีมวลกล้ามเนื้อมาก ต้องยกเว้นการคำนวณด้วยค่า BMI เพราะอาจจะทำให้ค่าออกมาผิดปกติได้  

     “ฉะนั้นในกลุ่มที่เล่นเวตคุณสามารถวัด body fat เบื้องต้นได้จากเครื่อง In body หรือ Body impedance fitness ที่มีตามฟิตเนสเซ็นเตอร์ แต่ถ้าวัด body fat  ได้มากกว่า 32 ในผู้หญิง หรือได้มากกว่า 26 ในผู้ชาย จะเพิ่มความเสี่ยงในเรื่อง Heart diabetic (โรคหัวใจที่เกิดจากเบาหวาน) แต่ในกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ ถือว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพครับ”

 

ภาพประกอบ: Narissara k.

อ้างอิง:

FYI

วิธีการทางเลือกสำหรับรักษาโรคอ้วน

     “Gastric Balloon คือการใส่บอลลูน ที่บรรจุสารน้ำเข้าไปในกระเพาะอาหารเพื่อการควบคุมน้ำหนัก โดยบอลลูนจะเข้าไปลดความจุของกระเพาะอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง และอิ่มนานกว่าเดิม ร่างกายจึงนำไขมันส่วนเกินออกมาใช้เป็นพลังงานแทน ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงในที่สุด ขั้นตอนดังกล่าวนี้ ไร้แผลผ่าตัด เพราะบอลลูนจะถูกใส่เข้าไปในกระเพาะอาหารทางช่องปาก ด้วยเทคนิค การส่องกล้อง ตัวบอลลูนทำจากซิลิโคน ซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหาร ภายในบอลลูน จะบรรจุสารน้ำเอาไว้ประมาณ 400-500 ลูกบาศก์เซนติเมตร เมื่อลดน้ำหนักได้ถึงจุดที่พึงพอใจแล้ว สามารถเอาน้ำที่อยู่ในบอลลูนออกได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะใส่บอลลูนไว้ประมาณ 6-12 เดือน

     “การทำ Gastric Balloon เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 27 ซึ่งลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล การลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้อย่างถูกวิธีภายใต้การดูแลของแพทย์ยังสามารถช่วยชะลอความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่มีผลมาจากความอ้วนได้” นพ. จีรวัส ศิลาสุวรรณ สรุป

     ข้อมูลเพิ่มเติม www.prayathai.com  หรือสายด่วนโรงพยาบาลพญาไท 1772

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X