คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่ไม่ชอบเข็นตัวเองเข้ายิม และรู้สึกว่าช่างเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน ทำไมจะต้องไปยกอะไรก็ไม่รู้หนักๆ เหนื่อยๆ หรือวิ่งบนลู่วิ่งที่มีแค่ลมแอร์ชื้นๆ จากเหงื่อ (ของคนข้างๆ) มากระทบผิว เพราะแท้จริงแล้วใจคุณแอบอยากลอยออกไปรับอากาศบริสุทธิ์ สายลมและแสงแดดข้างนอกใจจะขาด
ความคิดนั้นอาจไม่ผิด มีงานวิจัยที่ค้นพบว่าการเดินวนไปบนลู่วิ่งนั้นช่วยลดความรู้สึกกังวลและให้ผลดีต่อสุขภาพก็จริง แต่ผลลัพธ์จะยิ่งดีขึ้นเป็นทวีคูณหากได้ไปทำกลางแจ้ง แม้จะเป็นแค่การเดินรอบหมู่บ้านก็ตาม
การออกกำลังกายสำหรับหลายคนอาจฟังดูเป็นเรื่องยาก เพราะหากไม่สนุกกับกิจกรรมที่เลือกทำ เราก็จะไม่มีแรงดึงดูดให้ออกไปเสียเหงื่อ หรือล้มเลิกเอาได้ง่ายๆ แต่เมื่อได้เจอกิจกรรมที่ชอบแล้วล่ะก็ คุณอาจไม่อยากผละจากสิ่งนั้นเลยก็ได้
ปัจจุบันนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและนักวิทยาศาสตร์หันมาให้ความสนใจกับการออกกำลังกายที่สั้นแต่มีความเข้มข้นสูง หรือ High-Intensity Interval Training หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘HIIT’ กันมากขึ้น เพราะใช้ระยะเวลาสั้น (และหลอกให้คิดว่าแป๊บเดียวก็เสร็จ) ซึ่งผู้ที่ออกกำลังกายพบว่าได้ผลและทำให้ร่างกายแข็งแรงเป็นอย่างดี แต่ขณะเดียวกันกลับรู้สึกว่าไม่สนุก และนั่นอาจทำให้เริ่มรู้สึกไม่อยากออกกำลังกายได้ในระยะยาว
ความสนุกนั้นสำคัญ
เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมามีงานวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายตีพิมพ์ในวารสารบน PLOS One เว็บไซต์ที่นำเสนอเกี่ยวกับงานวิจัยวิทยาศาสตร์และการแพทย์ โดยงานวิจัยที่ว่านั้นจัดทำโดยมหาวิทยาลัยอินส์บรูค (University of Innsbruck) ในออสเตรียที่ร่วมกับสถาบันอื่นๆ เพื่อพิสูจน์ว่าหรือการออกกำลังกายที่ไม่หนักแต่ใช้เวลานานกว่าแท้จริงแล้วอาจทำให้คนรู้สึกเพลิดเพลินกว่า
การทดสอบ
นักวิจัยทดลองทำการทดสอบกับคนสุขภาพดีที่อาศัยอยู่บริเวณอินส์บรูคทั้งชายและหญิง 40 คน โดยให้ทำแบบสอบถามที่ถามเรื่องภาวะทางอารมณ์ ความวิตกกังวล แล้วจึงขออาสาสมัครให้ทดสอบการออกกำลังกายที่ใช้เวลานาน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือการเดินเขาที่อยู่บริเวณอินส์บรูคโดยมีไกด์นำทาง โดยก่อนจะเริ่มพวกเขาทำการทดสอบอารมณ์อีกรอบ จากนั้นจึงเดินเป็นกลุ่ม 3-4 คน ไปตามแนวเขา ผู้ร่วมทำการทดสอบแต่ละคนจะใส่สายรัดข้อมือจับอัตราการเต้นของหัวใจ โดยเดินไปเรื่อยๆ อย่างไม่รีบเร่ง เพื่อจังหวะการเต้นของหัวใจที่สม่ำเสมอ และสามารถแลกเปลี่ยนบทสนทนากันได้ตามอัธยาศัย
หลังจากเดินไปครึ่งทาง จึงหยุดพักที่กระท่อมเพื่อบอกนักวิจัยว่าการเดินนั้นทำให้รู้สึกเช่นไรบ้าง โดยวัดจากระดับ 1 ถึง 20 และทำอีกครั้งเมื่อเดินลงถึงปลายเขา โดยการเดินนั้นใช้เวลาทั้งหมดราวๆ 3 ชั่วโมง
หลังจากพักไปหลายวัน ผู้ร่วมทดสอบจะทำการวิ่งบนลู่วิ่งในฟิตเนส โดยเครื่องจะถูกตั้งโปรแกรมให้จำลองการเดินเขาก่อนหน้านั้น ทั้งความชันของการเดินขึ้นในครึ่งแรก และจำลองพื้นเรียบในครึ่งหลัง (เนื่องจากเครื่องไม่สามารถเซตให้เป็นทางราบลง) ผู้ร่วมทำการทดสอบแต่ละคนจะวิ่งในลู่วิ่งที่ติดกัน เพื่อให้สามารถพูดคุยกันได้ จบด้วยการทดสอบทางอารมณ์เช่นเดียวกัน
ในวันสุดท้ายทุกคนได้รับเชิญมานั่งรวมกันเป็นเวลา 3 ชั่วโมงในห้องที่มีทั้งคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต นิตยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่ชวนให้รู้สึกผ่อนคลายและอยากพูดคุย แล้วจึงทำการทดสอบอีกรอบ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ประมวลผลระดับอารมณ์
กลางแจ้ง หรือ ในยิม
ผลที่ได้คือการเดินเขากลายเป็นการออกกำลังกายที่ท้าทายที่สุดสำหรับร่างกาย และอัตราการเต้นของหัวใจขึ้นสูงที่สุดเช่นกัน ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าผู้เข้าร่วมทำการทดสอบต่างเห็นพ้องตรงกันโดยรู้สึกว่าการเดินเขานั้น ‘หมู’ กว่าการวิ่งบนลู่เป็นไหนๆ ซึ่งคะแนนทางอารมณ์ของพวกเขาหลังเดินเขาก็แสดงให้เห็นตรงกัน ว่ารู้สึกดีและมีความสุขกว่าการวิ่งบนลู่ในยิม
ขณะเดียวกัน การได้วิ่งในยิมก็ทำให้พวกเขารู้สึกสบายตัว สบายใจ และมีความสุขกว่าที่ต้องนั่งสนทนากับคนอื่น หรือนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลาหลายชั่วโมง
มาร์ติน นีเดอร์ไมเออร์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ผู้นำการวิจัยนี้สรุปว่า “การได้เดินนั้นทำให้รู้สึกเพลินกว่าอยู่เฉยๆ ถึงแม้จะต้องเดินนานกว่าก็ตาม และการเดินกลางแจ้งในบรรยากาศที่เงียบสงบรายล้อมด้วยความสวยงามของภูเขานั้นดีต่ออารมณ์และจิตใจ” เขายังเสริมอีกว่า “คนที่ได้ลองเดินเขาแล้วอาจติดใจอยากเดินเขาต่อๆ ไปอีก”
ผลวิจัยนี้อาจสะท้อนถึงความรู้สึกของคนที่พยายามออกกำลังกายด้วยการเข้ายิมแล้วกลับไม่ชอบ เช่นเดียวกับหลายคนที่ชอบวิ่งในสวนมากกว่าจะสมัครฟิตเนส (คุ้นๆ ไหมล่ะ?) โดยมาร์ตินแนะว่า “หากไม่ชอบเรียกเหงื่อด้วยการออกแบบเข้มข้นในเวลาสั้น บางทีการเดินยาวๆ สม่ำเสมออาจจะน่าดึงดูดกว่า”
การวิจัยนี้อาจจะสรุปเหมารวมสำหรับทุกคนไม่ได้ว่า หากคุณไม่ชอบคลาส HIIT สั้นๆ ที่ฟิตเนส แล้วคุณจะชอบเดินยาวๆ ในสวนแทน เพราะแต่ละคนก็มีความชอบที่แตกต่างกันออกไป จะแอโรบิกในสวน โยคะร้อน ครอสฟิต ต่อยมวย หรือเต้นสะบัดช่อในคลาสซุมบ้า จะสั้นหรือยาว ถ้าทำแล้วรู้สึกสนุก ชวนให้อยากขยับร่างกาย ก็จงทำต่อไปเถิด
Photo: Shutterstock/ Profile
อ้างอิง: