×

ย่ำกรุงเทพฯ ย้อนรอยเหตุการณ์ ‘อภิวัฒน์สยาม 2475’

24.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ความสำคัญของพระที่นั่งอนันตสมาคมกับเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 นอกจากพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศ
  • พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารสีเขียวไข่กาในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารเป็นโบราณสถานแห่งชาติ
  • นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังรวมไปถึงเหตุการณ์ในสมัยอภิวัฒน์ 2475 ด้วย คุณสามารถเห็นพระราชบันทึก พระราชสาส์นต่างๆ ที่พระองค์ตรัสโต้ตอบกับคณะราษฎร บทความที่พระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อต่างประเทศ รวมไปถึงภาพสำคัญต่างๆ ในสภาพสมบูรณ์

     คนไทยทุกคนต่างรู้ดีว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย เป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของสยามประเทศ การอภิวัฒน์ในครั้งนั้นนำพาชาวสยามหลุดจากการปกครองเดิมตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นก้าวแรกของสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนอย่างเราได้สัมผัส ปฏิบัติ ยึดถือ และพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังว่าจะผลิบานเต็มใบทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยสักวันหนึ่ง THE STANDARD อยากพาคุณย้อนอดีตไปรำลึกวันสำคัญนี้ด้วยการชมสถานที่สำคัญย่านเมืองเก่าไปด้วยกัน

 

 

พระบรมรูปทรงม้า ก้าวสำคัญของประวัติศาสตร์

     สถานที่แห่งแรกเพื่อการย้อนรำลึกคงไม่มีที่ไหนเหมาะไปกว่า ‘พระบรมรูปทรงม้า’ ตั้งอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ติดกับสวนอัมพร งานประติมากรรมปูนปั้นฝีมือช่างจากโรงหล่อในประเทศฝรั่งเศส เนื่องในโอกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติ 40 ปี

     ฉันมาถึงที่นี่ช่วง 10 โมงกว่า ฟ้าโปร่ง แสงแดดเริ่มร้อน ลานโล่งกว้างแน่นขนัดไปด้วยรถบัสจากทัวร์จีน ผู้คนนับร้อยเดินกันขวักไขว่ บรรยากาศอาจอนุมานได้ว่าวุ่นวายคล้ายคลึงกับวันนั้น ทว่าเป็นความยุ่งเหยิงกันละคนแบบ ไม่มีพลทหารม้าและทหารราบจากนักเรียนนายร้อยชุมนุม ไม่มีรถหุ้มเกราะ มีแต่รถบัสบรรจุนักท่องเที่ยว บนพื้นหน้าลานเสือป่า ‘หมุดไพร่ฟ้าหน้าใส’ ถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดคณะราษฎร’ หมุดทองเหลืองที่ทำหน้าที่อ้างอิงตำแหน่งพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นำประกาศคณะราษฎรขึ้นมาอ่าน

     “เช้าวันนั้นรู้เรื่องกันที่สนามกอล์ฟ พระยาอิศราฯ (อธิบดีกรมมหาดเล็กหลวง) เป็นคนไปกราบบังคมทูลให้ในหลวงทรงทราบ…ระหว่างนั้นก็ทราบข่าวกระท่อนกระแท่นจากวิทยุ…ต่อมาในหลวงก็ทรงได้รับโทรเลขมีความว่า ทางกรุงเทพฯ ได้ส่งเรือรบมาทูลเชิญเสด็จกลับ…หลังจากนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงเศษ หลวงศุภชลาศัยก็มาถึง (กับเรือรบ) … ในหลวงท่านรับสั่ง ไม่กลับหรอก เรือสุโขทัยพวกนั้นจึงกลับไป ระหว่างนั้นเราก็ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร…เมื่อฉันรู้เรื่องจากในหลวง ฉันก็บอกว่าไม่ไปหรอก ยังไงก็ไม่ไป (ต่างประเทศ) ตายก็ตายอยู่แถวนี้ ท่านรับสั่งว่า ตกลงจะกลับ… ตกลงว่าจะเดินทางกลับโดยรถไฟ” – พระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จากหนังสือ เบื้องแรกประชาธิปไตย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500 รวบรวมและจัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ธันวาคม 2516

“หลังจากนั้นเพียงครู่เดียวก็มีขบวนรถถังและรถเกราะ 6 คัน พร้อมด้วยนักเรียนนายร้อย 1 หมวด

นำโดยพระประศาสน์ฯ และหลวงพิบูลฯ เข้ายึดสถานีตำรวจหน้าวังไว้

และเคลื่อนพลเข้ามาในวังบางขุนพรหม”

 

รัฐสภาแห่งแรก สถานที่ก่อเกิดรัฐธรรมนูญสยามฉบับถาวร

     หลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงตัดสินพระทัยเป็นมหากษัตริย์ไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะทรงไม่อยากให้เกิดเหตุปะทะจนเสียเลือดเนื้อ ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ว่า “… ข้าพเจ้าไม่สามารถนั่งอยู่บนบัลลังก์ที่เปื้อนเลือดได้…”  3 วันหลังจากเหตุการณ์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ และนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งเป็นเอกสารร่างเขียนขึ้นล่วงหน้าโดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎร ฝ่ายพลเรือน พระองค์ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้าย และทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (ฉบับแรก) ให้แก่ราษฎรในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

     พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นท้องพระโรงเดิมของพระราชวังดุสิต สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่แล้วเสร็จในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ออกแบบและตกแต่งโดยสถาปนิกชาวอิตาลีชื่อ มาริโอ ตามานโญ โดยได้แรงบันดาลใจจากมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย และยังเป็นหินอ่อนสีขาวชั้นหนึ่งจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี

 

 

     ความโอ่อ่าของพระที่นั่งชวนให้รู้สึกขนลุกอย่างแปลกประหลาด แต่ยามเมื่อนึกจำลองเหตุการณ์ในวันนั้นว่าเป็นเช่นไรแล้วขนลุกยิ่งกว่า เมื่อนึกตามพระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ว่า เราผ่านพระที่นั่งอนันตสมาคมก็ไม่มีอะไร มาทราบเอาทีหลังว่า บนพระที่นั่งอนันตสมาคม เขาตั้งปืนไว้เต็มหมด เพราะรู้ว่าเราจะมาทางนั้น”

     ความสำคัญของพระที่นั่งอนันตสมาคมกับเหตุการณ์อภิวัฒน์ 2475 นอกจากพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกตามธรรมนูญการปกครองฯ มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย และมีนายปรีดี เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของสภาผู้แทนราษฎร

 

 

ปารุสกวัน สำนักงานชั่วคราวคณะราษฏร

     อีกหัวมุมถนนลานพระบรมรูปทรงม้า ตรงถนนพิษณุโลกตัดกับถนนพระราชดำเนินนอก วังปารุสกวัน ตั้งตระหง่านอวดความงามด้วยสถาปัตยกรรมปูนปั้นแบบยุโรป อาคารสีเหลืองอมส้ม ซึ่งอดีตเคยเป็นวังที่ประทับของจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร จากประเทศรัสเซีย

     หลังเปลี่ยนระบอบการปกครอง วังปารุสกวันถูกเปลี่ยนบทบาทกลายเป็นที่ทำการของคณะราษฎรชั่วคราว ในนามของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ก่อนจะย้ายไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม และที่เป็นพำนักของพระยาพหลพลพยุหเสนาระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีและพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว

     พวกเราเดินสะพายกล้องเดินเลียบกำแพงเข้าไปยังตัววังผ่านประตูของกองบัญชาการตำรวจนครบาล แล้วก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อตัวอาคารปิดซ่อม จะเปิดให้บริการในวันที่ 23 กรกฎาคมที่กำลังจะมาถึง ทำได้เพียงแค่เดินชมรอบนอก และถ่ายรูปไกลๆ เท่านั้น

 

 

มองประวัติศาสตร์ผ่านอัตชีวประวัติ

     ช่วงหัวบ่าย เราตัดสินใจไปเติมพลังกับของกินอร่อยๆ ในย่านเสาชิงช้า ที่มีให้เลือกทั้งข้าวหน้าเป็ด เย็นตาโฟเจ้าดัง ก๋วยเตี๋ยวเรือมีชื่อ และอีกสารพัดเยอะแยะละลานตาจนกินไม่ไหว ก่อนนั่งตุ๊กตุ๊กย้อนกลับไปแถวสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เพื่อไปเยี่ยมชม ‘พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ โดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที

 

 

     อาคารสีเขียวไข่กาในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก มีหอคอยยอดโดมตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแบบกรีก-โรมัน สวยงามน่าดูชมนัก จนกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม

 

 

     ตัวพิพิธภัณฑ์มีทั้งหมด 4 ชั้น ด้านล่างจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ชั้น 2-4 เป็นนิทรรศการถาวรบอกเล่าเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างครบถ้วน ฉันเชื่อว่าที่นี่ให้ข้อมูลเกือบสมบูรณ์ที่สุดแล้วเกี่ยวกับพระองค์ รวมไปถึงเหตุการณ์ในสมัยอภิวัฒน์ 2475 ด้วย คุณสามารถเห็นพระราชบันทึก พระราชสาส์นต่างๆ ที่พระองค์ตรัสโต้ตอบกับคณะราษฎร บทความที่พระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อต่างประเทศ รวมไปถึงภาพสำคัญต่างๆ ในสภาพสมบูรณ์

“…ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป

แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด

โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน”

 

วังริมน้ำของต้นราชสกุลบริพัตร

     ปิดท้ายทริปด้วยวังริมน้ำของต้นราชสกุลบริพัตร ‘วังบางขุนพรหม’ ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระราม 8 ตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย เดิมเป็นวังเก่าที่ออกแบบโดยใช้อิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบบาโรกและโรโกโก โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน ผนังรับน้ำหนัก หลังคาไม้เนื้อแข็งทรงมังซาร์ มุงด้วยกระเบื้องว่าวไล่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ตามกรอบประตูและช่องแสงมีปูนปั้นเส้นนูนประดับ บางส่วนปิดด้วยแผ่นไม้ฉลุลาย ฝ้าเพดานเขียนสีทองเน้นลวดลาย พื้นภายในเป็นพื้นไม้สักปูเข้าลิ้น ความวิจิตรของงานตกแต่งทำให้วังบางขุนพรหมขึ้นชื่อว่าเป็นวังที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

     สมัยการอภิวัฒน์ 2475 ครานั้น เป้าหมายสำคัญของขั้นตอนการอภิวัฒน์คือ การบุกจับกุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร แทนกษัตริย์สยาม

 

 

     ช่วงเวลาเช้าประมาณตีสี่ของวันที่ 24 มิถุนายน พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจ ได้ขอเข้าเฝ้าเพื่อรายงานทางลับว่ามีคณะบุคคลกำลังก่อการอภิวัฒน์ โดยเตรียมเรือกลไฟเล็กมาจอดคอยอยู่ที่ท่าน้ำ ณ ตำหนักน้ำ เพื่อให้สมเด็จฯ เสด็จหนีไปก่อน แต่พระองค์ทรงสวนรับสั่งว่าจะอยู่ที่นี่ ไม่นานวังบางขุนพรหมก็ถูกล้อมรอบด้วยทหาร ดังเนื้อความในหนังสือ บันทึกพระยาทรงสุรเดช เมื่อวันอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ว่า

     “หลังจากนั้นเพียงครู่เดียวก็มีขบวนรถถังและรถเกราะ 6 คัน พร้อมด้วยนักเรียนนายร้อย 1 หมวด นำโดยพระประศาสน์ฯ และหลวงพิบูลฯ เข้ายึดสถานีตำรวจหน้าวังไว้ และเคลื่อนพลเข้ามาในวังบางขุนพรหม”

     และเมื่อจับกุมสมเด็จฯ สำเร็จ ก็เท่ากับว่าคณะราษฎรทำการอภิวัฒน์สำเร็จไปแล้วถึง 75 เปอร์เซ็นต์

 

 

     ไม่ว่าเหตุการณ์ในวันนั้นจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราได้จากการอภิวัฒน์คือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในหนึ่งวันการย้อนรอย ‘อภิวัฒน์สยาม 2475’ ทำให้เห็นและเข้าใจถึงอดีตมากขึ้น

     การอภิวัฒน์ยึดอำนาจนั้นไม่ยาก แต่ยากที่จะทำให้บรรลุผลทางอุดมการณ์ เพราะผลจากการอภิวัฒน์ในครั้งนั้นทำให้เกิดการก่อกบฏอีกหลายครั้ง รวมถึงความขัดแย้งกันเองในหมู่คณะราษฎรด้วย ประชาธิปไตยในนามใช่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยในทางปฏิบัติ ความเป็นประชาธิปไตยจะเกิดผลไปทางใดนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะใช้มันไปในทิศทางใด

     “…ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน” ส่วนหนึ่งของพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477

 

 

Where to Eat

     หากหิวระหว่างการเดินย้อนรอยประวัติศาสตร์ ละแวกตัวเมืองเก่ายังมีของกินอร่อยๆ หลายอย่าง แนะนำให้หาของกินบริเวณ ‘ถนนดินสอ’ ไปจนถึง ‘เสาชิงช้า’ มีทั้งร้านมีชื่ออย่าง ครัวอัปสร บ้านดินสอ มิตรโกหย่วน ไปจนถึงร้านของกินริมทาง อาทิ ก๋วยเตี๋ยวนายอ้วนเย็นตาโฟ เทียนซ้งเป็ดย่าง ราดหน้ายอดผัก (สูตร 40 ปี) เป็นต้น

 

อ้างอิง:

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์. 2548. เบื้องหลังการอภิวัฒน์. สำนักพิมพ์ มิ่งมิตร.
  • นิทรรศการถาวร. พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ.
  • นรนิติ เศรษฐบุตร และชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2527. บันทึกพระยาทรงสุรเดช เมื่อวันอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 2.
  • สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย. 2516. “พระราชบันทึกทรงเล่าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ”. ใน เบื้องแรกประชาธิปไตย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ สมัย พ.ศ. 2475-2500. กรุงเทพฯ: สามคมฯ.
  • www.th.wikipedia.org/wiki/การอภิวัฒน์สยาม_พ.ศ._2475 อ้างใน Stowe, Judith (1991). Siam Becomes Thailand: A Story of Intrigue. United Kingdom: C. Hurst & Co. Publishers.
  • www.th.wikipedia.org/wiki/การอภิวัฒน์สยาม_พ.ศ._2475 อ้างใน Chakrabongse, HRH Chula, Prince of Thailand (1957). Twain Have Met: An Eastern Prince Came West. United Kingdom: G.T. Foulis & Co. Ltd.
FYI
  • วังปารุสกวัน เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 10.00-16.00 น. แต่ช่วงนี้ปิดซ่อมเพื่อปรับปรุง เปิดให้บริการอีกครั้งวันที่ 23 กรกฎาคม 2560
  • พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดให้บริการทุกวันเวลา 9.00-16.00 น. ถ่ายภาพได้ แต่ห้ามใช้แฟลช
  • พิพิธภัณฑ์วังบางขุนพรหม เปิดให้บริการทุกวัน 10.00-16.00 น. วันธรรมดาต้อนรับแขกเป็นคณะ และต้องติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม ประชาชนทั่วไปเข้าได้เฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising