“คุณหมอคะ ดิฉันมีอาการแสบและคันที่ช่องคลอดหลังจากใช้ถุงยางอนามัยค่ะ อย่างนี้เป็นอาการแพ้ถุงยางอนามัยหรือเปล่าคะ”
นี่หมอเจอคนไข้ที่มาบอกเล่าด้วยอาการเช่นนี้ไม่น้อยเลยค่ะ แต่จะเป็นการแพ้ถุงยางอนามัยหรือเปล่า… ก่อนเฉลย หมอขอให้มาทำความรู้จักกับถุงยางอนามัยกันก่อนค่ะ
ถุงยางอนามัย (condom) คืออะไร
คำว่า condom ที่แปลว่า ถุงยางอนามัย ไม่มีใครรู้ว่ารากศัพท์มาจากไหน บ้างว่ามาจากชื่อหมู่บ้าน Condom ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส
บ้างว่ามาจากคำในภาษาละตินคือ condus แปลว่า ช่วยคุ้มครองป้องกัน (preserves) เพราะป้องกันโรคซิฟิลิสได้
บ้างก็ว่ามาจากภาษาเปอร์เซีย kondu แปลว่าภาชนะที่รองรับเมล็ดพืช หรือบ้างก็ว่ามาจากชื่อของคุณหมอ Condom ชาวอังกฤษ ผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2
สรุปแล้วไม่มีหลักฐานยืนยันถึงที่มา แต่เริ่มมีคำนี้ใช้ในพจนานุกรมตั้งแต่ปีค.ศ. 1724 ก็ประมาณสักเกือบ 300 ปีที่ผ่านมา โดยหมายถึงอุปกรณ์ที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เรารู้จัก และยังคงใช้กันจนถึงทุกวันนี้
ชนิดของถุงยางอนามัย
ชนิดของถุงยางสามารถแบ่งออกได้เป็นถุงยางอนามัยชายและถุงยางอนามัยหญิง
ถุงยางอนามัยชายมีกำเนิดตั้งแต่เมื่อหลายพันปีที่แล้ว มีบันทึกการใช้อวัยวะภายในของสัตว์ เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร ฯลฯ ห่อหุ้มปลายอวัยวะเพศชายเพื่อคุมกำเนิดตั้งแต่สมัยอียิปต์ แต่เพิ่งจะมีการผลิตถุงยางอนามัยชายอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ก็เมื่อประมาณ 50-60 ปีที่ผ่านมานี้เอง ส่วนถุงยางอนามัยหญิงเริ่มผลิตจำหน่ายไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นตัวเลือกใช้สำหรับสตรี
ถุงยางอนามัยชายมีหลายแบบ ทั้งกลิ่น สี ขนาด ความหนา-บาง ปลายมีกระเปาะเก็บอสุจิหรือไม่มี ปัจจุบันมีลูกเล่นอีกมากมาย เช่น มีการเรืองแสงเป็นสีต่างๆ มีเสียงดนตรีประกอบจังหวะการเสียดสี มีการบันทึกความเร็วหรือความแรงของการมีเพศสัมพันธ์ บันทึกปริมาณของน้ำอสุจิ เป็นต้น
ส่วนถุงยางอนามัยหญิง ความนิยมใช้มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเมื่อเทียบกับถุงยางอนามัยชาย และส่วนใหญ่มีสีเรียบๆ สีเนื้อ หรือสีใส
หากแบ่งจากวัสดุที่ใช้ผลิต เราสามารถแบ่งถุงยางอนามัยได้ 3 ประเภท
1. ทำจากยางพารา (Rubber, Latex) ถุงยางอนามัยชายที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไป ส่วนใหญ่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ผลิตจากยางพารา ข้อดีคือราคาถูก หาซื้อง่าย นอกจากคุมกำเนิดได้ดีและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย ข้อเสียคือต้องใช้ร่วมกับกับสารหล่อลื่นชนิดน้ำเท่านั้น ห้ามใช้ร่วมกับน้ำมัน เช่น เบบี้ออยล์ โคลด์ครีม โลชัน ปิโตรเลียมเจล น้ำมันพืชทุกชนิด ฯลฯ เพราะจะทำให้เสื่อม ฉีกขาด แต่ประชากรทั่วไป 1-6 เปอร์เซ็นต์แพ้ยางพารา จึงอาจแพ้ถุงยางอนามัยชนิดนี้ด้วย
2. ทำจากเยื่อธรรมชาติ (Natural Membrane) น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ในท้องตลาดคือถุงยางอนามัยชายชนิดนี้ที่ทำจากลำไส้ของแกะ ข้อดีคือใช้กับสารหล่อลื่นทุกชนิดได้โดยไม่เสื่อมคุณภาพ ข้อเสียคือหาซื้อได้ยาก ไม่มีขายทั่วไป อีกทั้งลำไส้สัตว์ยังมีรูพรุนเล็กๆ ที่มองไม่เห็น ซึ่งไวรัสต่างๆ อาจจะผ่านเข้าไปได้ การคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงไม่ได้ผลดีเท่ากับถุงยางอนามัยที่ทำจากยางพารา
3. ทำจากสารสังเคราะห์ (เช่น Polyurethane, Nitrile) พบว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของถุงยางอนามัยชายที่วางขายทั่วไป และส่วนใหญ่ของถุงยางอนามัยหญิงทำจากสารประเภทนี้ ข้อดีคือไม่แพ้ (non-allergenic) ใช้กับสารหล่อลื่นทุกชนิดได้ มีอายุการใช้งานนาน หาซื้อได้ง่าย นอกจากช่วยคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดีคล้ายถุงยางอนามัยที่ทำจากยางพารา ข้อเสียคือเวลาเสียดสีมักมีเสียงดัง
ข้อดีของการใช้ถุงยางอนามัย
1. หากใช้ถูกวิธีจะสามารถคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ถุงยางอนามัยชาย-หญิง ตามทฤษฎีจะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 2 เปอร์เซ็นต์ และ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
2. สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ติดทางน้ำอสุจิได้ดี เช่นหนองในแท้ หนองในเทียม เอชไอวี/เอดส์ ส่วนโรคเริม หูดหงอนไก่ แผลริมอ่อน ซิฟิลิส ซึ่งอาจเกิดแผลหรือตุ่มในที่ถุงยางอนามัยคลุมไปไม่ถึงก็สามารถป้องกันได้ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
3. ถุงยางอนามัยไม่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน จึงไม่ทำให้มีลูกยาก ไม่ว่าชายหรือหญิง
4. สามารถชะลอการหลั่งในชายที่หลั่งเร็วได้
ข้อเสียของการใช้ถุงยางอนามัย
1. สำหรับชายบางคนที่หาขนาดถุงยางอนามัยขนาดพอดีได้ยากอาจทำให้เกิดการแตก เลื่อน หรือหลุดได้ ในขณะที่ถุงยางอนามัยหญิง แม้ไม่ต้องเลือกขนาด แต่ก็มักจะมีโอกาสหลวม เลื่อน หลุด สูงกว่าถุงยางอนามัยชาย
2. ถุงยางอนามัยชายนั้นเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายชาย ในทางปฏิบัติ พบโอกาสตั้งครรภ์จากการใช้ถุงยางอนามัยผิดพลาดสูงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เนื่องจากมักใส่ไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ เช่น ใส่ไม่ต่อเนื่อง นำมาใส่ซ้ำ ใส่นานเกินครึ่งชั่วโมง มีการเล็ดลอดของอสุจิเข้าไปในช่องคลอด ส่วนถุงยางอนามัยหญิง ในทางปฏิบัติก็มีโอกาสตั้งครรภ์สูงถึง 21 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
3. ชายบางคนอวัยวะเพศไม่แข็งตัวเมื่อสวมถุงยางอนามัยชาย หรือเห็นถุงยางอนามัยหญิง
4. บางคนรู้สึกว่าการสวมถุงยางอนามัยชายเป็นการขัดจังหวะ ส่วนถุงยางอนามัยหญิงทำให้หมดอารมณ์
5. คู่นอนบางคู่รู้สึกถูกลดการสัมผัสเมื่อใช้ถุงยางอนามัย
6. มีโอกาสแพ้ถุงยางอนามัย
การแพ้ถุงยางอนามัย
เกิดได้จาก 2 ปัจจัยคือ
1. แพ้สารเคลือบถุงยางอนามัย เช่น สารหล่อลื่นต่างๆ หากแพ้สารเคลือบ การเปลี่ยนยี่ห้อถุงยางอนามัยก็มักจะทำให้อาการแพ้หายไปด้วย
2. แพ้ยางพารา
อาการแพ้ถุงยางอนามัย
มักจะมีอาการคัน เจ็บแสบ เป็นผื่นคล้ายลมพิษ หรือผื่นแดงหนาบริเวณผิวหนังที่สัมผัสถุงยางอนามัย หากเป็นรุนแรง (ซึ่งพบได้น้อยมาก) ในบางคนจะมีอาการหายใจไม่ออก หลอดลมหดเกร็งจนถึงขั้นเป็นลม หน้ามืด หรือชักได้
ภาพประกอบ: Narissara k.
วิธีรับมืออาการแพ้ถุงยางอนามัย
หากสงสัยว่าแพ้ถุงยางอนามัย ถ้าเป็นไม่มาก อาจรับประทานหรือทายาแก้แพ้ แต่หากไม่หายก็ควรพบแพทย์ เพราะส่วนใหญ่ของคนที่มีอาการแสบๆ คันๆ ที่อวัยวะเพศหลังจากใช้ถุงยางอนามัยอาจไม่ใช่อาการแพ้ถุงยางอนามัย แต่คือการติดเชื้อรา เชื้อเริม หรือติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ที่กำเริบ หรืออาการรุนแรงขึ้น หลังจากโดนเสียดสี