×

5 ข้อควรปฏิบัติกับหลากเรื่องพื้นฐานของการทำงานร่วมกันใน Coworking Space

04.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • Coworking Space คือการแชร์พื้นที่ร่วมกันทำงาน นั่นหมายความว่าไม่ใช่พื้นที่ของคนใดคนหนึ่ง หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพราะฉะนั้นแวดล้อมของเสียงควรจะต้องมีความพอดิบพอดี ไม่ดังจนเกินไป
  • คุณควรเปิดเพลง ‘นินจา’ ของพี่ติ๊นาไว้ในใจ ทำตัวเดี๋ยวผลุบ เดี๋ยวโผล่ แบบในเพลง เพราะคุณควรจะเข้ามาและจากไปอย่างไร้ร่องรอย เก็บของทุกอย่างของคุณกลับไปด้วย อย่าทิ้งไว้
  • ถ้าคุณเป็นคนแอนตี้สังคมอยู่หน่อยๆ เราแนะนำว่าการทำงานอยู่ที่บ้านก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เพราะการใช้ Coworking Space นั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่คุณจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือคนต่างทีม ต่างบริษัท

     

     ในยุคที่การทำงานไม่ได้ยึดติดอยู่กับเวลาและสถานที่อีกต่อไป การตอกบัตรและแตะนิ้วเข้างานอาจไม่จำเป็นกับบริษัทบางรูปแบบ กลับกลายเป็นว่าการได้พบเจอกันในสถานที่สาธารณะเป็นครั้งคราวคือทางเลือกใหม่ของบริษัทเล็กๆ Startup ต่างๆ หรือกลุ่มมนุษย์ฟรีแลนซ์ทั้งหลาย

     และนับวันยิ่งเหมือนว่าการทำงาน ประชุม หรือพบปะกันในสถานที่สาธารณะอย่างร้านกาแฟ คาเฟ่ หรือร้านอาหาร จะไม่ตอบโจทย์ของกลุ่มคนเหล่านี้ได้มากเท่าที่ควร การกำเนิดของ Coworking Space จึงเป็นหนทางใหม่ของคนทำงานเหล่านี้ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากในบ้านเรา และเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างสันติสุขกับคนแปลกหน้า THE STANDARD รวบรวมข้อควรและข้อไม่ควรของการทำงานร่วมกันใน Coworking Space มาให้ลองสำรวจพฤติกรรมของตัวคุณเองและผู้ร่วมใช้พื้นที่

 

AIS D.C. แหล่งรวมครีเอเตอร์แห่งใหม่ที่น่าสนใจ

     

     1. เปิดโหมด silent เลี่ยงการใช้เสียง

     ข้อควรทำง่ายๆ ข้อแรกที่ผู้ใช้พื้นที่ทำงานร่วมกันควรจะต้องใส่ใจคือเรื่อง ‘การใช้เสียง’ ต้องเข้าใจก่อนว่าการแชร์พื้นที่ร่วมกันทำงานนั้นหมายความว่าไม่ใช่พื้นที่ของคนใดคนหนึ่ง หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพราะฉะนั้นแวดล้อมของเสียงควรจะต้องมีความพอดิบพอดี ไม่ดังจนเกินไป เลิกคิดถึงการเปิดเพลงไป ทำงานไปได้เลย (แต่ถ้ามีหูฟัง เราก็โอเคนะ)

     แต่ก็ใช่ว่าจะต้องเงียบขนาดเข็มตกก็ได้ยิน เพราะนี่คือ Coworking Space ไม่ใช่ห้องสมุด! ที่สำคัญ เปิดโหมด silent หรือโหมดสั่น หากคุณสะดวก เพราะเสียงแจ้งเตือนต่างๆ คงรบกวนบรรยากาศการทำงานน่าดู และหากคุณจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารเรื่องงานผ่านทางโทรศัพท์ หรือ Video Conference คุณลองสอบถามพนักงานที่ดูแลสถานที่ว่ามีห้องไหน หรือบริเวณไหนที่ใช้เสียงได้ จะได้ไม่รบกวนผู้ใช้บริการท่านอื่น

 

The Crew Collective’ Coworking Space สุดเก๋ในประเทศแคนาดา / Courtesy of The Crew Collective

 

     2. มาถึงและจากไปอย่างไร้ร่องรอย

     ด้วยความที่เป็นพื้นที่ทำงานที่ต้องแชร์และใช้ร่วมกัน คุณไม่สามารถมีโต๊ะประจำที่จะเอาข้าวของส่วนตัวมาวางแสดงความเป็นเจ้าของที่ได้ คุณควรเปิดเพลง ‘นินจา’ ของพี่ติ๊นาไว้ในใจ ทำตัวเดี๋ยวผลุบ เดี๋ยวโผล่ แบบในเพลง เพราะคุณควรจะเข้ามาและจากไปอย่างไร้ร่องรอยราวกับไม่เคยมีใครใช้พื้นที่ตรงนั้น คุณควรเก็บของทุกอย่างของคุณกลับไปด้วย อย่าทิ้งไว้ ซึ่งนั่นรวมไปถึงอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ แก้วน้ำ หรือจานชามที่คุณหยิบยืมมาจากส่วนกลาง นำไปเก็บคืนที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เบางานแม่บ้านไปได้อีกมากโข

 

     3. กลิ่น… คุณคิดว่าไม่สำคัญ

     ฮัมออกมาเป็นเพลงของพิทยา บุณยรัตพันธ์ุ แต่เปลี่ยนจากรอยจูบเป็นกลิ่นกาย เพราะอย่าคิดว่ากลิ่นมันไม่สำคัญ การอยู่ร่วมกับคนจำนวนมากหน้าหลายตา เราเองก็ไม่รู้หรอกว่ากลิ่นโลชั่นและน้ำหอมที่เราประทินกายกันมานั้นถูกจริตกับทุกจมูกหรือเปล่า? เริ่มจากกลิ่นเบาๆ ไปก่อนเพื่อเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมพื้นที่ท่านอื่นๆ

     ส่วนอีกกลิ่นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ‘กลิ่นอาหาร’ หาก Coworking Space บางแห่งไม่มีห้องครัวเป็นสัดส่วน คุณอาจจำเป็นจะต้องรับประทานอาหารที่โต๊ะทำงานของคุณ ซึ่งคุณก็ควรจะระแวดระวังเรื่องกลิ่นอาหารอันไม่พึงประสงค์ด้วย (ติด hashtag #หมูปิ้งของคุณไม่ได้หอมสำหรับทุกคน) หรือหากมีห้องครัวส่วนกลางที่ให้บริการไมโครเวฟ คุณควรถามหาฝาครอบสำหรับการอุ่นอาหาร หรือถ้าคุณต้องการจะนำอาหารแช่ตู้เย็น ต้องมั่นใจก่อนว่าใส่ถุงหรือหีบห่ออย่างมิดชิดแล้ว ถ้าแปะชื่อสักนิดเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของไว้ด้วยจะเลิศมาก

 

‘Ministry of New’ Coworking Space ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย / Courtesy of The Crew Collective

     

     4. อัธยาศัยดี มีไมตรีจิต เพื่อบรรยากาศที่เป็นกันเอง

     ถ้าคุณเป็นคนแอนตี้สังคมอยู่หน่อยๆ เราแนะนำว่าการทำงานอยู่ที่บ้านก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เพราะการใช้ Coworking Space นั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่คุณจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือคนต่างทีม ต่างบริษัท อย่างน้อยๆ ที่สุดก็คือการยิ้มหวานให้กันที่หน้าตู้กดน้ำหรือในห้องครัว นั่นช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณได้พบปะคนใหม่ๆ อาจมองไปถึงการสร้างคอนเน็กชัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในหน้าที่การงาน หรือการแลกเปลี่ยนทัศนคติใหม่ๆ ซึ่งก็น่าจะทำให้บรรยากาศในการทำงานร่วมกันน่าสนุกขึ้น

     หรือถ้าไม่ใช่จริตของคุณที่อยากจะรู้จักคนใหม่ๆ ผู้ร่วมใช้พื้นที่ที่คุณควรจะหยิบยื่นไมตรีจิตที่ดีให้ก็คือเหล่าพนักงานและแม่บ้านผู้คอยดูแลสถานที่ ยิ้มหวานหรือทักทายสักนิดก็น่าจะดี

 

‘Kliquedesk’ Coworking Space โทนสีเหลืองสุดเท่ย่านอโศก / Courtesy of Kliquesdesk

     

     5. รักษาเวลาเพื่อส่วนรวม

     บริการที่ Coworking Space หลายๆ แห่งจะมีไว้ให้คือห้องประชุม สำหรับทีมหรือบริษัทที่ต้องการใช้เพื่อพูดคุยและประชุมวาระต่างๆ ด้วยกัน วิธีใช้ก็แสนง่าย คือไปจองเวลาการใช้ห้องกับพนักงานผู้ดูแล โดยใช้ให้ตรงตามเวลาที่แจ้งไว้ จะได้ไม่เป็นภาระกับกรุ๊ปอื่นๆ ที่เขาต้องการจะใช้เช่นกัน และอีกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรทำคือ หากคุณไม่ต้องการประชุมในวันเวลาที่จองไว้ก็ควรแจ้งยกเลิกด้วย จะได้ไม่ตัดโอกาสของกรุ๊ปอื่นๆ ในการเข้าใช้พื้นที่

 

อ้างอิง:

FYI

จุดกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่า ‘Coworking Space’ เริ่มต้นจากไอเดียของการเปิดพื้นที่ให้บรรดาแฮกเกอร์ (Hacker) มาพบปะและทำงานร่วมกัน ซึ่งจัดตั้งโดย c-base องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งหนึ่งในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นการร่วมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และเครือข่ายออนไลน์ โดยเกิดการรวมตัวกันครั้งแรกในปี 1995 ก่อนที่ไอเดียนี้จะแพร่กระจายไปยังเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกในเวลาต่อมา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising