×

‘นักรบ มูลมานัส’ ความตายของศิลปิน กับสิทธิในการสร้างสรรค์และตีความนิทรรศการ ‘Sacrifice’

22.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • นักรบ มูลมานัส ศิลปินภาพปะติดที่หลายคนชื่นชมในความสวยงามของผลงาน กำลังจัดแสดงผลงานชุด ‘Sacrifice’ ซึ่งนับเป็นงานแสดงเดี่ยวอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกที่ People’s Gallery งานนี้เจ้าตัวตั้งใจสร้างสรรค์ออกมาให้แตกต่างจากงานเก่าๆ ที่เราเคยเห็นกันแบบ 2 มิติทางอินเทอร์เน็ต
  • ตามความเห็นของนักรบ ในแง่หนึ่ง การทำงานศิลปะด้วยภาพปะติดก็เหมือนกับการเสียสละด้วยเหมือนกัน เพราะต้องยอมสละรูปและความหมายเก่าๆ เพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นรูปใหม่ ให้เกิดมุมมองหรือความหมายใหม่

     ใครที่ผ่านไปผ่านมาแถวหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)ในช่วงนี้ อาจจะได้รับชมผลงานชุดใหม่ของศิลปินภาพปะติดขวัญใจมหาชนอย่าง นักรบ มูลมานัส กันไปแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้ชม ขอบอกว่านอกจากความสวยงามที่เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาแล้ว งานภาพปะติดของนักรบยังเอื้อให้เกิดการตีความที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และสังคม ซึ่งในบางครั้งก็นำเสียงตอบรับที่ไม่ใช่ดอกไม้หรือการชื่นชมกลับมาสู่เจ้าของผลงานด้วยเหมือนกัน

 

 

     Sacrifice ถือเป็นนิทรรศการเดี่ยวอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกของนักรบที่รวบรวมเอาผลงานจำนวน 16 ชิ้น ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ โดยงานชุดดังกล่าวมีความแตกต่างจากผลงานชิ้นเก่าๆ ของเขาที่หลายคนเคยเห็นมา

     THE STANDARD ไม่ได้มาบอกว่านิทรรศการนี้มีภาพอะไรให้ชม และมันมีความหมายอะไรซุกซ่อนอยู่ในนั้นบ้าง เพราะไม่อย่างนั้นงานศิลปะคงจะไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน แต่เรานำบทสนทนาบางตอนกับศิลปินหนุ่มผู้นี้มาฝาก

     ซึ่งเราแน่ใจว่าเมื่ออ่านจบ หลายคนน่าจะเข้าใจถึงแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานของนักรบกันมากขึ้น และน่าจะอยากไปเยือนที่ BACC เพื่อจะได้ชมให้เห็นกับตาตัวเองกันสักครั้ง

ในแง่หนึ่งของการทำงานคอลลาจนั้น ก็เหมือนกับการเสียสละด้วยเหมือนกัน เพราะเราต้องเสียสละรูปและความหมายเก่าๆ เพื่อที่จะนำมาสร้างสรรค์เป็นรูปใหม่ให้เกิดมุมมองหรือความหมายใหม่

 

ศิลปินภาพปะติด และอิทธิพลของวรรณคดีไทย

     ผมเรียนจบด้านภาษาไทยมาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จริงๆ แล้วเมื่อมองย้อนกลับไปตอนเด็กๆ เราก็มีความสุขกับการเรียนวิชาศิลปะ แต่เมื่อถึงตอนที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยวัยเพียงเท่านั้น เราอาจจะไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจตัวเองมากพอ ทำให้ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตกลงเราชอบอะไรกันแน่

     ในช่วงเวลาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ผมค้นพบว่า เฮ้ย มันยังมีสิ่งหนึ่งที่เรายังอยากจะทำอยู่ คือเรื่องของการออกแบบและการทำงานศิลปะ ผมก็เลยพยายามไปลงวิชาเลือกเสรีจากคณะที่สอนศิลปะ ซึ่งเราก็ได้วิธีคิดในการทำงานมาจากชั้นเรียนเหล่านั้น แล้วก็นำมาผสมกับสิ่งที่เราเรียนอยู่ในคณะอักษรศาสตร์ เอกวิชาภาษาไทย ซึ่งจะต้องเรียนเกี่ยวกับวรรณคดีไทย จึงผลทำให้ผลงานของผมออกมาเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้  

     เรียกว่าได้รับอิทธิพลจากตรงนั้นมาเป็นส่วนใหญ่ก็ว่าได้ เพราะเมื่อได้เรียนเรื่องพวกนี้แล้ว เราก็ค้นพบว่ามันยังมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจที่ซุกซ่อนอยู่ และยังไม่ได้ถูกหยิบยกมาไว้ในที่แจ้ง

 

 

นิทรรศการเดี่ยว ‘เต็มรูปแบบ’ ครั้งแรก

     ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมเคยจัดแสดงงาน ‘นิรันดร์ – Eternity’ นิทรรศการเฉพาะกิจซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานเก่าๆ ของผมซึ่งเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีการสร้างผลงานชิ้นใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อแสดงในงานดังกล่าวมาครั้งหนึ่งแล้วที่ HUBBA-TO ซึ่งเป็น Co-Creation Space แต่สำหรับการแสดงนิทรรศการชุด Sacrifice ในครั้งนี้นับเป็นนิทรรศการเดี่ยว ‘เต็มรูปแบบ’ ครั้งแรกของผมเลยก็ว่าได้ เพราะจัดแสดงในพื้นที่ซึ่งเป็นหอศิลป์จริงๆ และมีการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

 

ทำไมต้อง Sacrifice

     มันเป็นคำแรกที่เรานึกถึง มีความหมายถึงการเคารพ สักการะ และความเสียสละ ผมคิดว่าการทำงานคอลลาจของเรามันก็เหมือนกับการเสียสละ ซึ่งในแง่หนึ่งคือการที่เราหยิบบางสิ่งหรือเรื่องราวที่มาจากอดีต จากศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่ว่าจะพูดถึงด้วยความศรัทธา ความผูกพัน ความเชื่อ หรือความสวยงามของสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่แปลกนะ เพราะอย่างนักเขียนก็มีการหยิบยกเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาเล่าใหม่แบบนี้เหมือนกัน และเขาก็ให้ความเคารพกับผู้ที่สร้างผลงานชิ้นก่อนหน้าเหมือนเป็นครูบาอาจารย์ สำหรับการสร้างงานของผม มันก็เป็นอะไรแบบนี้มากๆ เพราะเราคงไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานเช่นนี้ออกมาได้เลย หากไม่มีงานของศิลปินชั้นครูเหล่านี้

     และในแง่หนึ่งของการทำงานคอลลาจนั้น มันก็เหมือนกับการเสียสละด้วยเหมือนกัน เพราะเราต้องเสียสละรูปและความหมายเก่าๆ เพื่อที่จะนำมาสร้างสรรค์เป็นรูปใหม่ให้เกิดมุมมองหรือความหมายใหม่ มันก็เลยเหมือนกับว่าเราจะต้องยอมเสียสละอะไรออกไปเพื่อเปลี่ยนมุมมอง งานชุดนี้ก็เลยใช้ชื่อว่า Sacrifice

คนส่วนใหญ่เคยเห็นผลงานของผมแต่ในรูปแบบสองมิติผ่านทางหน้าจอ แต่สำหรับคราวนี้ เมื่อเราได้มีโอกาสจัดแสดงผลงานในหอศิลป์ เราทดลองใช้องค์ประกอบต่างๆ ทั้งเรื่องการจัดแสงและการใช้พื้นที่ เพื่อช่วยดึงศักยภาพของผลงานออกมาให้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นคนเขาก็จะบอกว่าดูงานของเราในอินเทอร์เน็ตเอาก็ได้

 

ไม่ได้เรียนด้านศิลปะจึงต้องทำงานหนัก

     ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องเทคนิคเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยถนัดสักเท่าไร เพราะไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้โดยตรง นั่นก็เลยทำให้ผมต้องทำงานหนักในการที่จะต้องเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ เพราะคนส่วนใหญ่เคยเห็นผลงานของผมแต่ในรูปแบบสองมิติผ่านทางหน้าจอ แต่สำหรับคราวนี้ เมื่อเราได้มีโอกาสจัดแสดงผลงานในหอศิลป์ เราทดลองใช้องค์ประกอบต่างๆ ทั้งเรื่องการจัดแสงและการใช้พื้นที่ เพื่อช่วยดึงศักยภาพของผลงานออกมาให้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นคนเขาก็จะบอกว่าดูงานของเราในอินเทอร์เน็ตเอาก็ได้

     เราก็เลยเลือกใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อที่จะมาช่วยในการเล่าเรื่อง ก็เลยต้องทำงานร่วมกับช่างเทคนิคเยอะเหมือนกัน เพราะผมเลือกที่จะใช้เทคนิคที่หลากหลาย เช่น เราเห็นช่างที่ทำจิตรกรรมฝาผนัง ก็เข้าไปคุยกับเขาว่ามันมีขั้นตอนหรือเทคนิคอย่างไร เมื่อคิดว่าอยากจะนำมาใช้กับงานเราบ้าง ก็เลยลองปิดทองและตัดเส้นเพิ่ม และเราก็ดีใจที่ได้นำเอาเทคนิคเก่าๆ ที่กำลังจะสูญหายมาใช้ทำงานเพื่อให้มันคงอยู่ต่อไป ข้อดีอีกอย่างคือผมเองก็ได้พัฒนาตัวเองทางด้านนี้ด้วย มันทำให้เราได้ทำงานที่แตกต่างจากที่เคยทำมา ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยกความดีความชอบให้พี่ที่เป็นช่างเทคนิคด้วย

 

ศิลปินได้ตายไปแล้ว ต่อไปนี้คือหน้าที่ของผู้ชม

     ผมยินดีมากเวลาที่คนดูงานของเราแล้วมีการตีความ ถามเราว่าภาพนี้ ตรงนี้ แปลว่าอย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหม เราได้ซ่อนสิ่งเหล่านี้เอาไว้ใช่ไหม ซึ่งสารภาพตามตรงว่าบางทีตอนที่ทำงานผมก็ไม่ได้นึกถึงอะไรแบบนั้นหรอกนะ แต่การที่คนดูมีปฏิกิริยาแบบนี้ เมื่อคุณดูรูปนี้แล้วมันก็ทำให้คุณนึกถึงเรื่องนี้ ได้เห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น เราคิดว่ามันศิลปะมันได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้ว เพราะมันทำให้เกิด ‘บทสนทนาเฉพาะ’ ระหว่างชิ้นงานกับผู้ชมแต่ละคน

     เราจะแอบเบื่อนิดหน่อยเวลาที่มีคนถามว่า ‘งานชิ้นนี้หมายถึงอะไร’ มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่มันคือหน้าที่ของคนดูที่จะตอบ คืองานศิลปะมันไม่ได้ดูยากขนาดนั้น คำถามพื้นฐานแรกก็คือ คุณดูแล้วสามารถบอกได้ไหมว่ามันสวยหรือไม่สวย คุณชอบหรือไม่ชอบ คุณมีสิทธิที่จะบอกว่างานของเราสวยหรือไม่สวย และคุณจะไม่ชอบงานเราก็ได้ ถ้าคุณมีเหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร

     จริงๆ แล้วเราอยากจะบอกว่า ‘ศิลปินได้ตายไปแล้ว หลังจากที่เขาสร้างงานเสร็จ’ เป็นหน้าที่ของผู้ชมที่จะดูว่ามันมีความหมายอย่างไร และคุณมองเห็นอะไรในผลงานนั้นบ้าง โดยที่คุณไม่ได้ไปก๊อบปี้ความหมายมาจากคนอื่น

ในฐานะของศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์ มันก็จำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดออกมา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนอื่นจะโอเคไหม แต่เราก็พยายามที่จะประนีประนอมในการสร้างงานของเราเหมือนกันนะ

 

ศิลปะและการตีความ

     ความที่เป็นงานคอลลาจซึ่งเอื้อให้เกิดความหลากหลายในการตีความ ก็เลยมีบางทีเหมือนกันที่บางคนดูรูปของผมบางรูปแล้วก็ตีความว่า นักรบมีความรุนแรง เป็นเสื้อเหลือง เป็นเสื้อแดง หรือภาพนี้มีความอวยเจ้า ซึ่งมันก็มีความแตกต่างหลากหลายมาก แต่เราก็โอเคแล้วก็แฮปปี้มาก เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าศิลปะมันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว มันทำให้คนคิดเห็นและตีความแตกต่างกัน

     แต่เราคิดว่าวิธีการเสพศิลปะอย่างหนึ่งก็คือการตัดคนที่ทำงานนั้นออกไป มันไม่จำเป็นเสียหน่อยว่าคนทำจะต้องมีความคิดแบบนี้ มันก็เป็นความหมายเฉพาะระหว่างคุณกับงานศิลปะโดยที่ไม่เกี่ยวกับคนทำเลยก็ได้ เราก็เลยรู้สึกโอเคกับคนที่ตีความออกมาเป็นอย่างนั้น และคิดว่ามันเป็นสิ่งที่วิเศษมาก เพราะปกติสังคมเราไม่ได้ตีความอะไรมากมายขนาดนั้น และมันก็เกิดอะไรบางอย่างจากการที่คนมองไม่เห็นถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในสิ่งต่างๆ

     ซึ่งจริงแล้วๆ การที่คุณมองเห็นความหมายอะไรที่ซ่อนอยู่ในสิ่งต่างๆ ไปมากกว่าหนึ่งชั้นแรกนี่เราคิดว่ามันเป็นผลดีนะ

 

‘เกณฑ์’ ของใคร

     ถ้าถามว่ามันจะมีเส้นแบ่งอย่างไรจึงจะไม่ก้าวล่วงในการทำงาน เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะว่า ‘เส้นแบ่ง’ คืออะไร ไม่รู้สิ อย่างในงานของเรามันก็เป็นเกณฑ์ของเราคนเดียว ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเกณฑ์ของคนอื่น แต่เราก็ได้กลั่นกรองความคิดของตัวเองมาแล้วพอสมควร แล้วก็รู้สึกว่าตัวเราไม่ได้เป็นคนที่ตะโกนกระโชกโฮกฮาก เราก็เล่าในน้ำเสียงของเราที่อาจจะไม่ได้สุภาพหรือเรียบร้อยนัก แต่เราก็ไม่ได้ก้าวร้าว

     ดังนั้นถ้าจะมีคนดูที่ตีความว่าเป็นการด่าทางอ้อมหรือเปล่า หรือเป็นคำชมที่ไม่จริงหรือเปล่า มันก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าตัวคุณเองทำงานชิ้นนั้นอย่างไร แต่สำหรับเรา เราทำงานนั้นจบไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการเห็นแก่ตัว หรือเป็นการไม่รับผิดชอบต่อสังคมหรือเปล่า จะบอกว่าเส้นแบ่งของงานที่เราทำมันก็คือตัวของเราเอง แต่ในฐานะของศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์ มันก็จำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดออกมา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนอื่นจะโอเคไหม แต่เราก็พยายามที่จะประนีประนอมในการสร้างงานของเราเหมือนกันนะ

 

 

เป็น ‘loyalist’ หรือเปล่า

     เราตอบไม่ถูก เพราะคำว่า loyalist ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่าคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันจะต้องเป็นคนที่เทิดทูนมาก แต่เวลาเราทำงาน บางทีก็ไม่ได้คิดว่าเป็น king หรือ god หากแต่เป็น symbol ในเรื่องต่างๆ

     “แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เราเคารพพระองค์ในฐานะที่เป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น เราไม่ได้มองท่านว่าเป็นพระเจ้าหรือว่าเป็นอะไร การที่เรานำเอาส่วนประกอบโน่นนั่นนี่มาทำให้ท่านดูเป็น God ก็เพราะว่าเราต้องการที่จะล้อไปกับความคิดแบบไทยๆ ประมาณว่า… เมื่อเป็นเจ้าไทยก็ต้องเป็นลายไทยเท่านั้น เราคิดว่ามันน่าสนใจ ก็เลยเอาเทวดาของตะวันตกเข้าไปผสมดู

     อย่างคนดูบางคนเห็นแล้วก็อาจจะคิดว่า เฮ้ย! ทำแบบนี้ก็ได้เหรอ!? แต่เราก็อยากจะนำเสนอมุมมองความคิดที่มันแตกต่างไปจากสิ่งที่เราเคยเห็น

     เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่รู้ว่าเราเป็น loyalist หรือไม่ และเป็นในความหมายของใครบ้าง หรือว่าเราเป็น liberal ซึ่งมันก็แล้วแต่ความหมายของแต่ละคน เราอาจจะเป็น loyalist ในบางวินาที และเราก็อาจจะเป็น liberal ในบางวินาที แล้วเราก็มาคิดอีกว่าเราเป็นทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันได้ไหม

 

ประสบการณ์ใหม่ในวันที่อายุ 27

     มันยังมีอีกหลายเรื่องที่เราจะต้องเรียนรู้และฝึกฝน ตอนนี้ผมอายุ 27 ปีแล้วครับ มันเป็นช่วงที่เราเร่ิมทำงานมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็เริ่มจะรู้แล้วว่าอะไรที่มันเหมาะหรือไม่เหมาะกับเรา และผมก็พยายามที่จะอัพเลเวลตัวเองขึ้นมา เราอยากจะทำอะไรให้ได้มากขึ้นกว่านี้ มันเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานในการลองทำสิ่งต่างๆ เพราะอีกหน่อยถ้าเราอายุเยอะกว่านี้ก็อาจจะทำไม่ได้แล้ว ด้วยเพราะไม่มีเวลาหรือด้วยเหตุผลต่างๆ

 

 

FYI
  • ชม Sacrifice ได้ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 ที่ People’s Gallery ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ถนนพระราม 1 บีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ แกลเลอรีเปิดทำการวันอังคาร-อาทิตย์ ระหว่างเวลา 10.00-21.00 น.  

 

สีดา – Sita

งานไหว้ครูให้กับ Girl with a Pearl Earring  ของโจฮันเนส เวอร์เมียร์

 

The Last Forenoon Meal งานไหว้ครูให้กับ The Last Supper

มาสเตอร์พีซของศิลปินเอกของโลกอย่างลีโอนาร์โด ดา วินชี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X