การกินอาหารที่ไม่ชินลิ้นไปนานๆ อาจทำให้เราโหยหาถึงรสชาติอันคุ้นเคยเพื่อหาที่พึ่งพิงต่อปากและการเยียวยาต่อจิตใจ
ความคิดคล้ายกันนี้ได้จุดประกายเซบาสเตียน มาร์คู (Sebastian Marcu) ชาวเยอรมัน ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร Bake in Space หลังนีล ญาชินสกี (Neil Jaschinski) เพื่อนของเขา ไม่สามารถหาขนมปังอร่อยๆ กินได้ขณะทำงานที่เนเธอร์แลนด์
“ขนมปังถือเป็นเรื่องใหญ่ในเยอรมนี” มาร์คูกล่าว พร้อมเปิดเผยว่าในประเทศของเขามีขนมปังกว่า 3,200 แบบให้กินแทบทุกมุมถนน
มาร์คูระบุว่า “ผมได้ยินจากนักบินอวกาศชาวเยอรมันหลายคนว่าพวกเขาคิดถึงขนมปังมากตอนอยู่นอกโลก”
สำหรับบนโลกแล้ว เศษขนมปังที่หลุดกระเด็นออกมาอาจไม่ได้มีพิษภัยประการใด แต่ภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วง พวกมันอาจกลายเป็นสิ่งที่ก่อภัยพิบัติถึงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการกระเด็นเข้าตา หรือเข้าหลอดลมนักบินอวกาศจนทำให้หายใจไม่ออก ซ้ำยังสามารถลอยเข้าไปตามแผงไฟฟ้าจนทำให้เกิดไฟไหม้ได้
ด้วยความอันตรายจากของไม่มีพิษภัยในโลก ทำให้ปัจจุบันนักบินอวกาศกินตอร์ติญาที่เป็นอาหารสำคัญของชาวเม็กซิกันแทนการกินขนมปังทั่วไป
ซีอีโอ Bake in Space ตั้งเป้าว่าจะทำให้อเล็กซานเดอร์ เกอร์สต์ (Alexander Gerst) นักบินอวกาศชาวเยอรมันที่จะเดินทางกลับไปที่สถานีอวกาศนานาชาติในช่วงพฤษภาคมปีหน้ากลายเป็นคนแรกที่อบขนมปังกินนอกโลก โดยคาดว่าจะทำการทดลองอบขนมปังได้ในช่วงเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การอบขนมปังในอวกาศมีอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานมากกว่าบนโลกถึง 10 เท่าจึงจะอบได้ และการที่เตาอบเปิดไว้อาจทำให้ฟองอากาศร้อนขนาดใหญ่รั่วไหลไปในยานอวกาศจนทำให้นักบินอวกาศได้รับบาดเจ็บ
ชาวเยอรมันรายนี้ให้เหตุผลถึงความพยายามนี้ว่า “ไม่เพียงแค่การทำให้นักบินอวกาศเยอรมันคนหนึ่งดีใจที่ได้กินขนมปังอบเสร็จใหม่ๆ แต่มันมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น”
เขาระบุว่าขนมปังถือเป็นเรื่องที่เข้ามาอยู่ในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นบนจานอาหาร ศาสนา หรือภาษา และย้ำว่ามนุษย์หักขนมปังแบ่งคนแปลกหน้าเพื่อแสดงถึงความกรุณา
“มันจะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพอันยิ่งใหญ่มาก ถ้าเราหักขนมปังแบ่งให้กับมนุษย์ต่างดาว” มาร์คูกล่าว
อ้างอิง: