×

ทำดีเท่าไรก็ไม่พอ ผิดที่เราหรือผิดที่ใคร?

19.08.2023
  • LOADING...

ในโลกของการทำงาน มักจะมีบางครั้งที่ต้องพบเจอกับความอัดอั้นใจกับคำถามที่ว่า “ทำดีเท่าไรก็ไม่พอ เป็นเพราะเราไม่เก่ง หรือผิดที่หัวหน้าเลือกที่รักมักที่ชังกันแน่”

 

ในแต่ละช่วงวัยมนุษย์มีเป้าหมายต่อความสำเร็จที่แตกต่างกัน ในวัยเด็กเราอาจพอใจกับการทำดีเพื่อแลกกับสติกเกอร์หรืออมยิ้ม และมีความสุขไปตลอดวัน ในช่วงวัยรุ่นสิ่งที่จะทำให้ภูมิใจอาจมองไม่เห็นด้วยตาและให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ การถูกชวนไปงานวันเกิด การได้รับความรักจากใครสักคนหนึ่ง การได้รับคำชมว่าเราพยายาม เราเจ๋ง เราเก่ง เราดี แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว 

 

แต่สำหรับผู้ใหญ่วัยทำงาน ความรู้สึกสำเร็จมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน และการได้รับการยอมรับเหมือนเป็นรางวัล ในบางคนอาจจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเงื่อนไขของการใช้ชีวิตมีเพียง ‘เรา’ ‘การลงมือทำ’ และ ‘รางวัล’ หากแต่ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ไม่ง่ายเลย แล้วถ้ารู้สึกว่าตัวเองทำดีเท่าไรก็ไม่พอ จะมีวิธีจัดการและรับมือกับความรู้สึกนี้อย่างไรกันนะ? 

 

 


เราต่างมีบทบาทที่ทับซ้อนซ่อนอยู่ภายใน ‘ความรับผิดชอบ’ 

  • เพราะในขณะที่เรากำลังทำงานตามหน้าที่ เราก็ยังต้องเป็นเพื่อนร่วมงานที่แสนดีของคนที่อาจไม่เอาไหนในสายตาเราเพื่อการเป็นทีมที่ดี 
  • เพราะในขณะที่เรากำลังเหนื่อยหนักจากงานและอยากพักเต็มที เราก็ยังต้องเป็นเสาหลักของบ้านที่ใช้เงินทุกบาทไปกับการดูแลครอบครัวเพื่อประคองใจให้ตัวเองเป็นลูกที่ดี 
  • เพราะในขณะที่เรากำลังตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ แต่อาจยังไม่ดีพอในสายตาของหัวหน้า ซ้ำแล้วซ้ำอีกกระทั่งสับสนว่าเราไม่เหมาะกับงานชิ้นนี้ หรือที่ผ่านมาหัวหน้าอาจมีอะไรที่ไม่ปลื้มใจเราในฐานะสมาชิกร่วมทีม

 

นอกจากการบริหารงานแล้ว ยังต้องบริหารความรู้สึกต่อตนเอง และบริหารความสัมพันธ์ในที่ทำงานอีกด้วย ซึ่งการบริหารความรู้สึกและความสัมพันธ์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีทักษะในการรู้เท่าทัน จัดการความคิด และฝึกฝนทักษะการสื่อสารให้มากขึ้น 

 

ดี เก่ง รัก ล้ำค่ากับความรู้สึก แต่วัดไม่ได้ 

เคยบ้างไหมที่ต้องมีปัญหาคาใจกับคนรอบข้างเพราะมองสิ่งเดียวกันในแบบที่แตกต่างกัน รสชาติของอาหารที่ชอบแตกต่างกัน ลางเนื้อชอบลางยา ขนาดอาหารรสชาติดียังตีความยาก และการทำให้ได้ดีของเรากับของหัวหน้าอาจเป็น ‘ดีที่ต่างกัน’ หากขาดตัวชี้วัดและการสื่อสารที่ชัดเจน หรือแม้กระทั่งความเก่งที่อาจวัดได้ด้วยตัวเลขหรือลำดับ เพราะความเก่งมีความละเอียดอ่อนของทักษะที่หลากหลายในหนึ่งกิจกรรม โดยเฉพาะเรื่องความรู้สึกรักแล้วนั้น ยิ่งชี้ชัดและวัดยาก เพราะความรักเป็นความรู้สึกซึ่งไร้ขอบเขตและการนิยาม หากเราจดจ่ออยู่กับนิยามของความดี ความเก่ง หรือเฝ้ารอที่จะถูกรัก ใจก็อ่อนไหวและไม่เป็นอันทำงาน 

 

 

รูปแบบความคิดชนิดขาว-ดำ (All or None) 

ตัวอย่างเช่น โลกนี้มีแค่ดีกับแย่ มีแค่เก่งกับโง่เขลา มีเพียงถูกรักและไม่ได้รับการยอมรับ มักเป็นรูปแบบความคิดที่ทำให้คนเราเป็นทุกข์ใจ การมองเห็นตามความเป็นจริงว่ามีตรงกลางระหว่างสิ่งต่างๆ และคนส่วนใหญ่ในโลกก็อยู่ในโซนกลางๆ นั้น ไม่ใช่ทั้งดีและแย่ ไม่ใช่ทั้งเก่งและโง่เขลา จะช่วยให้เรายอมรับความแตกต่างได้อย่างลึกซึ้งว่า “คนเราไม่เหมือนกัน” “เขาไม่เหมือนเรา” “เราเองก็แตกต่างจากเขา”

 

 

เมื่อถูกประเมินแล้วได้ผลที่ไม่น่าพอใจ  

ส่งผลให้เกิดอารมณ์ด้านลบ โกรธ กลัว เศร้า อารมณ์เหล่านี้มักเข้าไปรบกวนทำให้ความรู้เท่าทันตนเองเป็นไปได้ยาก และเกิดความคิดอคติได้ง่าย นำไปสู่การกล่าวโทษตนเองอย่างเป็นวงจร “ฉันมันไม่มีอะไรดีเลย” “ฉันไม่เก่งอะไรสักอย่าง” “ถูกแล้วที่ฉันไม่สมควรได้รับคำชม” ยิ่งมีอารมณ์ยิ่งคิด ยิ่งวกวนกับความคิดยิ่งมีอารมณ์ผสมปนเปจนรบกวนประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นการสงบอารมณ์คือสิ่งแรกที่จะช่วยให้ข้ามผ่านประสบการณ์ทุกข์ใจเพื่อไปต่อ

 

 

หลังอารมณ์สงบ และทบทวนความคิดอย่างรู้เท่าทัน 

เราจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริงมากขึ้น สิ่งไหนที่ทำได้ดีก็ให้โอกาสในการชื่นชมตนเอง สิ่งไหนยังไปไม่ถึงหรือมีความผิดพลาดก็นำไปหาทางเพื่อวางแผนในการปรับวิธีการทำงานต่อไป รวมทั้งการรู้เท่าทันว่า ‘ความรู้สึกรักและการได้รับการยอมรับจากหัวหน้าเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้’ หากเอาใจและเวลาทั้งหมดไปจดจ่อกับเรื่องนั้น ความเหนื่อยล้าและทุกข์ใจในแต่ละวันคงไม่ได้มาจากการทำงาน แต่เป็นการเฝ้ารอในสิ่งที่เราไร้อำนาจในการควบคุม

 

 

การสื่อสารคำขอโทษและขอบคุณ 

เพื่อการก้าวผ่านเป็นการขอโทษที่ผลจากการกระทำของเราส่งผลกับเขาหรือองค์กรแม้อาจไม่ได้ตั้งใจ และไม่ได้ผิดพลาดเป็นเรื่องใหญ่ แต่การกล่าวขอโทษเป็นการสื่อสารเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งการขอบคุณข้อมูลจากการประเมินข้อดีและข้อผิดพลาดของเรา เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการทำงานครั้งต่อไป


และไม่ลืมที่จะชื่นชมตนเองที่สามารถรู้เท่าทัน จัดการอารมณ์ คิดได้ตามความเป็นจริง สื่อสารเพื่อรับผิดชอบ และลงมือแก้ไขในสิ่งที่อาจผิดพลาด เพราะกระบวนการเหล่านี้มีความหมายทั้งกับการเติบโตในงานและการเติบโตของหัวใจ

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising