×

GUIDE: Traditional Chinese Medicine รู้จัก 7 ศาสตร์การแพทย์แผนจีน

06.03.2023
  • LOADING...
Traditional Chinese Medicine

การแพทย์แผนจีน (Traditional Chinese Medicine) เป็นศาสตร์การรักษาแบบองค์รวมที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน เมื่อกว่า 2,500 ปีที่แล้ว เป็นระบบการแพทย์เฉพาะที่ใช้รักษาโรคที่มาจากประเทศจีนและแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ของโลก ศาสตร์แพทย์แผนจีนนั้นมีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่าร่างกายมนุษย์มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และมีความสมดุลที่กลมกลืนของหยินและหยาง รวมถึงการไหลเวียนของพลังงานชี่ ที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี LIFE จะพาทุกคนไปรู้จักกับ 7 ศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน อันประกอบด้วย การฝังเข็ม, การครอบแก้ว, การแปะเมล็ดผักกาดที่ใบหู, กัวซา, การรมยาสมุนไพร, การประคบร้อน และการรักษาด้วยยาจีน 

 

 

  1. การฝังเข็ม (Acupuncture)

หนึ่งในการรักษาของศาสตร์แพทย์แผนจีนที่คนไทยคุ้นเคยกันดี โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะใช้เข็มขนาดเล็กที่ใช้สำหรับการฝังเข็มโดยเฉพาะ ฝังลงไปตามจุดต่างๆ ของร่างกายตามเส้นลมปราณ (Meridian Line) จะช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกาย เส้นเลือดมีการไหลเวียนดี ซึ่งวิธีนี้แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็มีการรับรองการรักษาด้วยการฝังเข็มในกลุ่มอาการปวดและโรคที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อ เช่น ออฟฟิศซินโดรม คนที่มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง ปวดเข่า หรือปวดไมเกรน นอกจากนี้ยังพบว่าการฝังเข็มสามารถรักษาอาการอื่นๆ ได้อีก เช่น อาการนอนไม่หลับ ประจำเดือนมาไม่ปกติ โรคภูมิแพ้ ไซนัส ไมเกรน หรือแม้แต่ด้านความงามหรือการชะลอวัยก็มีการใช้วิธีฝังเข็มเพื่อทำให้ผิวหน้ากระจ่างใสด้วย  

 

  1. การครอบแก้ว (Cupping) 

เป็นการรักษาแบบแพทย์แผนจีนที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กับการฝังเข็ม โดยมีการนำถ้วยแก้วสำหรับครอบแก้วมาผ่านความร้อนจากเปลวไฟจนเกิดเป็นสุญญากาศภายในแก้ว แล้วนำถ้วยแก้วนั้นมาวางติดบนผิวหนัง แก้วจะทำการดูดผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณนั้นขึ้นมาจนนูน ซึ่งจะไปกระตุ้นเส้นเลือดฝอยบริเวณใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้เส้นเลือดไหลเวียนดีขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้คือกล้ามเนื้อที่เคยปวดตึง ผ่อนคลายบรรเทาลง ที่ได้ผลดีคือการใช้รักษาโรคในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม โดยมากวิธีการครอบแก้วจะทิ้งรอยช้ำของแรงดูดจากแก้วเอาไว้บนร่างกาย แต่ร่องรอยจะหายไปได้เองราวๆ 1-2 สัปดาห์   

 

 

  1. การแปะเมล็ดผักกาดที่หู (Ear Seed)

วิธีนี้มักจะได้ยินกันว่าเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่ต้องการจะควบคุมน้ำหนัก เพราะนิยมไปฝังเมล็ดผักกาดที่ใบหู เพื่อช่วยลดความอยากอาหาร แต่ไม่ใช่แค่นี้ เพราะประโยชน์ของศาสตร์นี้ยังช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับ บรรเทาอาการปวดตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ผู้หญิงที่ปวดประจำเดือนก็สามารถบรรเทาปวดด้วยการฝังเมล็ดผักกาดได้เช่นกัน วิธีการจะเริ่มต้นใช้เมล็ดผักกาดจีนหรือที่เรียกว่า Wang Bu Liu Xing กดแปะลงบนจุดต่างๆ บริเวณใบหู ซึ่งตามตำราบอกว่าบริเวณนี้มีจุดลมปราณที่เป็นตัวแทนของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมากกว่า 30 จุด การแปะเมล็ดผักกาดลงไปในส่วนนี้จึงช่วยปรับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพนั่นเอง โดยปกติหลังจากปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว จะแปะเมล็ดผักกาดข้างละประมาณ 4-6 เม็ด โดยสามารถแปะทิ้งไว้นาน 5-7 วัน (สติกเกอร์กันน้ำได้ จึงอาบน้ำได้ตามปกติ)  

 

 

  1. กัวซา (Guasa) 

กัวซาเป็นศาสตร์การบำบัดที่เผยแพร่มาจากการแพทย์แผนจีนโบราณ จุดประสงค์ในการใช้กัวซาในยุคแรกๆ นิยมใช้เพื่อการรักษาปัญหาสุขภาพ เพราะใช้แล้วเห็นผลดี และมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ การบำบัดกัวซาเป็นการผสมผสานระหว่างทฤษฎีเส้นลมปราณและระบบประสาทของร่างกายที่เชื่อมต่อกับส่วนต่างๆ ของร่างกายเข้าด้วยกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการปรับประยุกต์ในการใช้กัวซาที่ตอบโจทย์หลากหลายมากยิ่งขึ้น ใช้ได้กับทั้งร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้า แผ่นหลัง แขน ขา คอ ซึ่งนอกจากการใช้บำบัดรักษาสุขภาพ ขูดขับสารพิษออกจากร่างกายได้แล้ว กัวซายังได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบันหลายฉบับแล้วว่าสามารถช่วยเสริมความงามให้ผิวแลดูอ่อนเยาว์ได้ด้วย เราจึงมักเห็นรีวิวกัวซาอยู่บ่อยๆ ว่าช่วยลดเหนียง กระชับผิวหน้า และช่วยสร้างใบหน้าที่แลดูเรียวสวยอย่างได้ผล บางคนใช้กัวซานวดผิวหน้าเป็นประจำยังได้ผลลัพธ์ผิวหน้าเนียนใสด้วย 

 

 

  1. การรมยาสมุนไพร (Herbal Moxibustion) 

การรมยา คือการใช้ความร้อนของการเผาไหม้แท่งสมุนไพรจีน หรือที่เรียกว่า อ้ายเย่ โดยมากจะใช้รักษาในกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากหยินหยางไม่สมดุล เช่น คนที่มีอาการปวดข้อ ตามข้อพับ หัวเข่า คนที่ปวดประจำเดือน เป็นภูมิแพ้ หรือลมพิษ สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะจุดยาสมุนไพรจีนที่เป็นแท่งรมยา แล้วรมไปตามจุดต่างๆ ตามร่างกาย ระหว่างที่รับการรมยา กลิ่นของรมยาสมุนไพรจีนจะกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และปรับหยินหยางให้สมดุลกัน   

  1. การประคบร้อน (Tuina Chinese Herb Bag)

เป็นการบำบัดแบบแพทย์แผนจีนที่ใช้สมุนไพรอุ่นเพื่อบรรเทาอาการปวด โดยในลูกประคบจะประกอบด้วยส่วนผสมของสมุนไพร และส่วนผสมจากธรรมชาติอื่นๆ เช่น เมล็ด ราก และดอกไม้ต่างๆ ซึ่งตามความเชื่อทางแพทย์แผนจีนเชื่อว่ามีผลในการรักษาความเจ็บปวดของร่างกาย โดยในระหว่างการรักษาด้วยลูกประคบจะเน้นไปยังบริเวณเฉพาะจุดของร่างกายที่มีอาการปวด เช่น หลัง คอ หรือข้อต่อ โดยความร้อนจากลูกประคบที่บรรจุสมุนไพรมากมายจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ มักจะใช้ร่วมกับการรักษาแบบแพทย์แผนจีนอื่นๆ เช่น การฝังเข็มและการนวด เพื่อเพิ่มผลการรักษา 

 

  1. การรักษาด้วยยาจีน (Herbal Remedies)

การรักษาโรคด้วยยาสมุนไพร เป็นหนึ่งในศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่มีมานานหลายพันปีตั้งแต่ยุคโบราณ ซึ่งยาจีนที่นำมาใช้ในการรักษาโรคนั้นมีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของชา ทิงเจอร์ สารสกัด ยาแคปซูล และยาทาผิวหนัง โดยยาจีนมีการปรุงจากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ลำต้น ราก ดอก และเมล็ด และได้รับการคัดเลือกตามคุณสมบัติทางยาเฉพาะ การรักษาด้วยสมุนไพรมักใช้รักษาอาการต่างๆ ได้หลากหลาย รวมถึงปัญหาการย่อยอาหาร อาการปวดหัว สภาพผิวพรรณ ปัญหาระบบทางเดินหายใจ และความเครียด นอกจากนี้ยังนิยมยาจีนเพื่อบำรุงสุขภาพให้แข็งแรง แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาด้วยสมุนไพรอาจมีผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนที่มีใบอนุญาตหรือนักสมุนไพรที่ได้รับการรับรองที่น่าเชื่อถือ พวกเขาสามารถช่วยกำหนดปริมาณที่เหมาะสมและมั่นใจได้ว่าการรักษานั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับความต้องการด้านสุขภาพเฉพาะของแต่ละคน

 

ภาพ: Shutterstock

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X