×

พักสายตาอย่างถูกวิธี ป้องกันอาการ Computer Vision Syndrome

27.06.2024
  • LOADING...
Computer Vision Syndrome

สิ่งหนึ่งที่วัยทำงานโดยเฉพาะชาวออฟฟิศต้องเผชิญกันแทบทุกคน นั่นคือ ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ซึ่งหลายๆ คนเข้าใจผิดว่าชื่อนี้หมายถึงภาวะปวดคอ บ่า ไหล่ และหลัง เท่านั้น ความจริงแล้วหากแปลตามคำศัพท์ คำว่า ‘ซินโดรม’ หมายความว่า ‘กลุ่มอาการ’ ซึ่งทำให้คำว่าออฟฟิศซินโดรมนั้นหมายความถึงหลายๆ อาการจากการทำงานออฟฟิศ ทั้งนี้งานออฟฟิศก็คือการทำงานที่นั่งโต๊ะเป็นเวลานานเพื่อเขียนหรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน พอปรับให้เข้ากับยุคสมัยนี้อาจรวมไปถึงการทำงานผ่านหน้าจออื่นๆ เช่น แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ

 

หนึ่งในอาการที่พบได้ในออฟฟิศซินโดรมก็คืออาการทางตา ไม่ว่าจะเป็นตามองไม่ชัด ตาพร่ามัว ปวดตา เป็นต้น จึงมีการพูดถึงอาการทางตาที่เกิดจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ว่า ‘Computer Vision Syndrome’ ซึ่งสามารถพบได้มากพอๆ กับอาการปวด คอ บ่า ไหล่ และหลัง แต่อาจไม่ได้รับการประเมินรักษามากนัก

 

Computer Vision Syndrome คืออะไร

 

กลุ่มอาการทางตาของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โดยที่เกี่ยวข้องกับการ ‘มองใกล้’ หน้าจอมากเกินปกติ เราพบ CVS มากขึ้นในช่วงหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ที่การทำงานถูกปรับให้มีการใช้งานเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยที่อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และยังพบได้บ่อยในคนที่มีปัญหาด้านสายตา และต้องใช้อุปกรณ์ช่วย หรือใส่แว่นตากับคอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย ทั้งนี้ CVS เป็นกลุ่มอาการที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายของดวงตาแบบถาวร อาการจะเป็นๆ หายๆ ได้ แต่ก็มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของชาวออฟฟิศได้เป็นอย่างมาก

 

อาการของ Computer Vision Syndrome

 

  1. ปวดตา
  2. ตาแดง
  3. ตาแห้ง
  4. น้ำตาไหล
  5. คันตา
  6. หนังตาหนัก ต้องฝืนลืมตา
  7. รู้สึกเหมือนการมองเห็นแย่ลง
  8. รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา
  9. เห็นภาพซ้อน ภาพไม่คมชัด หรือภาพเบลอ
  10. มีอาการไม่สดชื่น ปวดคอ บ่า ไหล่ และหลัง ร่วมด้วย

 

พบว่าหากมีกลุ่มอาการ CVS จะมีมากกว่า 1 อาการจากข้างต้นมากกว่าที่จะพบเพียงอาการเดียวโดดๆ และมักจะดีขึ้นเมื่อได้พักสายตา หรือเพียงแค่นอนหลับสักตื่นก็เพียงพอ

 

การรักษาและการป้องกัน

 

เราสามารถจัดการกับอาการ และหายจาก CVS ได้ด้วยตนเอง โดยลดเวลาใช้งานหน้าจอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ แต่หากไม่สามารถทำได้ ให้ลองปรับพฤติกรรมการใช้หน้าจอ ดังนี้

 

  1. พักสายตาจากการจ้องหน้าจอทุก 20-30 นาที เป็นประจำ โดยไปทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป หรือหากไม่สามารถลุกจากโต๊ะทำงานได้ ให้ลองปรับการใช้สายตา จากเดิมที่มองใกล้เพียงอย่างเดียว ให้มองไกล ปรับโฟกัสการมองไปที่จุดอื่นๆ หรือกลอกตาเคลื่อนไหวเพื่อให้ตาผ่อนคลายได้มากขึ้น โดยทำร่วมกับการยืดเส้นยืดสาย ขยับกล้ามเนื้อคอ บ่า และไหล่ ไปพร้อมๆ กัน

 

  1. ใช้งานหน้าจอในที่ที่มีแสงสว่างที่เหมาะสม ไม่มืดหรือสว่างจนเกินไป

 

  1. จัดให้ระยะห่างระหว่างตากับหน้าจออยู่ที่ 20-26 นิ้ว

 

  1. ลดความจ้าของหน้าจอ หรือปรับแสงและสีให้ไม่จ้าเกินไปจนทำให้แสบตา รวมถึงปรับความคมชัดและขนาดของเส้นอักษรหรือรูปภาพในหน้าจอไม่ให้เบลอจนทำให้ต้องเพ่งไปที่หน้าจอมากขึ้น

 

  1. อาจใช้ฟิล์มหรือกระจกกรองแสงหน้าจอ หรือแว่นตากรองแสง ให้แสงสีฟ้ามีความจ้าลดลง

 

  1. จัดโต๊ะทำงานตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) ทั้งโต๊ะและเก้าอี้ โดยเฉพาะให้ศีรษะไม่ต้องก้มมองหน้าจอมากเกินไป แนะนำจัดให้กึ่งกลางของหน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตา 4-8 นิ้ว และหากมีหลายหน้าจอ หรือมีเอกสารอื่นๆ ที่ทำให้ต้องปรับโฟกัสการมองเปลี่ยนไปมา แนะนำให้หาที่ตั้งสิ่งเหล่านี้อยู่ใกล้และระดับเดียวกับหน้าจอให้มากที่สุด

 

  1. ปรับสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้ไม่มีฝุ่น ลมจ่อหน้า หรือแสงสะท้อนจากกระจกมาที่ลานสายตา ขณะใช้งานหน้าจอ เพื่อลดอาการเคืองตาจากสาเหตุอื่น

 

  1. หากมีปัญหาเรื่องค่าสายตาอยู่เดิม ก็ควรได้รับการตรวจวัดสายตาเป็นประจำ และใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับสายตาเสมอ

 

ทั้งนี้ CVS นั้นเป็นกลุ่มอาการที่สามารถดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องปรึกษาแพทย์ และไม่ก่อให้เกิดการเสียหายถาวรของดวงตา แต่หากมีอาการมาก หรือไม่ดีขึ้นหลังจากปรับพฤติกรรมดังกล่าว ก็ควรไปปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อประเมินว่ามีโรคอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายกับดวงตาในระยะยาว เพื่อการรักษาที่เหมาะสม 

 

สรุปแล้ว CVS เป็นกลุ่มอาการที่พบในคนที่ทำงานหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นอันตรายถาวรต่อดวงตา แต่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง โดยที่เราสามารถป้องกันกลุ่มอาการ CVS ได้ด้วยตนเอง แต่หากเริ่มมีอาการแล้ว และเริ่มจัดการปรับพฤติกรรมด้วยตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising