เรามักได้ยินเสียงบ่นจากคนรอบข้าง จากสื่อ หรือช่องทางโซเชียลอยู่เสมอเกี่ยวกับปัญหาสารพัดอย่างที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในประเทศไทย มีตั้งแต่มืออยู่ไม่สุขขีดเขียนชื่อตามที่ต่างๆ ทิ้งขยะไม่ลงถัง ไม่รักษาความสะอาด และหลากกิริยามารยาทชวนปวดเศียรจนต้องหยิบยาดมมาจรดจมูกแทบไม่ทัน ในบรรดาชาติทั้งหมด ดูเหมือนนักท่องเที่ยวจีนจะถูกกาหัวจากหลายประเทศว่าเป็นนักท่องเที่ยวไร้คุณภาพ มีข่าวออกสื่อทุกวันเกี่ยวกับวีรกรรมอันน่าจดจำ
ไม่ใช่แค่ชาวจีนหรอกนะที่สร้างปัญหาให้แก่แหล่งท่องเที่ยว ชาวเกาหลีใต้ ชาว AEC และชาวยุโรปบางชาติก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน แต่จากที่นักเขียนประสบมากับตัวในหลายประเทศ อยากจะบอกว่า “อย่าไปว่าเขาเลยค่ะ เพราะนักท่องเที่ยวไทยก็เป็นหนึ่งในใต้หล้าเช่นกัน”
แล้วเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรให้เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ?
ไม่ต้องเสียงดังก็สนุกได้
คนไทยเป็นชาติที่ ‘เสียงดังฟังชัด’ ชัดมากเวลาออกนอกบ้าน ชัดแบบโหวกเหวกโวยวาย ได้ยินล่วงหน้าไปอีกหลายบล็อกถนน โนสนโนแคร์ใดๆ ทั้งสิ้น แถมยังมั่นใจด้วยนะว่าตัวเองประพฤติปฏิบัติถูกแล้ว เรื่องแปลกแต่จริงสำหรับนักท่องเที่ยวไทยคือ ‘เมื่อรวมหมู่เราโวยวาย เมื่อแยกทางเราสงบเสงี่ยม’ ไม่ต้องไปหาตัวอย่างไกลจากไหน เอาแค่เพื่อนร่วมอาชีพก็มีให้เห็นจนชินตา
ในทางกลับกันลองจับคนไทยที่มาเป็นหมู่คณะแยกกัน ความกร่าง ความมั่นใจเหลือประมาณเมื่อสักครู่ก็จะหายในบัดดล พวกเขาจะเงียบ เรียบร้อย รู้จักมารยาทขึ้นมาเสียอย่างนั้น ทฤษฎีนี้พบเห็นได้ในทุกนักท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ ประเด็นคือไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวเท่านั้นนะที่เป็น แม้แต่ไกด์ก็พลอยเป็นไปกับเขาด้วย แทนที่จะช่วยห้ามกัน สนับสนุนกันเสียอย่างนั้น
เอ่ยมาถึงตรงนี้ ฉันไม่ห้ามคุณบันเทิงหรือสรวลเสเฮฮาระหว่างทริปพักผ่อน แต่อยากให้คำนึงถึงมารยาทในที่สาธารณะ เราไม่ได้อยู่ในโลกเพียงกลุ่มเดียว ยิ่งเป็นชนชาติที่คิดถึงส่วนรวมอย่างญี่ปุ่นยิ่งต้องระวังใหญ่ คุยสนุกเสียงดังได้ในที่ที่ควร ดูบริบทรอบข้างด้วย เขาจะได้ไม่ด่าพ่อว่าแม่เราเหมือนที่เราเคยบ่นคนจีน
กฎมีไว้ปฏิบัติมิใช่มีไว้แหก
เราชอบด่าทัวร์จีนว่าเขาไม่ค่อยเคารพกฎ ไม่ว่าจะเรื่องการทิ้งขยะ การปีนป่ายข้ามรั้วเข้าไปในเขตหวงห้าม หรือหยิบจับทำลายทรัพย์สินทางธรรมชาติและวัฒนธรรม แต่ขอโทษเถอะค่ะ พี่ไทยเราในเรื่องนี้ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน
เมื่อหลายปีก่อนผู้เขียนเคยไปทำคอลัมน์ท่องเที่ยวที่สวิตเซอร์แลนด์ จุดหมายปลายทางในฝันของคนไทยมากกว่าครึ่งประเทศ ระหว่างอยู่บนยอดเขาจุงเฟรา ฉันไปเจอคนไทยคู่หนึ่งกำลังแหกกฎ คุณสุภาพสตรีปีนข้ามเชือกกั้นออกไปนั่งบนก้อนหินริมผา ซึ่งอยู่สูงจากพื้นเป็นพันเมตร ท่ามกลางหิมะกองหนาที่พร้อมจะทลายได้ทุกเมื่อ จุดประสงค์เพื่อโพสท่าสวยๆ ให้คุณผู้ชายถ่ายรูปอัปลงโซเชียล นี่คือพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง! เจ้าหน้าที่กั้นเชือกไม่ให้ออกเพราะกลัวอันตราย แต่เพราะอยากได้ภาพสวยอวดชีวิตดีลงโซเชียล ถึงขนาดฝ่าฝืนกฎ เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งยืนอยู่ข้างกันถึงขนาดหันมาพูดกับดิฉันว่า “แบบนี้ไม่ดีเลยนะ” ความรู้สึกในตอนนั้นคือแย่มาก ช่วยเอาดิฉันไปเก็บที
ไม่ใช่แค่สวิตเซอร์แลนด์ แต่ข่าวเรื่องการฝืนกฎของคนไทยมีให้เห็นหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีลักขโมยภาพจากโรงแรมในญี่ปุ่นเพราะอยากได้ แล้วอ้างว่า ‘ติดมา’ หยิบขนมมากินก่อนจ่ายเงิน หรือขับรถผิดกฎจราจรจนก่อให้เกิดเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต กรณีหลังในต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ฉะนั้นหากคุณอยากเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ จงศึกษากฎข้อบังคับต่างๆ และอย่าฝ่าฝืน เราไม่ได้หมายความว่าคุณต้องรู้กฎหมายทุกข้อของสถานที่ที่ไป แต่ควรศึกษาข้อพึงปฏิบัติของสถานที่ต่างๆ และกระทำตามอย่างเคร่งครัด เช่น ถ้าเขาไม่อนุญาตให้จับภาพงานศิลปะก็อย่าเอามือไปจับ ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพก็อย่าดื้อรั้น ห้ามว่ายน้ำทะเลในช่วงธงแดงก็อย่าคิดว่าตัวเองแน่ว่ายน้ำแข็งแล้วลงเล่นได้ กฎพวกนี้มีไว้เพื่อความปลอดภัยและความสงบ ปฏิบัติตามเถิดอย่างไรก็วิน-วินทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว
เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม
ทุกประเทศไม่ว่าที่ไหนในโลกล้วนมีธรรมเนียมการใช้ชีวิตบางอย่างที่ไม่มีระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทุกคนรู้และให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม ซึ่งข้อมูลพวกนี้รับรู้ได้จากการสังเกตและมองคนรอบตัวสักนิดว่าเขาปฏิบัติอย่างไรกัน ดิฉันเรียกการปฏิบัติพวกนี้ว่า ‘กฎสังคม’ ยกตัวอย่างเช่น การยืนบนบันไดเลื่อนของคนญี่ปุ่นที่ต้องชิดซ้ายถ้าอยู่โตเกียว และชิดขวาหากอยู่โอซาก้า การกินเสร็จแล้วเก็บทิ้งเองในร้านฟาสต์ฟู้ด
คนไทยเป็นชาติที่กฎสังคมต่ำ เราพยายามตั้งกฎสังคมขึ้นมาหลายครั้งแล้ว สุดท้ายก็ล้มเหลวด้วยคำว่า ‘หยวนๆ นะ’ และท้ายที่สุด เราก็เลือกแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแทนต้นเหตุ เช่น ในเมื่อกินเสร็จแล้วไม่เก็บทิ้งก็จ้างพนักงานมาเก็บซะ รถเข็นในซูเปอร์มาร์เก็ตใช้เสร็จตรงไหนก็ทิ้งไว้ตรงนั้นเดี๋ยวพนักงานเดินมาเก็บเอง บางรายใช้ซะคุ้ม เข็นไปถึงบ้านเลยก็มี (กลายเป็นของส่วนตัวไปอีก)
ความมักง่ายที่เราคุ้นชินกลายเป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกันกับชนชาติอื่น โดยเฉพาะเวลาเดินทาง สุภาษิตที่ว่า ‘เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม’ ยังใช้ได้เสมอ แค่เราหัดสังเกตคนรอบข้างสักนิดว่าเขาปฏิบัติตัวเช่นไรกัน แล้วปฏิบัติตามข้อตกลงของสังคมเขา แค่นี้คุณก็กลายเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่เป็นภาระของลูกหลาน ไม่เป็นภาระของสังคม
โลกไม่ได้หมุนรอบตัวคุณ เพราะคุณไม่ใช่ดวงอาทิตย์
ความกร่างนี้ท่านได้แต่ใดมา สำหรับบางคนในเมืองไทยคุณเป็น Someone ที่มีคนดูแลประเคนความสะดวกสบายตั้งแต่ลืมตาตื่น แต่พอไปต่างประเทศคุณกลับกลายเป็น No One ที่ไม่มีคนรู้จัก จริงๆ ไม่ใช่แค่พวกตำแหน่งใหญ่โตหรือบุคคลร่ำรวยเท่านั้นหรอกที่พยายามมีอภิสิทธิ์ชนเหนือคนอื่น แต่นักท่องเที่ยวธรรมดาอย่างเราๆ บางคนก็เป็นด้วย ฉันเป็นลูกค้าคุณนะ คุณต้องดูแลฉันสิ ตัวอย่างกรณีนี้ง่ายๆ ที่เห็นกันดาษดื่นคือเคสผู้โดยสารต่อว่าแอร์โฮสเตสหรือพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินว่าไม่ยอมยกกระเป๋าเก็บในช่องเก็บของให้ โพสต์ลงโซเชียลอย่างมั่นใจ สุดท้ายก็ถูกกระแสสังคมสวนกลับ ขอโทษทีเถอะค่ะ มันไม่ใช่หน้าที่ของเขา
นอกจากการ์ดกร่าง บางคนก็ใช้การ์ดหยวนๆ ใช้ความมีอายุเป็นข้ออ้างในการทำหลายสิ่งอย่าง เช่น ขอป้าลัดคิวหน่อยนะ พอดีแก่แล้วยืนหรือเดินไม่ค่อยไหว แต่พอช้อปปิ้งหรือมีของฟรีแจกเท่านั้นแหละ ขาป้าดีขึ้นมาทันที
จริงๆ พฤติกรรมแบบนี้ไม่ว่าจะทำในประเทศหรือนอกประเทศก็ไม่ดีทั้งนั้นแหละ อย่าลืมว่าโลกไม่ได้หมุนรอบตัวคุณเพียงคนเดียว จะเอาตรรกะหรือกฎเกณฑ์ส่วนตัวมาใช้กับกฎหมู่ไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน ได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน นอกเสียจากว่าคุณจะเป็นประธานาธิบดีหรือบุคคลสำคัญระดับประเทศของเขาสิถึงได้รับการปรนนิบัติที่แตกต่าง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างในหลายพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยที่มักประพฤติตัวในต่างแดน หลายคนบ่นยับ เอะอะก็ด่าคนจีนอย่างโน้นอย่างนี้ หนักถึงขั้นออกนอกประเทศทำตัวไม่ดีก็แอบอ้างเป็นคนจีนเสียอีก เราด่าแต่คนจีน เอ่ยปากว่าชนชาติอื่นที่สร้างความเดือดร้อนภายในประเทศ แต่ไม่เคยหันกลับมาดูตนเองเลยว่าจริงๆ แล้วเราเองก็มีหลายอย่างต้องปรับปรุง ก็ได้แต่หวังว่าเราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใส่ใจกฎระเบียบและมารยาททางสังคมมากขึ้นกว่าเดิม…ประเทศไทยเรามีนักท่องเที่ยวคุณภาพเยอะ แต่จะดีกว่านี้ถ้าปริมาณเยอะขึ้นกว่าเดิม
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง:
- www.matichon.co.th/entertainment/news_44964
- www.thairath.co.th/content/583319
- mgronline.com/around/detail/9580000071690
- www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/44905
- news.mthai.com/social-news/375070.html
รวมวีรกรรมคนไทยในต่างแดน
- เมาแล้วขับจนก่อเหตุชนนักเรียนญี่ปุ่นเสียชีวิต
- อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาขโมยภาพวาดในโรงแรมญี่ปุ่น
- อดีตตำรวจระดับสูงพกปืนที่สนามบินญี่ปุ่น
- เหยียบย่ำพืชพรรณของชาวไร่บนเกาะฮอกไกโด จนเจ้าของต้นไม้ Tree of Philosophy ต้องตัดสินใจตัดทิ้ง เพราะรู้สึกละอายว่าต้นไม้ของตนเองสร้างความรำคาญให้แก่เพื่อนบ้าน
- ขีดเขียนกลางหน้าผาก ‘เจ้าแฮชิ’ ประจำกรุงโซล เกาหลีใต้ ว่า “LUMI แม่ทุกสถาบัน”
- ยังไม่รวมวีรกรรมอื่นๆ อีก เช่น กินอาหารแล้วไม่เก็บหลังกินเสร็จ กินของในร้านสะดวกซื้อก่อนชำระค่าสินค้า ปีนเข้าเขตหวงห้ามต่างๆ ฯลฯ
- และล่าสุด เขียนชื่อบนราวสะพานข้ามแม่น้ำเมกุโระเป็นพยานรัก แถมยังไม่ใช่ครั้งแรก เพราะปี 2022 เคยเขียนมาแล้วครั้งหนึ่ง