×

ปวดเท้าแบบไหนถึงเข้าข่ายโรครองช้ำ เป็นแล้วรักษาหายไหม?

26.06.2023
  • LOADING...
โรครองช้ำ

อีก 1 ปัญหาที่หลายๆ คนกำลังเจออยู่ในตอนนี้นั่นก็คืออาการเจ็บที่ส้นเท้า เจ็บจนไม่อยากเดินไปไหน เปลี่ยนรองเท้าก็แล้ว ทำไมยังเจ็บอยู่ตลอด ลองหาข้อมูลเรื่องเจ็บส้นเท้าดูก็พบว่าต้องเป็นรองช้ำแน่ๆ แต่ทำตามคำแนะนำแล้วก็ยังไม่หาย จะทำอย่างไรดี หมอจะพาผู้อ่านไปค้นหาคำตอบว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังเป็นโรครองช้ำ? ถ้าเป็นแล้วจะมีโอกาสรักษาให้หายได้หรือไม่? และมีข้อสรุปในการรักษาตัวเองเบื้องต้นอย่างไรหากสงสัยว่าเป็นรองช้ำ ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันเลย 


รองช้ำคืออะไร?

 

รองช้ำ เป็นคำเรียกของการเจ็บส้นเท้าที่เกิดจากเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ โดยเอ็นใต้ฝ่าเท้านี้คนปกติทุกคนมีอยู่ไม่ใช่พังผืดที่ผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งเอ็นนี้เกาะจากกระดูกส้นเท้าและแผ่ออกเป็นรูปพัดไปเกาะที่กระดูกโคนนิ้วทั้งห้า ทำหน้าที่ร่วมกับโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อในการพยุงเท้าของเราให้อยู่ในแนวโครงสร้างปกติ นิ้วไม่กระจัดกระจาย และช่วยรับน้ำหนักจากการยืนเดินให้ปกติและดีที่สุดตามสรีระร่างกายของเรา เมื่อเกิดการอักเสบจึงมีอาการเจ็บเวลาที่ยืนเดิน  

 

ทำไมจึงเกิดรองช้ำ?

 

สาเหตุของการเกิดรองช้ำนั้นโดยมากไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เป็นสาเหตุที่เกิดจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน โดยที่ปัจจัยเหล่านั้นทำให้บริเวณจุดเกาะของเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้ามีการอักเสบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในคนที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI > 25 kg/m2) หรือในหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น, กิจกรรมที่มีการกระแทกหรือทำให้มีน้ำหนักกดลงมาที่ส้นเท้าและฝ่าเท้าอย่างทันทีทันใด เช่น คนที่เริ่มออกกำลังกายแต่ไม่เคยทำกิจกรรมวิ่งหรือกระโดดมาก่อน ทำให้เอ็นใต้ฝ่าเท้าต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติขึ้นทันที, การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับกิจกรรม เช่น วิ่งออกกำลังกายโดยไม่ได้ใส่รองเท้าวิ่งที่ออกแบบมารองรับแรงกระแทก ฯลฯ สาเหตุอื่นๆ ที่พบร่วมได้คือ การมีกระดูกงอก หรือมีแคลเซียมเกาะที่กระดูกส้นเท้าบริเวณจุดเกาะของเส้นเอ็น และการพบร่วมกับกลุ่มโรคต่างๆ ที่มีการอักเสบในหลายระบบของร่างกายรวมถึงเส้นเอ็นซึ่งไม่ได้พบบ่อยมากนัก ส่วนปัจจัยเรื่องของรูปเท้า จากการศึกษารวบรวมข้อมูลพบว่าคนที่มีอุ้งเท้าแบนกับคนที่มีอุ้งเท้าสูงมีโอกาสเป็นรองช้ำได้พอๆ กันและมากกว่าคนที่รูปร่างเท้าปกติ แต่ก็ไม่ชัดเจนนัก เพราะเหตุผลที่ว่าโรครองช้ำนี้มีปัจจัยมาเกี่ยวข้องมากมายนั่นเอง

 

รู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็นโรครองช้ำ?

 

อาการของรองช้ำนั้นจะมีอาการเจ็บที่ใต้ฝ่าเท้าในบริเวณส้นเท้าเป็นหลัก มีไม่มากนักที่เจ็บที่บริเวณอื่นๆ ของฝ่าเท้า อาการเจ็บจะเป็นลักษณะเจ็บก้าวแรกที่เหยียบลงน้ำหนัก (First Step Pain) กล่าวคือ หลังตื่นนอนตอนเช้าลุกยืนครั้งแรกเจ็บทันที หรือนั่งทำงานหลายชั่วโมงแล้วลุกขึ้นยืนเจ็บทันที แต่พอเดินไประยะหนึ่งอาการเจ็บจะค่อยๆ ลดลงจนอาจจะหายไป ถ้าไม่ได้รักษาก็จะเจ็บนานมากขึ้นได้ ความรุนแรงของอาการเจ็บแตกต่างกันไป ทั้งเพียงรู้สึกรำคาญหรือเจ็บจนลงน้ำหนักไม่ได้ หากมีลักษณะเหล่านี้ก็ยังถือว่าอยู่ในกลุ่มของโรครองช้ำ

 

แนวทางการรักษาโรครองช้ำ เป็นแล้วรักษาหายไหม? 

 

รองช้ำสามารถรักษาให้หายได้ มีรายงานว่ารองช้ำสามารถหายได้ด้วยตัวเองจากการพักการใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีโอกาสเกิดซ้ำได้มากเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยในการเกิดโรคมีมาก ข้อสรุปในการรักษาตัวเองเบื้องต้นหากสงสัยว่าเป็นรองช้ำมี ดังนี้

 

  1. ลดกิจกรรมที่คิดว่าเป็นเหตุทำให้มีแรงกระแทกหรือแรงกดที่ฝ่าเท้าของเรา เช่น การเดินเยอะ การวิ่ง หรือการกระโดด 

 

  1. หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าพื้นแข็ง รองเท้าส้นสูง หรือตรวจเช็กรองเท้าที่ใส่เป็นประจำว่ามีอาการสึกหรอ เสียหายหรือไม่ หากมีควรเปลี่ยนใหม่เพื่อให้รองเท้าได้ทำหน้าที่ซับแรงกระแทกต่อเท้าได้มีประสิทธิภาพ

 

  1. เลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสม คือรองเท้าที่มีพื้นนุ่มแต่ไม่ยวบจนเกินไปโดยเฉพาะที่ส้นเท้า เพื่อให้เกิดการซับแรงกระแทกที่เอ็นใต้ฝ่าเท้าขณะเดิน โดยอาจเลือกใช้เป็นซิลิโคนหรือยางนุ่มๆ รองที่ส้นเท้า หรือเลือกแผ่นรองรองเท้าที่นุ่มกว่าพื้นรองเท้าปกติ และมีแนวของอุ้งเท้าที่สูงพอดีกับเท้าของเราเพื่อให้ได้ผลในการซับแรงให้มากที่สุด โดยจะเป็นแผ่นรองที่ซื้อสำเร็จรูป หรือตัดเฉพาะของตัวเองก็ได้

 

  1. ใส่รองเท้าทั้งในบ้านและนอกบ้าน เพื่อให้มีการซับแรงกระแทกตลอดวันให้มากที่สุด การเลือกรองเท้าในบ้านให้เน้นรองเท้าที่ใส่สบาย มีพื้นเป็นยางหนาเล็กน้อยและนุ่ม ข้อนี้ค่อนข้างสำคัญเนื่องจากพบว่าคนไทยไม่เคยชินกับการใส่รองเท้าในบ้านจึงทำให้การรักษารองช้ำช้าลงโดยไม่รู้ตัว

 

  1. ยืดกล้ามเนื้อน่องด้วยตนเอง ทำได้โดยการยืนบนกระดานเอียง หรือยืนบนขั้นบันไดครึ่งเท้าแล้วค่อยๆ ปล่อยส้นเท้าลงตามแรงโน้มถ่วงช้าๆ หรือท่ายืดน่องดันกำแพง เป็นต้น โดยจะใช้เวลาในการยืดแต่ละครั้ง 15-30 วินาที 5-10 ครั้งต่อวัน การยืดให้ทำในลักษณะเบา ช้า และไม่กระชาก เนื่องจากหากทำรุนแรงอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของเอ็นร้อยหวายเพิ่มได้ พบว่าการยืดกล้ามเนื้อน่องเป็นประจำ 4-6 สัปดาห์ ช่วยบรรเทาอาการรองช้ำได้มากกว่า 90%

 

  1. นวดฝ่าเท้าด้วยตนเอง โดยใช้ส่วนของปลายนิ้วโป้งที่ไม่ใช่เล็บ เริ่มจากการนวดวนเบาๆ ที่จุดที่เจ็บแล้วค่อยๆ ไล่ไปตามแนวของเอ็นใต้ฝ่าเท้าจนถึงโคนนิ้วทั้งห้า ระหว่างนวดอาจใช้อีกมือหนึ่งกระดกนิ้วเท้าทั้งหมดขึ้นเพื่อให้เห็นแนวของเอ็นใต้ฝ่าเท้าและนวดได้ง่ายขึ้น แนะนำให้นวดทันทีหลังจากตื่นนอนหรือก่อนเปลี่ยนท่าหลังจากอยู่ท่าเดิมนานๆ เพื่อให้เอ็นใต้ฝ่าเท้าได้คลายความตึงและเหยียบไม่เจ็บ สามารถใช้ลูกบอลแข็ง ลูกกอล์ฟ ท่อแป๊บ หรือขวดแก้วเหยียบคลึงเบาๆ แทนการนวดได้ แต่มีข้อควรระวังคือ ห้ามกดขยี้แรงๆ เนื่องจากสามารถทำให้เกิดการอักเสบซ้ำซ้อนได้

 

  1. ถ้าอาการเจ็บเป็นมาก ลงน้ำหนักแทบไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถยืดกล้ามเนื้อน่องหรือนวดฝ่าเท้าได้ ให้แช่น้ำเย็นหรือประคบน้ำแข็งที่ฝ่าเท้า โดยอาจวนน้ำแข็งนวดที่ส้นเท้าเป็นหลักจนอาการเจ็บลดลงแล้วค่อยเริ่มการยืดนวดต่อไป

 

Tip


หากทำตามข้อแนะนำเหล่านี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องและกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง โดยทางการแพทย์จะพิจารณาในการให้ยาแก้อักเสบหากมีอาการเจ็บรุนแรง และแนะนำแนวทางการกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือร่วมไปกับการทำด้วยตนเอง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น โดยเครื่องมือหลักในการรักษาคือ เครื่องช็อกเวฟ (Shockwave Therapy) หรือหากไม่มีเครื่องนี้ก็สามารถใช้เครื่องมือพื้นฐานที่มีทั่วไปคือ เครื่องอัลตราซาวด์ (Therapeutic Ultrasound) เมื่ออาการดีขึ้นจะต้องมีการออกกำลังกายกล้ามเนื้อฝ่าเท้าให้แข็งแรง ร่วมกับการยืดน่องและนวดฝ่าเท้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ แต่หากให้การรักษาทางกายภาพบำบัดไป 1-2 เดือนแล้วอาการไม่ดีขึ้นมักจะมีการปรับการรักษาโดยการฉีดยาสเตียรอยด์ หรือการผ่าตัดซึ่งต้องได้รับการแนะนำดูแลจากแพทย์กระดูกเท้าต่อไป


สำหรับนักกีฬาที่มีความจำเป็นต้องวิ่งและกระโดด หากมีอาการควรพักการฝึกซ้อมและดูแลรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อให้หายและกลับมาเล่นกีฬาได้อีกครั้งในระยะเวลาไม่นาน ส่วนในกลุ่มที่ยังไม่มีอาการรองช้ำจะสามารถป้องกันได้โดยทำตามข้อแนะนำ 6 ข้อแรกได้เช่นกัน เพื่อให้สามารถเดินและทำกิจกรรมได้ไม่ต้องกังวลว่าจะมีรองช้ำมากวนใจในอนาคต

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising