ทุกคนคิดว่าภาพถ่ายที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้…เชื่อได้มากน้อยแค่ไหน? และถึงแม้จะพยายามจับผิด หาข้อสังเกตที่ซ่อนอยู่ในภาพ เราจะสามารถแยกแยะได้จริงๆ หรือเปล่า ว่าสิ่งไหนเกิดจากฝีมือมนุษย์ สิ่งไหนเกิดจากฝีมือของ AI หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ที่มีฝีมือในการสร้างภาพขึ้นมาไม่แพ้กัน
Photography Never Lies จึงนำภาพถ่ายฝีมือศิลปิน 13 คน มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ เพื่อให้พวกเราลองชมและคิดดูว่า ภาพถ่ายที่เห็นมีความจริงซ่อนอยู่มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อผลงานเหล่านี้มีการใช้ AI เข้ามาช่วย จนบางครั้งอาจดูคล้ายเป็นความจริง ทว่าเบื้องหลังอาจไม่ใช่
และในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะยอมให้ AI เข้ามามีบทบาทในการสร้างผลงานศิลปะต่อไปหรือเปล่า?
ผลงานที่ทุกคนจะได้พบอย่างเช่น ภาพถ่ายขาวดำรูปผู้หญิงทำหน้าครุ่นคิด ในขณะที่ด้านหลังของเธอมีผู้หญิงดูลึกลับอยู่คนหนึ่ง ภาพนี้เป็นผลงานของ โบริส เอลดากเซน (Boris Eldagsen) ศิลปินชาวเยอรมันที่ส่งรูปนี้เข้าประกวดจนชนะ ทว่าเขาปฏิเสธการรับรางวัลเพราะยอมรับว่าใช้ AI ในการสร้างผลงาน
ผลงานภาพชุด ‘เกจิ (2552)’ ที่ดูสั่นเบลอไม่ชัดเจน เป็นฝีมือของ มานิต ศรีวานิชภูมิ ซึ่งเราเองก็คุ้นตากับเกจิในภาพ ทว่าความจริงแล้วเบื้องหลังของผลงานนี้เป็นรูปปั้นที่หล่อด้วยเรซิน
‘Resonances of the Concealed’ ผลงานภาพสีดูชวนฝัน เป็นฝีมือของ นภัสรพี อภัยวงศ์ ที่สร้างขึ้นด้วยการป้อนข้อความ (Prompt) ลงในระบบ AI จนเกิดเป็นภาพเหล่านี้ที่ยังคงไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของตัวเธอเอง และบางครั้งใช้สื่อความหมายได้ลึกซึ้งกว่าภาพถ่ายที่ปกติเธอใช้เป็นประจำ
ภาพปากกระบอกปืน ‘Barrels’ โดย ปิยทัต เหมทัต อาจดูเป็นชิ้นงานที่เรียบง่าย ทว่าความหมายเบื้องหลังกำลังพูดถึงความสุดโต่ง เนื่องจากสิ่งสิ่งหนึ่งอาจเป็นได้ทั้งผู้สร้างหรือผู้ทำลาย เครื่องจักรหรือสิ่งมีชีวิต ความน่ากลัวหรือการสร้างแรงบันดาลใจ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของเรา
‘Imagined Images’ ภาพหน้าบุคคลที่หลากหลายฝีมือศิลปินชาวกรีซ มาเรีย มาฟโรปูลู (Maria Mavropoulou) ที่นำภาพใบหน้าของคนในครอบครัว บรรพบุรุษ และแม้กระทั่งคำบอกเล่าถึงลักษณะแบบปากต่อปาก มารวบรวมเป็นข้อมูล เพื่อให้ AI ช่วยสร้างใบหน้าบรรพบุรุษรุ่นก่อนๆ ที่เธอไม่เคยเจอ
ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานฝีมือศิลปินนานาชาติคนอื่นๆ ให้ชมอีกมากมาย เราว่าใครที่ชอบภาพถ่ายจะประทับใจกับนิทรรศการนี้ โดยนิทรรศการเปิดให้เข้าชมฟรี ที่ BACC ชั้น 7 ตั้งแต่วันนี้ – 8 กันยายน 2567
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร