×

เปิดมุมมองเลี้ยงลูกให้รับมือกับอนาคตที่คาดเดาไม่ได้สไตล์ หมอแพม พญ.ปุษยบรรพ์

30.04.2024
  • LOADING...

ความหลงใหลในวิชาที่เรียนตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ได้ทำให้ แพม-ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี หรือ หมอแพม มีความตั้งใจมาโดยตลอดว่าวันหนึ่งเธอจะต้องมีครอบครัวและให้กำเนิดสิ่งมหัศจรรย์ที่เรียกว่า ‘เด็ก’ ให้ได้

 

 

จากเดิมที่เธอมีเพียงหมวก ‘หมอ’ เธอเชื่อมั่นว่าสายอาชีพและวิชาที่ร่ำเรียนมาอย่างตรากตรำจะทำให้เธอรับมือกับการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ ณ วันที่ได้สวมหมวก ‘แม่’ แบบเต็มตัว เธอได้ตระหนักว่าสิ่งที่คิดมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นเลยแม้แต่น้อย จุดนั้นไม่เพียงแต่ทำให้เธอเข้าใจธรรมชาติของเด็กมากขึ้น… แต่มันยังทำให้เธอเข้าใจถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้นอีกด้วย เธอจึงเลือกที่จะแบ่งปันประสบการณ์ของเธอผ่านเพจ ‘หมอแพมชวนอ่าน’ คอมมูนิตี้ท่ีตั้งใจมีไว้แบ่งปันวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก และยังเป็นเหมือนพื้นที่บันทึกการเติบโตของเธอและลูกไปพร้อมๆ กัน

 

 

จริงอยู่ที่ใครหลายคนในยุคนี้อาจจะมีความกังวลกับอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะรับมือกับการดูแลสิ่งมหัศจรรย์ที่เรียกว่าลูกอย่างไรให้ดีที่สุด แต่ S-Mom Club เชื่อว่าแม้อนาคตจะคาดเดาไม่ได้ แต่แม่สามารถเตรียมพร้อมเผชิญกับทุกความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วที่จะเกิดขึ้นกับลูกได้ ด้วยการเตรียมพร้อมสมองที่ดีให้กับเขาตั้งแต่วันนี้ทั้งในด้านทักษะและโภชนาการต่างๆ

 

ในฐานะที่หมอแพมเป็นทั้งหมอและนักเขียนด้านการเลี้ยงดูลูกโดยตรง มาดูกันว่าหมอแพมจะมีแนวคิดอย่างไรที่จะรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้อย่างมั่นคงใน Passion Calling x S-Mom Club with Dr.Pussayaban Suwannakeeree

 

 

ย้อนกลับไปในอดีต ทำไมหมอแพมถึงเลือกเรียนด้านหมอเด็ก

ตอนที่เรียนรู้สึกว่าทำไมเด็กเป็นสิ่งมหัศจรรย์ มันจะมีวิชาหนึ่งเป็นวิชาเรียนแบบ Development หมายถึงว่าเรียนตั้งแต่มนุษย์อยู่ในท้อง เป็นเซลล์แตกไปเรื่อยๆ กลายเป็นแผ่น เป็นแผ่นสามชั้นแล้วม้วนกลายเป็นอวัยวะแล้วมันเจริญเติบโต 

 

 

ถ้าสมมติเราเรียนชีววิทยาเราตื่นเต้นกับเรื่องทำไมหนอนถึงกลายเป็นผีเสื้อ แท้จริงแล้วมนุษย์มันซับซ้อนกว่านั้นเยอะ… เยอะมาก แล้วก็ตอนผ่านแผนกเด็ก คือเด็กๆ ทุกคน ไม่ว่าจะลูกผู้ดีหรือลูกชาวบ้านธรรมดา เด็กทุกคนคือใสหมด เด็กเกิดมามีพัฒนาการปกติ หลังจากนั้นมันเป็นเรื่องจากเด็กคนนั้นที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถัดจากนั้นมันเป็นเรื่องของการเลี้ยงดู คือพันธุกรรมอาจจะมีส่วนแต่ว่าการเลี้ยงดูก็มีส่วน ก็เลยสนใจ หมอรู้สึกว่าเด็กเป็นสิ่งมหัศจรรย์

 

 

แสดงว่าหมอแพมต้องชอบเด็กมาก

มาก 

 

แน่นอนว่าวันหนึ่งก็ต้องเคยฝันว่าอยากเป็นแม่สักวัน 

ใช่ค่ะ

 

หมอแพมมีน้องตอนอายุเท่าไร 

ตอนที่หมอมีลูกตอนนั้นอายุตัวเอง 32 ปีแล้วค่ะ เพราะว่าเรียนหมอมันเรียนนานเนอะ ก็คือเรียนแพทย์ 6 ปีค่ะ แล้วก็เรียนเฉพาะทางเป็นกุมารแพทย์ 4 ปี แล้วก็ต่อด้านกุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจอีก 2 ปี เป็น 12 ปี คือกว่าจะจบแล้วก็แต่งงาน คือแพลนไว้เลยว่าอยากจะมีลูกค่ะ ตั้งใจอยากมีลูกมากๆ

 

หมอแพมเคยมีนิยามในหัวไหมว่าคำว่า ‘แม่’ สำหรับหมอคืออะไร

ก่อนมีลูกกับหลังมีลูกนิยามมันต่างกันเยอะเลยค่ะ ตอนที่เรายังไม่มีลูก เนื่องจากเราเรียนกุมารแพทย์ด้วยเราก็รู้สึกว่าอยู่ที่ OPD มีแม่มารอคิวเพื่อมาขอคำปรึกษาจากเรา เราก็รู้สึกว่ามันก็ต้องทำได้สิ เรามีตำรา มันมีบอกเป๊ะๆ ถ้ามีปัญหาอย่างนี้ต้องแก้อย่างนั้น ถ้ามีปัญหานั้นต้องแก้อย่างนี้

 

ตอนก่อนที่ตัวเองท้องเราคาดหวังสูงมาก หาข้อมูลอะไรที่ทำให้เด็กเจริญเติบโต ต้องกินสารอาหารอย่างไร ต้องทำอะไร แล้วก็รู้สึกว่าถ้ามีลูกฉันต้องเอาอยู่ แต่ปรากฏว่าพอมีลูกความคิดเปลี่ยน เพราะว่าจริงๆ แล้ว…เด็กไม่ได้เป็นไปตามตำรา คือตำราไม่ได้เขียนถึงลูกเรา ตำราเขียนแค่ค่าเฉลี่ย แต่เด็กแต่ละคนเขามีความยูนีก

 

 

หมอก็เลยบอกกับพ่อแม่ทุกคนว่า ตำราเอาไว้เป็นไกด์เหมือนกับเรามี GPS แต่แท้จริงแล้วถ้าเกิดเราจำทางไปบ้านได้ เราก็แวะได้โดยไม่ต้องกลัวจะหลง ความหมายก็คือว่าเด็กเขาก็เกิดมาเพื่อแม่คนนี้แหละ คือถ้าเมื่อไรที่คนเป็นแม่รู้สึกว่าฉันนี่แหละเป็นคนที่ดีที่สุดสำหรับลูก มันก็คือตอนนั้นค่ะ เราจะเป็นแม่ที่ไม่ไขว้เขวไปกับข้อมูลที่มันมากมายมหาศาล เราจะรู้จักหยิบข้อมูลดีๆ หรือว่าสิ่งดีๆ มาเพื่อประยุกต์ใช้กับตัวเอง ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่คาดหวังก่อนมีลูกกับตอนที่มีลูกแล้วเนี่ยมันคนละเรื่องกันเลย

 

ตอนหลังมีลูกใหม่ๆ หมอก็มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เหมือนกับ เอ๊ะ ทำไมมันถึงเครียดไปหมด ทำไมถึงรู้สึกกดดัน แวบหนึ่งรู้สึกว่าที่คิดว่าจะมีความสุข ทำไมไม่มีความสุข…ทำไมมันเศร้าจัง ทำไมมันทุกข์จัง แค่ลูกไม่กินข้าวมันรู้สึกเหมือนจะเป็นจะตาย

 

พอได้มานั่งตกตะกอนตอนนั้นที่มีปัญหาเยอะๆ ก็ถามตัวเองว่าทำไมเรื่องแค่นี้เราถึงแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าตัวเองเป็นหมอเด็กด้วย แล้วก็ด้วยความที่เราทำงานด้วย ก็เลยใช้ทักษะสกิลในการเป็นหมอเด็กแก้ปัญหา ด้วยการใช้ทักษะในการกดลิ้นเด็กเวลาตรวจร่างกาย เอาช้อนกดเข้าปากลูกค่ะ แล้วลูกก็กลายเป็นแบบกลัวอาหารอยู่พักหนึ่งเลย

 

 

ท้ายที่สุดปัญหามันก็หนักไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าเอ๊ะ เรามาทางนี้มันผิดแน่เลย ลูกรู้สึกว่าเวลาอาหารเป็นเวลาแห่งความทรมาน แค่เห็นแม่หยิบถ้วยอาหารเขาก็ร้องไห้แล้ว ไม่ว่าอะไรที่มันเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราบังคับ เด็กก็รู้สึกว่าถูกคุกคามอยู่ดี หลังจากนั้นก็คิดใหม่ทำใหม่ สบายๆ ชิลๆ พอปล่อยวางลูกก็กินดีเฉย มันก็เลยเรียนรู้ ไม่ใช่เราแค่คนเดียวหรอกเพราะว่าเพื่อนเราก็บ่น คนข้างๆ เราก็บ่น มีแม่ที่เจอปัญหาแบบนี้เหมือนๆ เราเยอะมาก ก็เลยเปิดเพจด้วยค่ะ อยากจะแบบแชร์ข้อมูลที่เราเจอมาค่ะ

 

สำหรับหมอแพม อุปสรรคที่คิดว่ายิ่งใหญ่ที่สุดคืออะไร

ถ้าสำหรับหมอเองหมอคิดว่าอุปสรรคก็คือตัวเองค่ะ คือเรื่องความรู้เราคงไม่ติด ไม่ได้หมายความว่าคนเป็นแม่ที่เป็นหมอเนี่ยจะฉลาดกว่าคนทั่วไปนะคะ แต่ต้องยอมรับว่าเราเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ง่ายกว่า

 

แต่ว่าสิ่งที่มันต้องข้ามไปให้ได้ก็คือการควบคุมอารมณ์ตัวเอง เพราะว่าคนเป็นแม่นั้นมันต้องใช้พลังใจสูงมากๆ ยกตัวอย่างคุณแม่ที่เลี้ยงลูก Full Time ทั้งวัน นั่นหมายความว่าเสียสละชีวิตส่วนหนึ่ง ความคุ้นเคยในชีวิตเพื่อมาอยู่กับเด็กคนหนึ่ง แล้วมันต้องมีความหวังเนอะ พอทุ่มเทมากมันก็คาดหวังมาก คุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะมีความทุกข์ แล้วก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยหรือชอบทำ

 

แต่จริงๆ แล้วหมอมาเรียนรู้ทีหลังว่าการเป็นแม่นั้นมันไม่ต้องเสียสละชีวิตตัวเองนะ เราก็ยังเป็นตัวเราที่มีเด็กคนหนึ่งเข้ามาในชีวิตของเราเพิ่มเติม เรียนรู้ไปด้วยกัน วันแรกที่เรามีลูกก็เป็นวันแรกที่เราเป็นแม่เหมือนกัน แล้วก็ลูกเรียนรู้อย่างไรเราก็เรียนรู้ไปอย่างนั้น หลังๆ หมอก็เลยคิดว่าถ้าจะให้คำแนะนำกับคุณแม่รุ่นใหม่ หมอก็จะบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นแม่ก็คือ เราเป็นแม่ที่พัฒนาได้ วันนี้ผิดพลาดไปแล้วเดี๋ยวก็แก้ใหม่ได้…อย่างนี้ค่ะ

 

 

พูดถึงเรื่องความคาดหวัง แน่นอนทุกวันนี้ลูกก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เรื่องอนาคตก็เป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้ หมอแพมมีความรู้สึกกังวลถึงอนาคตของลูกบ้างไหม

ตอนแรกก็กังวลค่ะ แล้วก็มานั่งคิดว่า อืม เหมือนโลกในยุคปัจจุบันคือมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เร็วมากจนกระทั่งว่า… ถ้าให้นึกง่ายๆ สมาร์ทโฟนมันก็เพิ่งจะมีเกิดมาบนโลกใบนี้ แต่ทุกวันนี้ถ้าให้ทุกคนนึกว่าวันนี้ถ้าไม่มีสมาร์ทโฟนเราใช้ชีวิตอย่างไร เราแทบจะนึกไม่ออกแล้วว่าสมัยก่อนที่เราไม่มีมันเราทำอย่างไร

 

แล้วถัดมาก็ต้องเป็น AI หรือเทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ก็เลยคิดว่าถึงไปทุกข์กับมันก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี เพราะว่าหมอคิดว่าหลักๆ คือต้องอยู่กับมันให้ได้ คือโลกมันเปลี่ยนแปลงเร็วผกผัน อย่าว่าแต่ 10 ปี 20 ปีเลยค่ะ หมอว่า 5 ปีเราก็นึกภาพไม่ออกว่าโลกเรามันจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ก็เลยคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยก็คือว่าเราต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงค่ะ

 

แล้วหมอแพมมีวิธีในการรับมืออย่างไร

ถ้ากับตัวเอง หมอคิดว่าเราต้องเป็นพ่อแม่ที่รู้จัก Unlearn คำว่า Unlearn ในที่นี้หมายความว่าสิ่งที่เรารู้มันอาจจะผิดแล้วก็ได้ในยุคนี้ค่ะ ยกตัวอย่างง่ายๆ ในยุคหนึ่งเกวียนอาจจะเคยเป็นพาหนะที่เร็วที่สุด แต่ยุคนี้นั้นเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นความรู้เก่าๆ ที่ไม่ได้ใช้เราก็ Unlearn มันไปบ้าง มันจะได้เบา

 

แล้วก็ต้องเป็นพ่อแม่ที่รู้จัก Relearn พอเราตัดทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป เราก็ต้องรู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามา เหมือนหมอเองทำงานเป็นหมอ เราก็เป็นอาจารย์แพทย์ด้วย เราก็ต้องเข้าใจว่าเด็กยุคใหม่สไตล์การเรียนของเขาเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจารย์ถามคำถามให้เด็กๆ ตอบ เด็กๆ เขาก็ต้องจำมาตอบหรือว่าเด็กที่จำคำตอบได้ดีในวงสนทนานั้นก็คือคนที่แสดงว่าเขาเตรียมความพร้อมใช่ไหมคะ แต่เด็กทุกวันนี้เขาสามารถไปได้ไกลกว่านั้น

 

ก็คือว่าความจำเขาสามารถใช้ Search Engine ได้ แต่ว่าเขาต้องมี Critical Thinking การคิดเชิงวิพากษ์ เขาต้องพิจารณาว่าข้อมูลไหนที่ดีที่สุดที่เขาจะเลือกมาใช้เพราะว่าข้อมูลมันเยอะมากๆ อันนี้หมอคิดว่าคนรุ่นหมอต้องเข้าใจว่าสไตล์การเรียนรู้ของเด็กยุคนี้มันเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่ต้องไปยึดติดกับสิ่งที่ให้น้องจดจำค่ะ

 

 

หมอแพมได้มีการวางแผนในอนาคตของลูกด้านอาชีพการงานไว้บ้างไหม

อาชีพของลูกเหรอคะ ไม่มีเลยค่ะ ยุคนี้คืออาชีพใหม่มาเยอะมาก มีอยู่ยุคหนึ่งคุณพ่อคุณแม่เข้ามาในห้องตรวจก็แบบว่านี่ไงป้าหมอใจดีนะ เดี๋ยวต่อไปจะให้เด็กเป็นหมออะไรอย่างนี้ แต่เด็กเดี๋ยวนี้ไม่เอาแล้ว ถ้าถามก็จะบอกว่าอยากเป็น YouTuber อยากเป็น TikToker อันนี้เด็กๆ ตอบนะคะ ก็เลยรู้สึกว่าโลกมันคงเปลี่ยนไปแล้ว สำหรับตัวหมอก็คงไม่ได้กะเกณฑ์ แต่อย่างที่บอกค่ะ คงเลี้ยงดูให้เขามีแนวคิดพื้นฐานบางอย่างที่มันปรับตัวได้แล้วก็เขาจะเลือกอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ตามใจเลยค่ะ ครอบครัวเราไม่ได้ยึดว่าควรจะเป็นอาชีพอะไรเพราะรู้สึกว่าอาชีพเกิดใหม่ทุกวัน แล้วทุกอาชีพต้องทำงานหนักหมด มีคุณค่าในตัวเองหมด

 

 

แสดงว่าสำหรับหมอแพมแล้ว ไม่ว่าลูกอยากจะเป็นอะไรหมอปล่อยฟรีเลย

แน่นอนค่ะ เพราะหมอไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้ แต่หมอรู้ว่าเด็กคนหนึ่งมันมีสิ่งพื้นฐานไม่กี่อย่างหรอก ความยากก็คือว่าเราอาจจะต้องสร้างสายสัมพันธ์แล้วก็ต้องฝึกให้เขาควบคุมตัวเองให้ได้เร็ว เพราะว่าเด็กยุคนี้พอเขาได้มีมือถือ ได้เข้าสู่อินเทอร์เน็ต ข้อมูลหลั่งไหลหาเขาได้แม้แต่ในห้องนอน คือต้องฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเองให้ได้เร็วกว่ายุคพวกเรา

 

ส่วนตัวแล้วหมอแพมมีวิธีเตรียมความพร้อมให้เขาอย่างไรบ้าง

ถ้าหลักๆ เลยหมอคิดว่าสายสัมพันธ์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด สายสัมพันธ์ในที่นี้หมายความว่าเราต้องเป็นแม่ที่มีอยู่จริงก่อนค่ะ ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย คือเด็กเขาจะเจริญเติบโตจากตัวเขาเองแล้วก็ออกไปข้างนอก 

 

ในช่วงขวบปีแรกเด็กๆ เขาอยากจะรู้ว่าตัวเขาเป็นอย่างไร เด็กๆ มองโลกผ่านพ่อแม่ มองโลกผ่านคนที่เขาใกล้ชิดด้วย พ่อแม่นิยามโลกเป็นอย่างไรเด็กก็เป็นเช่นนั้น พ่อแม่ชอบไปเที่ยว พ่อแม่รักธรรมชาติ ลูกก็จะมองสิ่งนี้เป็นค่านิยมที่มันค่อยๆ ปลูกฝังมาค่ะ

 

พอช่วง 1 ขวบปีแรกเขารู้ว่าเขามีคนคนหนึ่งที่รักเขามาก การที่มีคนหนึ่งรักเขามากแปลว่าตัวเขามีตัวตน หลังจากนั้นเขาก็เริ่มเรียนรู้สังคมภายนอก ลองให้นึกสภาพเด็กอนุบาลค่ะ เขาก็จะเริ่มรู้สึกว่าเขาอยากจะรู้เรื่องเด็กที่อายุใกล้เคียงกับเขา เขาอยากจะเลียนแบบพ่อแม่ เด็กวัยอนุบาลทุกคนจะเอารองเท้าพ่อแม่มาใส่ จะแอบใช้เครื่องสำอางของแม่ หรือแอ็กว่าทำงานบ้านเพราะว่าเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะเขารู้แล้วว่าเขามีตัวตนจริง

 

 

พอถัดจากนั้นคือขึ้นมาวัยประถม เขาก็จะเข้าใจว่าบ้านเป็นแค่สังคมเล็กๆ แล้ว ความคิดเชิงนามธรรมจะมา เขาจะรู้สึกว่า เอ๊ะ สรุปที่ฉันคิดว่าฉันเป็นหนึ่งเดียวในโลกนั้นมันไม่จริง คือเด็กทุกคนอยู่ในบ้านเป็นที่หนึ่ง พอออกมาปุ๊บเนี่ยเขาก็อยากจะเรียนรู้ อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน

 

เราในฐานะที่เป็นแม่ก็เหมือนเป็นหน่วยซัพพอร์ต เราเฝ้าดูอยู่ห่างๆ สำหรับหมออยากให้นึกภาพว่าเราเหมือนเป็นเสื้อผ้าที่พอดีตัวค่ะ คือเสื้อผ้ามันต้องใหญ่ตามตัวเนอะ คับไปก็ไม่ดี หลวมไปก็หลุด หลักการการเลี้ยงลูกหมอคิดว่าพ่อแม่ต้องใหญ่ตามตัวลูก ใหญ่ตามตัวหมายความว่าขอบเขตที่จะให้เขาทำอะไรได้ด้วยตัวเองมันต้องใหญ่ตามตัว อันนี้แหละเป็นสิ่งที่ยาก ยากมากสำหรับพ่อแม่ส่วนใหญ่ค่ะ

 

 

มีแนวคิดไหนไหมที่หมอแพมอยากจะปลูกฝังลูกไว้เสมอ 

หนึ่งก็คือเป็นเด็กที่ปรับตัวได้กับทุกๆ อุปสรรค ทุกๆ ปัญหาค่ะ คือปัญหามีอยู่แล้วแต่ว่าให้เป็นเด็กที่รู้จักปรับตัว อันที่สองก็คืออยากให้เขาอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ง่าย คือจริงๆ ในยุคถัดไปค่ะ ทุกคนก็จะกลัวว่า AI จะมาแย่งงาน แต่จริงๆ แล้วมนุษย์ยังอยากมีความสัมพันธ์กับมนุษย์เสมอ เพราะฉะนั้นมนุษย์ที่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นก็จะอยู่ได้ง่ายในยุคหน้า 

 

อันที่สามคืออยากจะให้เขามี Critical Thinking ให้เขารู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ว่าความรู้ได้มาสามารถเอาไปใช้ได้อย่างไร มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องไหม สุดท้ายก็คงอยากจะให้สุขภาพดี อยากจะให้ลูกเติบโตแข็งแรงค่ะ

 

เชื่อว่าเรื่องสารอาหารก็มีส่วนสำคัญมากที่ช่วยให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรงโดยเฉพาะเรื่องพัฒนาการสมอง สำหรับหมอแพมมีวิธีการเตรียมความพร้อมในเรื่องสารอาหารให้ลูกอย่างไรบ้าง

เรื่องอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ที่หมออยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่เพราะว่าต่อให้เราส่งเสริมลูกอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเกิดว่าเด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน การกระตุ้นพัฒนาการหรือว่าการเรียนรู้ของเด็กจะได้ไม่เต็มศักยภาพอย่างที่เขาควรเป็น เพราะฉะนั้นเรื่องสารอาหารเป็นเรื่องพื้นฐานในเด็กเล็กค่ะ เราต้องรู้ก่อนว่า 90% ของสมองเด็กเจริญเติบโตภายใน 5 ขวบ เพราะฉะนั้นในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ขวบเป็นช่วงเวลาทองของชีวิตมากๆ เลยค่ะ เพราะฉะนั้นสารอาหารในช่วงนี้เรียกว่าสำคัญ ต้องพูดว่าสำคัญระดับโครงสร้างของสมองเลย เพราะว่าสมองเด็กสร้างเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ ทั้งขนาด ทั้งจุดเชื่อมโยงในช่วงแรกของชีวิต มีการสร้างเซลล์สมองมหาศาล เพราะฉะนั้นถ้าเด็กขาดสารอาหารเขาจะเสียโอกาสในการพัฒนาเยอะเหมือนกันค่ะ

 

 

ทีนี้สิ่งที่หมออยากเสริมก็คือเรามักจะได้รับการเรียนรู้มาว่ากินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่คนไทยไม่เคยพูดว่าสัดส่วนมันต้องเป็นอย่างไร สารอาหารที่สำคัญที่ให้พลังงานมันมี 3 อย่าง โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต โปรตีนจะเป็นตัวหลักที่เป็นตัวเสริมสร้างเซลล์ร่างกายของเรา ไขมันกับคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงาน เพราะฉะนั้นเด็กต้องกินให้ครบส่วน เด็กควรจะได้รับโปรตีนประมาณ 1-2 กรัมต่อน้ำหนักตัวเลย ซึ่งจริงๆ ในคนไทยเรากินโปรตีนน้อย

 

ยุคนี้โชคดีที่เหมือนกับมีสารอาหารหลายอย่างที่คุณแม่สามารถเลือกซื้อได้ ในนมต่างๆ ก็มีการเสริมสารที่ดีกับการเจริญเติบโตของสมอง กรดไขมันจำเป็น, DHA, Sphingomyelin พวกนี้ช่วยสร้าง Myelin Sheath ซึ่งเป็นปลอกของเส้นใยประสาท ทำให้เส้นใยประสาทวิ่งได้เร็วขึ้น ก็จะช่วยในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กในช่วงนี้ได้เหมือนกันค่ะ

 

นอกจากสารอาหารหลักที่ให้พลังงานแล้วก็ต้องได้รับสารอาหารที่สำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก ซึ่งอันนี้จะได้จากเนื้อสัตว์ ผักใบเขียวอยู่แล้ว แล้วก็พวกวิตามินต่างๆ ค่ะ คำตอบของหมอก็คือนอกจากจะกินครบ 5 หมู่ ก็คือต้องกินให้ถูกสัดส่วนแล้วก็กินให้หลากหลายค่ะ

 

 

เชื่อว่ามีคุณแม่ในยุคนี้หลายคนที่ยังกังวลถึงอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ ในฐานะที่หมอแพมมีประสบการณ์เป็นคุณแม่มาสิบปีแล้ว หมอมีคำแนะนำอย่างไร

ปีล่าสุดยอดอัตราเกิดของเราต่ำ คือต่ำมากเลยนะคะ เพราะว่าคนยุคใหม่คิดเยอะขึ้น หมออยากจะแชร์ในมุมตัวเอง หมอพูดมาตลอดว่าการมีลูกทำให้หมอเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น พัฒนาตัวเองมากขึ้นในทุกๆ วัน จริงๆ แล้วเด็กเขาไม่ได้ต้องการเยอะ คือคุณพ่อคุณแม่อาจจะแบบโอ๊ยเรื่องโรงเรียน เรื่องเวลา เรื่องอะไรอย่างนี้ จริงๆ เด็กเขาไม่ได้ต้องการเยอะเพราะว่าเขาเกิดมาเป็นสมาชิกในครอบครัว เราไม่ต้องปรับตัวเข้าหาเด็กหมด เพราะเด็กเขาเองก็มีความต้องการที่จะปรับตัวเข้าหาพ่อแม่เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องทุ่มเทไปจนแบบเราไม่เหลืออะไร เราเติบโตแล้วก็ปรับตัวไปกับเขาได้ ก็อยากจะให้มองการเลี้ยงลูกในแง่ดี คุณแม่ที่มีแล้วเขาก็พบความสุขบางอย่างที่มันก็อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้เลย อยากจะให้มองในแง่ดีว่าการมีลูกไม่ใช่เรื่องเลวร้ายค่ะ

 

 

จริงๆ ลูกไม่ได้ต้องการแม่ที่สมบูรณ์แบบเลยค่ะ เด็กไม่ได้มีนิยามเลยว่าแม่คนไหนที่สมบูรณ์แบบ เพราะฉะนั้นคุณแม่สามารถเป็นตัวเองได้เลย เราเป็นคนปล่อยมุกเฮฮาก็เป็นให้ลูกเห็น ไม่เป็นไรเลย คำว่าแม่มันไม่จำเป็นต้องดูสูงส่งหรือดูเพอร์เฟกต์ตลอดเวลา คำว่าแม่คือคนที่มีสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับลูกค่ะ

 

 

หากคุณแม่มีข้อสงสัยด้านพัฒนาการสมองและการเรียนรู้ของลูกเพิ่มเติม สามารถปรึกษาทีมพยาบาล S-Mom Club ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

S-Mom Club

Website: https://www.s-momclub.com/

Facebook: https://www.facebook.com/Smomclub

 

#THESTANDARDLIFE #TheUrbanGuidetoWellbeing #PassionCallingxSMomClub #MomfromtheFuture #SMomClub #PussayabanSuwannakeeree #Pediatric #หมอแพมชวนอ่าน
#เลี้ยงลูกยุคใหม่ #เลี้ยงลูกให้ฉลาด #เลี้ยงลูกให้สมองดี #เด็กฉลาด #เทคนิคเลี้ยงลูก #สมองไวสร้างได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising