เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมี PFAS ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในอนาคต ประเทศนิวซีแลนด์เดินหน้าเป็นหนึ่งในประเทศแรกที่เตรียมห้ามใช้สาร Per- and Polyfluoroalkyl Substances ที่เรียกว่า Forever Chemicals (ในไทยเรียกว่าสารเคมีอมตะ) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกสารเคมีชนิดหนึ่งที่มีความคงทนและยากในการย่อยสลาย มีความหมายว่าสารเคมีเหล่านี้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือในร่างกายของมนุษย์เป็นเวลานานมากๆ โดยไม่ถูกย่อยสลายไป สารเคมีชนิดนี้มักมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยการเชื่อมโยงคาร์บอน-ฟลูออรีนที่ยาวนาน ทำให้มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อม และสามารถสะสมในร่างกายของสัตว์และมนุษย์ได้ ซึ่งพบได้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมากมาย สารนี้จึงถูกห้ามโดยหน่วยงาน Environmental Protection Authority หรือ EPA ของประเทศนิวซีแลนด์ โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2026 เป็นต้นไป
การที่เครื่องสำอางทั่วไปตามท้องตลาดมักมีสาร PFAS ประกอบอยู่ด้วย นั่นเป็นเพราะมันมีคุณสมบัติที่ทนต่อความร้อนและทนความเย็นได้มาก ทั้งยังกันน้ำและคงทนต่อการทำลายจากสารเคมีต่างๆ ซึ่งทำให้เหมาะสำหรับการใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความคงทนและทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น เครื่องสำอาง เพราะเมื่อนำมาใช้กับเครื่องสำอาง สาร PFAS จะถูกใช้เพื่อเพิ่มความคงทนต่อน้ำและสภาพแวดล้อม ช่วยให้ผิวดูเรียบเนียนขึ้น โดยมากจะพบสาร PFAS ในน้ำยาทาเล็บ, ครีมโกนหนวด, รองพื้น, ลิปสติก และมาสคาร่า
ซึ่งหน่วยงาน EPA ของประเทศนิวซีแลนด์ มีความกังวลว่า PFAS อาจสะสมในร่างกาย และมีอันตรายในระดับสูงเมื่อได้รับสารนี้สะสมเป็นเวลานาน จึงมีการห้ามหรือจำกัดการใช้ PFAS ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในหลายประเทศ เพื่อรักษาสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมไว้ในระดับที่ปลอดภัยมากที่สุด และในกรณีของนิวซีแลนด์จะห้ามใช้ PFAS ในเครื่องสำอางตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2026 เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีเหล่านี้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในอนาคต ทั้งนี้ การกำหนดกฎของ PFAS เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงกฎหมายในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของนิวซีแลนด์ ที่เมื่อปี 2023 เปิดโอกาสให้สาธารณชนให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และได้รับข้อเสนอ 20 รายการเข้าพิจารณา ซึ่งมีข้อเสนอ 14 รายการที่มาจากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางนั่นเอง
อ้างอิง: