×

อยู่อย่างไรในโลกที่ความเหงากำลังทำร้ายเรา?

14.10.2023
  • LOADING...
ความเหงา

“อยู่คนเดียวเท่ากับเหงา” 

 

“อยู่กับผู้คนมากมายไม่น่าจะต้องเหงา” ประโยคนี้อาจไม่จริงและไม่ตรงไปตรงมา เพราะมีผู้คนไม่น้อยที่พบว่ามีความสุขสบายใจกับการได้อยู่เพียงลำพังโดยปราศจากความเหงาหรือเปล่าเปลี่ยว อีกทั้งการที่ผู้คนอยู่รวมกันจำนวนมากในบรรยากาศของความรื่นเริงสนุกสนาน ก็ไม่ได้การันตีว่าคนที่อยู่ในนั้นจะไม่มีใครรู้สึกเหงา 

 

 

ใครควรจะเป็นคนที่เหงามากกว่ากัน? ระหว่างคนที่มาอยู่คนเดียวที่ทะเลสาบ ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ได้พูดคุยกับตัวเอง จนได้เห็นตัวเอง กับคนที่อยู่ในงานเลี้ยงท่ามกลางผู้คนมากมาย แต่ไม่มีใครมองเห็นตัวเรา

 

วอลเดน นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและนักเขียน เคยตั้งคำถามไว้แบบนี้

 

 

ความเหงาเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติของมนุษย์ด้วยความรู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ความเหงาขึ้นอยู่กับระดับการได้รับการตอบสนองความต้องการในความสัมพันธ์ ความรู้สึกร่วม ความเป็นส่วนหนึ่ง หากมีความต้องการระดับสูงแต่ได้รับการตอบสนองน้อย แน่นอนว่าความเหงากำลังจะคืบคลานเข้ามาทำร้ายเรา แต่ตรงกันข้าม ผู้ที่มีระดับความต้องการทางสังคมและความผูกพันน้อยมักไม่ถูกทำร้ายจากความเหงา

 

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการทางสังคมและความผูกพันก็เปลี่ยนแปลงไป จากความพอใจในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์เท่านั้น กลับกลายเป็นสังคมและความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ การมีความรู้สึกร่วมกับศิลปินที่ชื่นชอบคนเดียวกัน ความรู้สึกร่วมกับเกม เพลง และงานศิลปกรรมตามสไตล์ที่ชอบหรือจากบุคคลที่ชื่นชอบ รวมทั้งความรู้สึกร่วมกับสัตว์เลี้ยงที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจในหลายๆ บ้าน 

 

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ความเหงา’ มักรุมเร้าเรามากขึ้นในช่วงของเทศกาลที่ ‘เจ้าของความรู้สึก’ ให้ความสำคัญ วัยรุ่นอาจรู้สึกเหงาหากไม่มีใครมาร่วมในงานวันเกิดที่สำคัญของตน แต่ผู้สูงอายุอาจเหงาได้มากในวันสงกรานต์ ตรุษจีน หรืองานเทศกาล เพราะคาดหวังว่าลูกหลานจะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา แต่อาจไม่รู้สึกเหงาในวันเกิดของตนอย่างที่วัยรุ่นรู้สึก อาจด้วยความเข้าใจและอายุที่มากจนไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันเกิดเท่ากับเด็กวัยรุ่น

 

 

“ความเหงาอาจไม่สามารถทำร้ายเราจนบาดเจ็บล้มตายได้ แต่ทำอย่างไรที่จะเผชิญและจัดการกับความเหงาให้ได้มากขึ้น” 

 

 

  1. รู้ระดับความต้องการทางสังคมและความสัมพันธ์ของตนเอง โดยทบทวนถึงความรู้สึกเหงาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และตั้งคำถามกับตนเองว่าตอนนั้นต้องการสิ่งใดและยังขาดสิ่งใด ยอมรับกับตัวเองว่า ‘ความเหงา’ เป็นอารมณ์ตามธรรมชาติที่เกิดได้ไม่จำเพาะชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ จากนั้นสรุปกับตนเองว่าแท้จริงแล้วตนเองมีความต้องการอย่างไรและเท่าไรต่อระดับความรู้สึกผูกพันทางสังคม
  2. ทบทวนว่าอาจมีสิ่งอื่นนอกเหนือจากผู้คนที่ให้คุณค่าทางสังคม ความรู้สึกร่วม และความสัมพันธ์ ลงมือทำกิจกรรมที่ให้คุณค่าด้านความรู้สึกผูกพันที่หลากหลาย และนำสิ่งที่สงสัยนั้นไปลงมือทำ เช่น การสำรวจความรู้สึกตนเองเมื่อได้ทำงานอดิเรกเพียงลำพัง สำรวจความรู้สึกที่ได้พูดคุยกับเพื่อนออนไลน์ที่สนใจศิลปินคนเดียวกัน เพื่อให้มีกิจกรรมที่หลากหลายในการตอบสนองความต้องการความผูกพันทางสังคม 
  1. เริ่มเลือกสิ่งที่ทำได้ง่าย เพราะหลายครั้งเราคุ้นชินกับการจัดการความเหงาด้วยการชวนตัวเองออกไปพบเจอกับผู้คน แต่ในช่วงของการเรียนรู้ระดับความต้องการของตนเอง อาจเกิดความเครียดจนรบกวนการรู้จักตนเอง การลำดับการลงมือทำจากง่ายไปยากช่วยให้จัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น และสำคัญกว่านั้น อยากเน้นย้ำให้เป็นกิจกรรมที่ทำได้ด้วยตนเองเพื่อลดสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เพราะการพึ่งพาคนอื่น เพื่อลดความเหงาและการไม่ได้รับการตอบสนองซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่อาจกลายเป็นความเศร้า  
  2. หลังจากได้รู้ว่าตนเองมีกิจกรรมเพื่อคลายความเหงาได้เพิ่มขึ้น ชวนตัวเองให้ทำกิจกรรมที่มีอารมณ์ร่วมและผูกพันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มระดับความรู้สึกร่วมในช่วงเวลาทั่วไป ไม่ต้องรอจนความเหงาเข้ามา เพราะหากรอจนความเหงาเข้ามา อาจถูกรบกวนทั้งจากความเหงาและความไม่คุ้นเคยต่อความรู้สึกร่วมในกิจกรรมนั้นๆ มากพอ เพราะความต้องการเป็นส่วนหนึ่งและความผูกพัน จึงทำให้เกิดความรู้สึกเหงา ดังนั้นการเริ่มต้นจากการยอมรับว่าเรารู้สึกเหงาได้ เป็นก้าวแรกของการจัดการความเหงา

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X