เมื่อพูดถึง Garmin (การ์มิน) คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดีกับการเป็นแบรนด์สมาร์ทวอทช์ ที่เหล่าคนรักการออกกำลังกายและทำกิจกรรมกลางแจ้งให้ความไว้วางใจ แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือ แบรนด์ Garminมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี GPS ก่อนต่อยอดมาสู่อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการบิน (Aviator) และทางน้ำ (Marine) จากนั้นก็พัฒนาเทคโนโลยีจนสามารถย่อส่วนทุกอย่างที่ดีให้มาอยู่ในสมาร์ทวอทช์ ที่เราสามารถสวมใส่ติดตัวไปได้ทุกที่ แม้จะอยู่ในพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เลยก็ตาม
ตลอดระยะเวลา 35 ปีของการก่อตั้งแบรนด์ โดย Gary Burrell และ Dr.Min Kao (จะเห็นว่าชื่อแบรนด์มาจากชื่อของสองผู้ก่อตั้งนั่นเอง) สิ่งเหล่านี้ได้พิสูจน์ให้เราเห็นถึงความสามารถอันเหนือชั้นของ Garminที่สามารถ ‘พัฒนาและปรับตัว’ ให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างรวดเร็ว จากผู้นำด้านเทคโนโลยี GPS ของเครื่องบินและเรือ ได้กลายมาเป็นแบรนด์สมาร์ทวอทช์ที่ครองใจคนทั่วโลก
บทความชิ้นนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปดูเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ Garmin หลังเราได้ไปเยือนแคมปัสของพวกเขาที่โอเลเธอ ในเมืองแคนซัส สหรัฐอเมริกา และพูดคุยกับซีอีโอ Clifton Pemble ถึงสิ่งที่ทำให้แบรนด์ Garmin ประสบความสำเร็จ และสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่หมุนไวขึ้นทุกวันได้อย่างสง่างาม
อาวุธลับคือความสามารถในการปรับตัว
คนกลาง: ซีอีโอ Clifton Pemble
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น หากบริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บริษัทย่อมล้าหลังอย่างรวดเร็ว อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าจุดเริ่มต้นของGarmin ไม่ใช่สมาร์ทวอทช์ แต่เป็นอุปกรณ์ที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ ‘ยาก’ อย่างเครื่องบินและเรือ เราจึงต้องยอมรับว่า Garminนั้นเชี่ยวชาญศิลปะการปรับตัวมาก เพราะพวกเขาไม่ได้ยึดติดกับสูตรสำเร็จที่ล้าสมัย หรือความสำเร็จในอดีต
แต่ Garminนำเทคโนโลยีหลักที่ใช้กันในเครื่องบินและเรือ มาใช้กับตลาดใหม่ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น สินค้าที่สวมใส่ได้ (Wearable Product) และสมาร์ทวอทช์ที่ตอนนี้กลายเป็นสินค้าทำเงินของแบรนด์
ปัจจุบันตลาดของGarmin มี 5 ประเภท ได้แก่ ฟิตเนส, กิจกรรมกลางแจ้ง, เครื่อง,บิน เรือ และ OEM ให้กับแบรนด์รถยนต์ต่างๆ ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่ความแม่นยำ การมอบข้อมูลเชิงลึก และประหยัดพลังงาน
อุปกรณ์ Garminในเรือยอชต์
ร่วมมือกับแบรนด์รถยนต์ผลิต OEM Automotive
หัวใจสำคัญอยู่ที่การโฟกัสลูกค้า (Customer Focus)
ตลอดระยะเวลาที่พบปะกับผู้บริหารและพนักงานของGarmin เราพบว่าหนึ่งในความสำเร็จของ Garmin คือ มีความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ สิ่งที่ผู้บริหารหลายคนพูดอยู่เสมอคือ “พวกเขาไม่ได้แค่ผลิตอุปกรณ์ให้ลูกค้า แต่สิ่งที่Garmin ทำคือการสร้างเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนไล่ตามความฝัน”
แน่นอนว่าแม้จะเป็นสินค้าเดียวกัน แต่ฟังแล้วให้ความรู้สึกที่ต่างกันเยอะ ความใส่ใจยังสะท้อนให้เห็นถึงไลน์สินค้าที่หลากหลาย เพราะพวกเขาเชื่อว่าลูกค้ามีความต้องการเฉพาะทางที่ไม่เหมือนกัน ไม่มีทางที่สมาร์ทวอทช์รุ่นเดียวจะตอบโจทย์ทุกกิจกรรมหรือทุกความสนใจ นั่นจึงเป็นที่มาของสมาร์ทวอทช์ที่มีมากมายหลายรุ่น ไม่ว่าจะสำหรับนักวิ่ง นักปั่น ดำน้ำ เดินป่า การติดตามการนอน ฯลฯ ตั้งแต่รุ่นไฮเอนด์สำหรับนักกีฬาชั้นนำ ไปจนถึงรุ่นสำหรับผู้เริ่มต้นใช้งาน
Garmin มีสมาร์ทวอทช์ที่ตอบโจทย์ความสนใจ และการออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ
ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงมืออาชีพ
รวมถึงอุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับความสนใจอื่นๆ เช่น ขับเครื่องบิน ล่องเรือ ตกปลา ฯลฯ คนเหล่านี้ล้วนมองหาสิ่งที่ตอบโจทย์การใช้งานของเขาจริงๆ
อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ใต้น้ำสำหรับนักตกปลา
ห้องสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์ทางการบินของแบรนด์
นอกจากนั้น Garminยังมีจุดเด่นเรื่องแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้อย่างยาวนาน เพราะสินค้าส่วนใหญ่ของGarmin ใช้พลังงานต่ำ ทำให้มีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานเป็นสัปดาห์ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญของแบรนด์เช่นกัน
มีวัฒนธรรมแห่งการออกกำลังกาย (A Culture of Fitness) เป็นรากฐานของแบรนด์
เมื่อได้ไปเยือนแคมปัสแห่งนี้ เราพบว่าสิ่งที่ทำให้ Garminแตกต่างจากบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง ได้แก่ วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับ Well-being ของพนักงาน แทนที่วันๆ เอาแต่นั่งทำงาน Garminกลับให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งเสริมเรื่องสุขภาพ และการออกกำลังกายของพนักงาน
ล่าสุดทางแบรนด์เพิ่งปรับโฉมแคมปัสครั้งใหญ่ เราได้เห็นพื้นที่อย่าง Well-being Centre ที่มีห้องฟิตเนสขนาดใหญ่มาพร้อมอุปกรณ์ทันสมัย พื้นที่ออกกำลังกายอเนกประสงค์ คลาสโยคะ คลาสปั่นจักรยาน สนาม Pickleball และสนามบาสเกตบอลในร่ม สนามฟุตบอลกลางแจ้ง ฯลฯ นอกจากนี้ในโรงอาหารยังมีอาหารสุขภาพไว้เป็นทางเลือกสำหรับพนักงานอีกด้วย
ภายในแคมปัสหรือสำนักงานใหญ่ของ Garmin มี Well-being Centre สนับสนุนให้คนออกกำลังกาย
เหล่านี้เป็นสิ่งที่ Garminทำให้พนักงาน ซึ่งพนักงานสามารถใช้งานได้ทุกเมื่อ ไม่จำเป็นต้องแวะมาตอนเช้าก่อนเข้างาน หรือหลังงานเลิก
เราคิดว่าข้อดีของเรื่องนี้คือพนักงานส่วนใหญ่รักการออกกำลังกาย และใช้สินค้าของGarmin อยู่แล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงรู้จักผลิตภัณฑ์ของตัวเองดี และรู้ว่าสิ่งที่ขาดไปคืออะไร
นอกจากนั้น Garminยังส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความอยากรู้อยากเห็นทางปัญญา (Culture of Intellectual Curiosity) และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้พนักงานท้าทายตัวเองและกล้าแหวกไปสู่แนวคิดใหม่ๆ นี่เองที่ช่วยให้ Garminพัฒนาสินค้าของตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
มองไปข้างหน้าด้วยนวัตกรรมที่มาพร้อม Human Touch
เราคิดว่าสิ่งสำคัญของ Garminหลังจากนี้คือ การเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าสุขภาพ การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และการให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในวงการเทคโนโลยี
Garmin Hangar สำหรับไฟลต์เดโมด้วยเครื่องบินที่มีอุปกรณ์Garmin
เราคาดหวังว่าจะได้เห็น Garminนำเทคโนโลยีอันล้ำสมัยอย่าง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ซึ่งมีอยู่แล้วในบางฟีเจอร์ถูกนำมาใช้มากขึ้น รวมถึง Virtual Reality ที่ผสานเข้ากับผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงยึดมั่นในมิชชันหลักของแบรนด์ อย่างการส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อGarmin มีแนวทางปฏิบัติที่ได้ทำไปแล้ว เช่น การลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกในสินค้าใหม่ๆ และการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในอนาคตทางแบรนด์เองก็มีแผนที่จะยกระดับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
ภาพ:Garmin