×

ความอ่อนไหวไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘จิตใจ’ แล้วมันคืออะไร

18.03.2023
  • LOADING...
ความอ่อนไหว

จะรับมือกับความอ่อนไหวอย่างไรดี เมื่อมันอาจไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘จิตใจ’

 

ในการทำงานด้านจิตใจ พบความสอดคล้องกันมากขึ้นของคนที่มีลักษณะอ่อนไหวทางอารมณ์และประวัติในวัยเด็ก พบว่าเขาเหล่านั้นตอบสนองกับสิ่งเร้าอย่างรวดเร็ว ทั้งแสงสว่าง เสียงแผด หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

ในวัยเด็กเขาเหล่านั้นอาจเคยร้องไห้ ตระหนกตกใจกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อโตขึ้นการควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ดีขึ้น จากคนที่แสดงอารมณ์แบบปลดปล่อยตรงไปตรงมา กลายเป็นคนที่พยายามมากขึ้นที่จะเก็บงำอารมณ์ หลายครั้งก็ทำได้ แต่หลายครั้งก็ยากเหลือเกินที่จะควบคุมความตกใจ หรือน้ำตาที่ไหลเพราะความอ่อนไหวทางอารมณ์ ซึ่งอาจมาจาก

 

  • Threshold คือความเข้มข้นที่ต่ำที่สุดของสิ่งเร้าที่ระบบประสาทสัมผัสจะรับรู้ได้ มนุษย์บางคนมีการตอบสนองช้าและต่ำ ทำให้สิ่งแวดล้อมย่อมต้องมีความเข้มข้นระดับสูงจึงจะส่งผลต่อการรับรู้ ส่วนบางคนมีความไวในระบบประสาทสัมผัส ทำให้แม้มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหรือความเข้มต่ำมาก ก็อาจส่งผลให้คนผู้นั้นเกิดการรับรู้ได้
  • Highly Sensitive Person (HSP) เป็นชื่อบุคลิกภาพที่ได้รับการจัดกลุ่มโดย ดร.อาเธอร์ แอรอน ได้นิยามคนในกลุ่มนี้ไว้ถึงการตอบสนองต่อระบบประสาทสัมผัสที่ไวกว่าปกติ ในทางทฤษฎีวิวัฒนาการให้ความคิดเห็นว่า เป็นการปรับตัวของพันธุกรรม เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่รอด

 

ระบบประสาทสัมผัสสัมพันธ์กับอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม อย่างไร

ผมชวนเข้าใจเรื่องนี้ผ่านการยกตัวอย่างเหตุการณ์ของความ ‘กลัวสุนัข’ โดยเมื่อมีความคิดว่าสุนัขจะเข้ามาทำร้าย ส่งผลให้เกิดความรู้สึกกลัวในระดับสูง ทำให้ใจสั่น มือสั่น ตัวร้อน มือเย็น ม่านตาขยายกว้าง ฮอร์โมนคอร์ติซอลทำงาน เพื่อปรับให้ร่างกายเตรียมความพร้อมที่จะวิ่งหนี และไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นการวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิตก็เกิดตามมา เป็นการวิ่งที่ขาดความระมัดระวังสิ่งแวดล้อมใดๆ ที่จะเป็นอันตรายนอกจากสุนัข ในขณะที่บางครั้งเจ้าสุนัขกลับไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากลัวและส่งผลให้เกิดอันตรายได้เลย

 

ทั้งยังพบอีกไม่น้อยว่า คนที่มีความกลัวการขึ้นเครื่องบินจะยิ่งคิดว่าเครื่องบินจะตกหลังระบบประสาททั่วร่างกายทำงานอย่างหนัก สายตากวาดไปดูทุกอย่างรอบตัว พร้อมตีความเป็นสิ่งที่น่ากลัว อาทิ พนักงานเดินไปมาต้องมีเหตุฉุกเฉินแน่ๆ ยิ่งทำให้ความกลัวพุ่งทะยาน จะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนระหว่างระบบประสาทสัมผัส อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ดังนั้นแล้วความไวต่อประสาทสัมผัสก็ย่อมส่งผลให้คนผู้นั้นมีความไวด้านอารมณ์ ความซับซ้อนทางความคิด ฟุ้งกระจาย และแสดงออกเป็นบุคลิกของคนอ่อนไหวง่าย

 

ข้อดีและข้อจำกัดของคนที่มีบุคลิกภาพชนิดอ่อนไหวง่าย 

ด้วยความละเอียดอ่อนของเนื้อหาความคิด ส่งผลต่อการรังสรรค์งานที่แปลกใหม่และแตกต่าง ทั้งยังสามารถนำเสนอบางอย่างที่ ‘กินใจ’ ผู้คนได้ เพราะเขาเข้าใจเป็นอย่างดีว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่อคนอื่น ในขณะเดียวกันหากมีระดับในการเข้าใจความคิดความรู้สึกของผู้อื่นสูงอยู่ตลอดเวลา อาจส่งผลให้บุคคลนั้นมีความกังวลต่อความเห็นของผู้อื่นที่มีต่อตน สะสมเป็นความเครียด และแสดงออกอย่างระแวดระวัง จนอาจสะสมเป็นปัญหาทางอารมณ์และการใช้ชีวิต เช่น ส่งผลต่อการนอนหลับและมีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร

 

จะรับมือกับความอ่อนไหวอย่างไรดี

  1. กำหนดขอบเขตระหว่างบุคคลให้ชัดเจน โดยภาพจำลองเสมือนการยืนอยู่ในวงกลมของตนเอง ขณะที่สามารถคิดเห็น รู้สึกร่วม และสื่อสาร หรือกระทำบางอย่างกับคนอื่นได้ด้วยความรู้เท่าทันว่า ‘จะไม่ออกไปไกลกว่าวงที่ปลอดภัยนี้’ หากมีพลั้งเผลอจะกระทบกับความกังวลหรือความเครียด อาจหาเวลากลับมาทบทวนขอบเขตที่ปลอดภัยของตนเป็นระยะๆ
  2. หากความอ่อนไหวมีส่วนมาจากระบบประสาทสัมผัสที่มีความไว การผ่อนคลายอารมณ์ที่ดีก็อาจเป็นการผ่อนคลายระบบประสาทสัมผัสต่างๆ ซึ่งการผ่อนคลายชนิดนี้มีหลายวิธี ทั้งการฝึกการหายใจ (Breathing Exercise) และการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Progressive Muscle Relaxation)
  3. มีประโยคที่ย้ำกับตนเองเพื่อความรู้เท่าทัน (Self-Talk) อย่างเป็นกลางตามความเป็นจริง เช่น เขาคงมีความคิดในเรื่องนี้ต่างจากที่เราคิด (เมื่อเรามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน) และการดีขึ้นหรือแย่ลงมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย (เมื่อเรากังวลว่าเรากระทำให้เขาเป็นคนที่แย่) เป็นต้น
  4. ระมัดระวังพฤติกรรมหลีกหนีความเครียด (Safety Behavior) เพราะความคิดละเอียดอ่อนส่งผลให้เกิดความกังวลและความเครียดได้ง่าย การผ่อนคลายอารมณ์ดังกล่าวให้หายไปจากใจแบบไวๆ อาจส่งผลดีชั่วขณะ และอาจส่งผลเสียในระยะยาว เช่น ดื่มสุราเป็นประจำ ใช้จ่ายซื้อสินค้าอย่างไม่มีเงื่อนไข มีพฤติกรรมทางเพศในแบบควบคุมไม่ได้ และเล่นเกมหรือดูซีรีส์จนรบกวนการนอน ฯลฯ หากต้องการผ่อนคลายควรใช้วิธีการที่หลากหลาย แต่ถ้าต้องการใช้วิธีที่ง่ายเพื่อคลายเครียดไวๆ อาจต้องมีการกำหนดจำนวนหรือเวลาที่ชัดเจน เช่น ดูซีรีส์ 2 ตอนต่อวัน และซื้อสินค้าในวงเงินจำกัด เป็นต้น เพื่อเป็นการจัดการความเครียดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  5. บ่นระบายความทุกข์ใจให้บุคคลที่ปลอดภัยรับฟัง เพราะการเก็บความกังวลหรือความเครียดไว้ลำพัง ย่อมส่งผลต่อความคิดมากและซับซ้อน วกวนเป็นวงจร หากสามารถยอมรับได้ว่าตนมีความเครียดและกังวล ฝึกสงบประสาทสัมผัสและเขียนสิ่งที่คิดออกมาเป็นข้อๆ เพื่อลดความสับสน แล้วค่อยๆ เล่าระบาย เพื่อผ่อนคลายอารมณ์
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X