ซีริล คองโก ( Cyril Kongo ) นับเป็นหนึ่งในศิลปินกราฟฟิตี้ที่น่าจะประสบความสำเร็จที่สุดในโลก เขามีบ้านและสตูดิโอที่บาหลี เดินทางไป-มาระหว่างปารีสและบาหลีเป็นว่าเล่น ล่าสุดเพิ่งเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ในสิงคโปร์ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจใดๆ เพราะซีริลเดินทางไปแล้วทั่วโลกเพื่อทำงานศิลปะและจัดนิทรรศการ ไม่ว่าจะเอเชีย สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ตะวันออกกลาง แต่วันนี้เรามีนัดกับเขาที่ Four Seasons Hotel Bangkok ในเมืองไทย เพื่อพูดคุยถึงมุมมองการใช้ชีวิตและศิลปะของเขา
ซีริลเล่าให้ฟังว่ามาประเทศไทยหลายครั้งแล้ว รู้สึกประทับใจวัฒนธรรมไทยที่เชื่อมโยงกับความเชื่อ และมีความแตกต่างที่หลากหลาย ทั้งยังชื่นชอบงานฝีมือและสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ ด้วย เท่าที่เห็นซีริลเป็นศิลปินที่ให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณ ธรรมชาติ และงานฝีมือค่อนข้างมาก ซึ่งต่างจากจุดเริ่มต้นของเขาที่เกิดจากกราฟฟิตี้ในยุค 80 โดยมองว่ากราฟฟิตี้เป็นรูปแบบของอิสรภาพและการแสดงออก ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์
และก็ด้วยกราฟฟิตี้นี้เองที่ทำให้เขาได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อวาดกำแพงและพบปะศิลปิน ทำงานร่วมกับลักชัวรีแบรนด์จำนวนมาก เช่น CHANEL ที่เขาทำงานร่วมกับ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ออกแบบกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้าบู๊ต และลายพิมพ์ต่างๆ แบรนด์ Hermès ที่กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพการงาน และออกแบบนาฬิกา Richard Mille ที่เขาใช้เวลาสองปีบนเทือกเขาจูรา (Jura) ในการพัฒนาและวาดนาฬิกา 30 เรือน นอกจากนี้เขายังได้ทำโปรเจกต์ Airbus Corporate Jets ซึ่งต้องจัดการกับวัสดุที่ไม่คุ้นเคยและความท้าทายด้านวิศวกรรม นอกจากนั้นทุกวันนี้ซีริลยังรับบทเป็นนักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอีกด้วย
นับเป็นการเดินทางของศิลปินที่น่าสนใจไม่น้อย และเหล่านี้คือสิ่งที่เราตกผลึกจากบทสนทนาในบ่ายวันนั้นกับ ซีริล คองโก
งานฝีมือคือ DNA ของแต่ละวัฒนธรรม
ซีริลเน้นการแลกเปลี่ยนร่วมมือกับศิลปินและช่างฝีมือท้องถิ่น เขามองว่าศิลปะอยู่ได้ทุกที่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และความเป็นเอกลักษณ์ เขาสนใจความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ โลก และจักรวาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานของเกษตรกรและผู้ผลิตไวน์ ซึ่งเขามองว่าเป็นการผสมผสานระหว่างธรรมชาติ จักรวาล และฝีมือมนุษย์ เขาชื่นชอบการทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่น โดยเชื่อว่างานฝีมือคือ DNA ของแต่ละวัฒนธรรม นอกจากนี้เขายังสนใจในการเรียนรู้ทักษะและเทคนิคใหม่ๆ จากช่างฝีมือ โดยมองว่าเวลาเป็นสิ่งมีค่าที่สุด และความหรูหราที่แท้จริงคือการมีเวลาลงทุนในการสร้างสรรค์ผลงาน
วัดไทยคือสิ่งเชื่อมต่อกับพระเจ้า
และด้วยความที่ซีริลสนใจงานหัตถกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะเขาเชื่อว่าศิลปะไม่จำกัดอยู่แค่การวาดหรือแกะสลัก แต่สามารถเป็นได้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะงานฝีมือ เมื่อถูกถามว่าถ้ามีโอกาสทำโปรเจกต์ศิลปะในไทยโดยไม่มีข้อจำกัด สิ่งนั้นจะเป็นอะไร? เขาตอบว่าวัด เพราะเขามองว่าวัดเป็นการเชื่อมต่อกับพระเจ้า และผสมผสานระหว่างการสดุดีพระเจ้ากับการอุทิศตน
เชื่อมั่นในหัวใจมากกว่าดวงตา
ซีริลเล่าให้ฟังว่าเขาปฏิเสธข้อเสนอร่วมงานกว่า 90% เพราะเขาชอบทำงานในโปรเจกต์ที่เขาสามารถใส่วิสัยทัศน์ของตัวเองลงไปได้มากกว่า เขาให้ความสำคัญกับการรักษาตัวตนในฐานะศิลปิน โดยเชื่อมั่นในหัวใจและสัญชาตญาณทางอารมณ์ มากกว่าดวงตาและสมองที่อาจหลอกลวงได้ เขามองศิลปะว่าเป็นวิธีตกผลึกเวลา เขาให้ความสำคัญกับปัจจุบัน โดยมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดอนาคต และเห็นว่าเราควรรู้สึกขอบคุณประสบการณ์ง่ายๆ เช่น การหายใจ การมองเห็น และการสัมผัส
เราถามว่าเขาคิดอย่างไรกับงานที่ไม่อยากทำ ซีริลเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่าเรามีทางเลือกเสมอ และควรทำตามหัวใจของตนเอง เงินเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการบริโภค ไม่ใช่เป้าหมายหลักของชีวิต ซีริลขอใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเพื่อทำสิ่งที่รัก และเชื่อว่าความมั่งคั่งที่แท้จริงคือการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า
สิ่งที่อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่
“ใช้ชีวิตตามความฝัน อย่าฝันถึงชีวิต” (Live your dream. Don’t dream your life.) ให้เป็นตัวของตัวเองและจริงใจ เพราะจะนำไปสู่คนที่ใช่ คนที่จะเปิดโอกาสให้ในชีวิต