×

คุยกับ ‘Brian Donnelly’ และพาร์ตเนอร์ผู้พา KAWS:HOLIDAY สู่ใจกลางกรุงเทพฯ

21.05.2025
  • LOADING...

นาทีนี้ไม่มีนิทรรศการไหนในประเทศไทยที่ฮอตไปกว่า ‘KAWS:HOLIDAY’ อินสตอลเลชันอาร์ตกลางแจ้งของ ‘Brian Donnelly’ ศิลปินระดับโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อ KAWS หลังเดินทางไปยังเมืองใหญ่อย่างโซล ไทเป โตเกียว ฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์ ในที่สุด ‘KAWS:HOLIDAY’ ก็เลือกปักหมุดยังบ้านเรา พร้อม Companion ขนาดใหญ่สูง 18 เมตร ที่มีฉากหลังเป็นพระบรมมหาราชวัง แลนด์มาร์กสำคัญของประเทศไทย 

 

เรามีโอกาสพูดคุยกับ Brian Donnelly เป็นเวลาสั้นๆ พร้อมด้วยพาร์ตเนอร์คนสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการอย่าง SK Lam แห่ง AllRightsReserved, เต้-บรม พิจารณ์จิตร แห่ง Central Embrassy เพื่อถอดรหัสเบื้องหลังไอเดีย การทำงานร่วมกัน และสิ่งที่พวกเขาอยากให้คนไทยได้รับจากการมาเยือนครั้งนี้

 

 

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ KAWS:HOLIDAY คืออะไร และคุณอยากให้ผู้คนรู้สึกอย่างไรเมื่อได้พบกับงานนี้

 

KAWS: ตอนเริ่มต้นทำ KAWS:HOLIDAY ครั้งแรก เราไม่ได้คิดเลยว่ามันจะกลายเป็นนิทรรศการที่เดินทางไปหลายประเทศ ผมแค่อยากสร้างงานขนาดใหญ่สักชิ้นเพื่อสื่อสารกับผู้คนในท้องถิ่น โปรเจกต์แรกอยู่ที่เกาหลีใต้ แล้วเราก็เลือกใช้ประติมากรรมเป่าลม เพราะมันเข้าถึงง่าย และสามารถโต้ตอบกับพื้นที่ได้ดี

 

หมุดหมายของ KAWS:HOLIDAY มักมีเรื่องราวในแต่ละจุดหมายปลายทาง สำหรับประเทศไทยคืออะไร และทำไมถึงคุณถึงเลือกประเทศไทยในครั้งนี้

 

KAWS: หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราเลือกประเทศไทยคือเต้ และความสัมพันธ์ที่ผมมีกับเขา เราเคยทำโปรเจกต์ที่นี่เมื่อ 8 ปีก่อน ตอนนั้นเป็นครั้งแรกของผมที่มาประเทศไทย เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ผมรู้สึกดีมากกับการต้อนรับ ความร่วมมือ และบรรยากาศโดยรวม ครั้งนี้เลยรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้กลับมาอีก

 

SK Lam: ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเต้และทีมไทยนี่แหละคือสิ่งสำคัญ พวกเราคิดว่า KAWS มีแฟนในไทยเยอะมาก และแฟนๆ ชาวไทยเองก็ให้การสนับสนุน KAWS อย่างอบอุ่นมาตลอด เราเลยรู้สึกว่าเวลานี้แหละคือจังหวะที่เหมาะสมที่จะกลับมา

 

Tay Barom: อย่างที่เขาบอก ความสัมพันธ์ของพวกเราดำเนินมาด้วยดีตลอด ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ทาง Brian และ SK Lam เลือกให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของ KAWS:HOLIDAY ผมว่าโปรเจกต์นี้เหมาะมากสำหรับประเทศไทย เราเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการพักผ่อน แถมยังได้จัดที่สนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ไอคอนิกมากในไทย การได้เห็นงานศิลปะที่งดงามในสถานที่แบบนี้ ผมว่ามันจะอยู่ในความทรงจำของผู้คนไปอีกนาน ขอบคุณที่สละเวลามา และที่ให้ไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้

 

 

สำหรับ Companion เวอร์ชันที่จัดแสดงในไทยมีความหมายอะไรพิเศษไหม?

 

KAWS: สำหรับท่วงท่าของ Companion ในประเทศไทย เป็นท่าที่อยากทำมาตั้งแต่แรก จริงๆ แล้วผมเป็นคนไม่ค่อยให้นิยามงานของตัวเองแบบชัดเจน ผมอยากให้งานมีความหมายในตัวมันเอง อย่างครั้งนี้เป็น Companion ขนาดใหญ่กับเด็กคนหนึ่งที่กำลังมองดวงจันทร์ สื่อความหมายของการใคร่ครวญถึงสิ่งที่อยู่ไกลออกไป แต่ผมอยากให้คนดูตีความด้วยมุมมองของตัวเอง มากกว่าที่จะบอกความหมายให้เลย

 

แล้วการติดตั้งชิ้นงานที่ใหญ่ขนาดนี้ แถมยังอยู่ในที่แจ้งด้วย คุณทำงานกันยากลำบากขนาดไหน อะไรคือความท้าทาย 

 

SK Lam: ความท้าทายแรกคือเรื่องสภาพอากาศครับ เพราะเดือนพฤษภาคมไม่ใช่ช่วงที่อากาศดีที่สุดในไทย แต่เราก็เลือกจัดเดือนนี้ เพราะเป็นช่วงที่เหมาะสมในแง่อื่นๆ เต้และทีมของเขาทำงานหนักในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้โปรเจกต์เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ก็สำคัญ ถึงแม้พฤษภาคมอาจไม่ใช่ฤดูที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็เหมาะที่สุดสำหรับโปรเจกต์นี้ สำหรับตัว Companion เองมีความสูง 18 เมตร พอฝนตก ทีมงานก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนมากเพราะเป็นแบบพองลม

 

Tay Barom: สำหรับเดือนพฤษภาคม ผมคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะจัดหลังสงกรานต์พอดี ถึงแม้อากาศจะร้อนบ้างหรือฝนตกบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในช่วงซัมเมอร์ของไทย ผมคิดว่าจังหวะเวลาดีมากครับ ถึงฝนจะตกหลายวัน คนก็ยังมา ถ่ายรูปกลางฝน บางคนเช่าเก้าอี้นั่งแม้ฝนจะตก หรือบางวันอากาศร้อนจัดก็ยังมานั่งอยู่นานมาก น่าประทับใจจริงๆ ที่ได้เห็นชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะอย่างดีขนาดนี้

 

พวกคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง เวลาเห็นผู้คนมาดูและโต้ตอบกับงานของคุณ

 

Tay Barom: นี่เป็นครั้งที่สองที่ผมได้เห็นงานจริงๆ ครั้งแรกคือที่สวิตเซอร์แลนด์ ผมติดตามซีรีส์ HOLIDAY มาตลอด แต่พอเห็นด้วยตาตัวเอง มันต่างจากในรูปมากเลยครับ ทั้งเรื่องขนาด และการวางตัวงานกับสถานที่จริง น่าประทับใจมาก ยิ่งเวลาเห็นคนมาถ่ายรูป มานั่งดูงาน แม้ในวันที่ฝนตกหรืออากาศร้อนจัด ทำให้รู้สึกว่างานศิลปะมีชีวิตจริงๆ เพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์คนเหล่านั้น ผมมีความสุขมากที่เราสามารถทำให้ ‘Thailand’ มี KAWS:HOLIDAY ได้สำเร็จ และได้เห็นมันที่สนามหลวง ซึ่งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังและแม่น้ำเจ้าพระยา ผมคิดว่ามันเหมาะสมจริงๆ

 

SK Lam: ตลอด 8 ปีที่เราทำงานร่วมกับ Brian, KAWS:HOLIDAY กลายเป็นงานศิลปะสาธารณะที่มีอิทธิพลมาก ไม่ใช่แค่การวางชิ้นงานในที่สาธารณะ แต่เราสร้างบริบททางวัฒนธรรมด้วย ผู้คนมีวิธีเชื่อมโยงกับงานต่างกัน บางคนมาถ่ายรูป บางคนแค่นั่งพักหรือใช้เวลากับครอบครัวในพื้นที่นั้น เราเองก็ได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ เหมือนเป็นบทสนทนาระหว่างงานศิลปะ พื้นที่ และผู้คน

 

แล้วคุณล่ะ Brian?

 

Brian: ก่อนติดตั้งงาน เราอาจจะมีภาพในหัวว่างานจะออกมาเป็นแบบไหน แต่จริงๆ แล้วงานจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม การได้เห็นผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน เป็นช่วงเวลาที่งานมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ

 

 

พวกคุณ AllRightsReserved และ KAWS ทำงานด้วยกันเป็นระยะเวลานาน อะไรที่ทำให้การทำงานร่วมกับราบรื่น และเรียนรู้อะไรซึ่งกันและกันบ้าง

 

KAWS: ราบรื่นเหรอ? ใช่เหรอ? ฮ่าๆ ล้อเล่น พวกเรารู้จักกันมานานมากแล้ว และรู้ว่าต่างคนต่างคาดหวังอะไรจากกัน ความเข้าใจนี้แหละที่ทำให้ทำงานร่วมกันได้ราบรื่น แถม SK ยังช่วยสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของผมเต็มที่ ถ้าผมมีไอเดียบ้าๆ อะไร เขาก็จะพยายามทำให้มันเกิดขึ้นจริง

 

SK Lam: สำหรับผม สิ่งสำคัญคือความไว้ใจ และความรู้สึกว่าพวกเราทำงานด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ยิ่งได้ทำงานกับ Brian มากขึ้น ยิ่งรู้สึกว่าเรียนรู้อะไรได้มาก ไม่ใช่แค่ในเชิงสร้างสรรค์ แต่ยังรวมถึงการทำงานกับคน การสื่อสารกับผู้ชม และการมองหา ‘ภาษากลาง’ ระหว่างศิลปินกับสาธารณะ

 

 

คุณทำงานด้านนี้มีหลายปี ยังมีไอเดียในฝันที่ยังไม่ได้ทำอีกไหม?

 

KAWS: พูดยากนะ ผมไม่ชอบพูดถึงไอเดียที่ยังไม่ได้เริ่มทำ เพราะเหมือนเป็นลางไม่ดี เหมือนบอกชื่อลูกก่อนลูกเกิด บางไอเดียก็กำลังพัฒนาอยู่ บางไอเดียก็แค่ฝันไว้เฉยๆ 

 

อยากฝากอะไรถึงศิลปินรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นบ้างไหม?

 

KAWS: ผมคงไม่กล้าให้คำแนะนำชัดเจน แต่คิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการค้นหาให้เจอว่าตัวเองสนใจอะไรจริงๆ แล้วยึดมั่นกับสิ่งนั้น ก่อนที่จะเปิดรับคำแนะนำจากคนอื่น

 

สำหรับใครที่อยากชมผลงานของ Brian, KAWS:HOLIDAY THAILAND ยังคงจัดแสดงชิ้นงานอยู่ที่สนามหลวง ตั้งแต่วันนี้ถึง 25 พฤษภาคม 2568

 

ภาพ: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา (Portriat), ณัฐนิชา หมั่นหาดี (Campanion), Central Embrassy

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising