โลกของเราที่เผชิญกับภาวะโลกร้อน (Global Warming) เกิดจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG) ในชั้นบรรยากาศ เป็นเหมือนกระจกสะท้อนไม่ให้ความร้อนและรังสีจากดวงอาทิตย์ออกจากพื้นผิวโลก ภาวะนี้เกิดขึ้นทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเล เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต เป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของพืชพันธุ์และสัตว์ต่างๆ รวมถึงมนุษย์
ในการประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26) เมื่อปี 2021 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร นานาชาติรวม 200 ประเทศ ได้ประกาศแผนลดการปล่อยมลพิษ ยืนยันตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 เพื่อพยายามรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส คนทั่วโลกอาจต้องประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและน้ำ จนเกิดภาวะอดอยากและขาดสารอาหาร
ทำให้โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่ชื่อว่า ‘โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง’ (Non-communicable diseases, NCDs) จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2022 ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 74% หรือคิดเป็นจำนวน 45 ล้านคนทั่วโลก
และในรายงานนี้คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 77% มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก นับเป็นจำนวนเท่ากับ 380,400 คนต่อปี หรือจะมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs สูงถึง 44 คนต่อชั่วโมง
การแพร่ระบาดของโควิดยิ่งเป็นตัวเน้นย้ำให้เห็นถึงอันตรายของโรคติดต่อเรื้อรัง เมื่อ WHO รายงานว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนที่ติดโควิดมีโอกาสเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่าคนปกติ 7 เท่า, โรคหลอดเลือดสมอง 3.9 เท่า, โรคเบาหวาน 3 เท่า, โรคหลอดเลือดหัวใจ 2.9 เท่า และโรคความดันโลหิตสูง 2.3 เท่า
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร BDMS Wellness Clinic จึงออกมาให้ความรู้ เพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคเหล่านี้ขึ้น ซึ่งมีเรื่องควรรู้ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
การเกิดกลุ่มโรค NCDs มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคสินค้าตามกระแสนิยม ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่มากเกินไป, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก, การสูบบุหรี่, การเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง, ปัญหาความเครียด, การนอนหลับไม่เพียงพอ และมลภาวะทางอากาศ ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ต้องอาศัยแนวทางการมีพฤติกรรมสุขภาพดีที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Wellness ที่สามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ ตามหลักการ 5 ประการ ดังนี้
- อาหารจากพืชคืออาหารที่ยั่งยืน โดยเฉลี่ยแล้วหากทุกคนกิน Plant-Based Diet มากขึ้น และหยุดการปล่อยมลพิษจากภาคส่วนอื่นๆ มีโอกาสสูงถึง 50% ที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้ 1.5 องศาเซลเซียส หากปรับปรุงระบบการลดขยะอาหาร (Food Waste) ด้วย โอกาสที่จะทำได้สำเร็จจะเพิ่มขึ้นเป็น 67%
- ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมทางกายที่ยั่งยืน (Exercise and Sustainable Physical Activity) โดยไม่ได้คำนึงแค่เพียงระยะเวลา ความหนัก และความถี่ที่เพียงพอเท่านั้น แต่รวมถึงการไม่บริโภคอาหารหรืออาหารเสริมมากเกินไป ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การเดินเท้า วิ่ง และปั่นจักรยาน เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา (Carbon Footprint)
- อากาศดี เริ่มต้นที่พฤติกรรมสุขภาพ ภาวะโลกร้อนทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง นำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ในระยะยาวมลพิษทางอากาศยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์ส่วนตัว จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างฝุ่น PM2.5 และ PM10 จากเครื่องยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม
- การนอนหลับที่ดีและยั่งยืน แม้การนอนหลับจะดูเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แต่ขณะตื่นนอน มนุษย์ใช้ทรัพยากรอาหาร พลังงานไฟฟ้า และเชื้อเพลิง ยิ่งมนุษย์เรานอนหลับน้อยลงมากเท่าใด ก็ยิ่งเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น การนอนหลับที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนจึงไม่ใช่เพียงแค่การดูแลสุขภาพของตัวเองเท่านั้น แต่เป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย
- กิจกรรมอาสา ช่วยสร้างอารมณ์แห่งความสุข เช่น ปลูกต้นไม้ การเก็บขยะตามแม่น้ำลำคลอง ชายหาด หรือท้องถนน นอกจากจะช่วยโลกแล้ว ยังทำให้เรามีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนด้วย
ภาพ: Shutterstock