×

บริษัทประกันชีวิตจะล้มเหมือนธนาคาร SVB ที่เพิ่งจะล้มไปหรือไม่?

20.03.2023
  • LOADING...

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวเรื่องของธนาคารในอเมริกาที่ล้มลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคาร SVB ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงน้อย แต่ก็กลับมาพังเพราะถือพันธบัตรรัฐบาลมากไป และเกิดการขาดทุนจากภาวะของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ดันไปสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจประกันชีวิตที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก และหนึ่งในตราสารหนี้ที่บริษัทประกันชีวิตต้องมีไว้ก็คือพันธบัตรรัฐบาล

 

ทำให้มีการตั้งคำถามกันว่า บริษัทประกันชีวิตบริหารงานกันอย่างไร และจะมีโอกาสซ้ำรอยธนาคาร SVB มากน้อยแค่ไหน และอะไรที่เป็นบทเรียนของเหตุการณ์ในครั้งนี้ให้กับบริษัทประกันชีวิต

 

ธุรกิจประกันชีวิตถือว่าเป็นสถาบันการเงินในรูปแบบหนึ่งที่รับเงินเข้ามาจากลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทประกัน และบริษัทประกันต้องเอาเงินที่ได้รับมาตั้งเป็นหนี้สินของตัวเอง เผื่อวันที่ลูกค้าจะมาขอยกเลิกกรมธรรม์และรับเงินมูลค่าเวนคืนเงินสดกลับไป และอีกส่วนหนึ่งก็ประเมินอนาคตว่าจะต้องจ่ายเงินสดออกไปเท่าไร และต้องจ่ายไปในช่วงไหน เพื่อคำนวณและตั้งเป็นหนี้สินออกมา (โดยรวมแล้ว เราจะใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคำนวณและประเมินมูลค่าหนี้สินเหล่านี้ โดยเรียกมันว่า เงินสำรองกรมธรรม์ประกันภัย) 

 

และหลังจากที่ได้รับเงินมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทก็นำเงินมาลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลกันไป ซึ่งกลไกเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ต่างกับธนาคารทั่วไปเท่าไร ที่รับเงินฝากจากลูกค้ามาแล้วก็นำเงินไปปล่อยกู้หรือลงทุนอื่นๆ 

 

แต่ถ้ามาเจาะลึกถึงธนาคาร SVB ที่เพิ่งล้มไปนั้น กลับมีความคล้ายคลึงกันที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นไปอีก เพราะ SVB ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นธนาคารเพื่อดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้คนทั่วไป โดยเงินลงทุนนั้นจะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยที่สุด แต่ก็ยังเกิดดอกผล นั่นก็คือ พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งก็มีความคล้ายกับลักษณะการลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต่างกันระหว่างธนาคารกับบริษัทประกันชีวิตคือ ‘ระยะเวลาของการลงทุนในสินทรัพย์ที่จะได้เงินต้นคืนมาเมื่อครบกำหนดสัญญา’ กับ ‘ระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินก้อนคืนให้ลูกค้าเมื่อครบกำหนดสัญญา’ นั้นไม่เหมือนกัน

 

บริษัทประกันชีวิตจะมีระยะเวลาของฝั่งหนี้สินที่ยาวกว่าฝั่งสินทรัพย์เป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากธนาคารที่หนี้สินของธนาคารจะมีระยะเวลาสั้นกว่า (ในแง่มุมของการครบกำหนดสัญญา) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อพันธบัตรระยะเวลา 10 ปี มันก็จะล็อกอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนไว้ได้ถ้าถือจนครบกำหนดสัญญาถึง 10 ปี แต่ถ้าทางฝั่งหนี้สินนั้นมีคนถอนเงินออกมาก่อน (เช่น เงินฝากประจำ 1 ปี เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วไม่ฝากต่อ ก็จะต้องจ่ายเงินต้นคืนออกไป) จะทำให้ต้องขายพันธบัตรชิ้นนั้นออกมาก่อนที่ธนาคารต้องการถือให้ครบกำหนดสัญญา ซึ่งราคาของพันธบัตรในตอนนั้นอาจจะไม่ได้ราคานัก

 

ในกรณีสภาพเศรษฐกิจที่เป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เราสามารถวิเคราะห์ธนาคารได้ดังนี้

 

  1. ตราสารหนี้ระยะยาว เช่น พันธบัตร จะถูกด้อยมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น (เพราะพันธบัตรตัวใหม่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า น่าดึงดูดกว่า จึงทำให้ราคาพันธบัตรตัวเก่าที่เคยลงทุนไปมีราคาลดลง) ซึ่งในมุมของการลงบัญชีนั้น ถ้าธนาคารตั้งใจที่จะถือให้ครบกำหนดสัญญาแล้ว การถูกด้อยมูลค่าจากอัตราดอกเบี้ยนั้นจะยังไม่ถือว่าเป็นการขาดทุนจริงๆ ถ้ายังไม่ได้เกิดการขายจริง 

 

  1. หนี้สิน เช่น เงินฝากของลูกค้า จะไม่ได้ถูกด้อยมูลค่าเท่าไร หรือได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเท่าไร

 

  1. เมื่อเกิดกรณีที่คนมาถอนเงินฝาก (ธนาคารต้องหาเงินต้นมาจ่ายคืน) จึงจำเป็นที่ธนาคารต้องขายตราสารหนี้ที่ตัวเองเคยลงทุนไปออกมาก่อนกำหนด ซึ่งทำให้เกิดการขาดทุนจากสินทรัพย์ลงทุนในกรณีที่ดอกเบี้ยขาขึ้นได้

 

แต่จะเห็นว่าบริษัทประกันชีวิตจะมีทิศทางตรงข้ามกับธนาคาร ตรงที่ระยะเวลาของหนี้สินนั้นยาวมากกว่าสินทรัพย์ ทำให้เวลาดอกเบี้ยขึ้นแล้ว ถึงแม้ว่าทางฝั่งสินทรัพย์จะมีมูลค่าลดลง แต่ทางฝั่งของหนี้สินจะถูกด้อยมูลค่าลงไปอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า และทำให้เกิดกำไรขึ้นมาได้ 

 

กรณีนี้ก็เหมือนกันกับธนาคารคือ ถ้าไม่ได้มีการขายสินทรัพย์หรือหนี้สินออกมาจริง บริษัทประกันชีวิตก็จะยังไม่รับรู้กำไรเข้าไปในทางบัญชี 

 

ทีนี้จะ Realize รับรู้ผลกำไรกันอย่างไร มันกลับขากันกับแบงก์ครับ คือทางฝั่งหนี้สินเขาก็ไม่ Realize รับรู้ผลกำไรทางบัญชีเวลาดอกเบี้ยขาขึ้นเหมือนกัน

 

ในงบกำไรขาดทุนของบริษัทประกันชีวิตเลยไม่สะท้อนดอกเบี้ยขึ้นมาใน PL อย่างที่เห็น แต่ไปสะท้อนใน Unrealize (กำไรที่รอรับรู้ หรือเหมือนมีกำไรรอไว้อยู่ เพราะขาหนี้สินที่เป็น Unrealize ตรงกันข้ามกับธนาคาร)

 

สรุปคือ บริษัทประกันชีวิตดันกลับข้างกับธนาคาร เพราะมีหนี้สินที่ราคามูลค่าตลาดจริงต่ำกว่ามูลค่าบัญชีในปัจจุบัน ซึ่งถ้าบริษัทประกันไป Realize มัน (หรือขายจริงขึ้นมา) มันก็จะเข้าไปในงบกำไรขาดทุน กลายเป็นกำไรมีบวกมากขึ้น (เป็นเรื่องดี) แต่ปกติหนี้สินจะไม่ Realize (ไม่ขายออกมา) พร่ำเพรื่อเหมือนขายพันธบัตรทิ้งกันครับ เพราะหนี้สินของธุรกิจประกันชีวิตไม่มีตลาดรองให้ใครซื้อต่อ ดังนั้น กำไรที่เกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยขึ้นนั้นจะไปรออยู่ใน ‘กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น’ (OCI) ซึ่งอยู่ในงบดุลครับ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X