×

น้ำใจของคนไทยที่กำลังเหือดหาย ปัญหาจริงของสังคมไทยที่หลายคนต้องทำเป็นชิน [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
27.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ช่วงเวลาอันเป็นมหาวิกฤตเช่นนี้เป็นโอกาสในการพิสูจน์คุณค่าความเข้มแข็งและความโอบอ้อมอารีที่มีอยู่ภายในจิตใจของพวกเราทุกคนในสังคมไทย
  • สิ่งที่เราทุกคนควรจะทำคือการตั้งสติ ทำความเข้าใจโรคนี้อย่างที่เป็นจริง อย่าได้หวาดกลัวจนเกินเหตุ ซึ่งรังแต่จะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่จะยิ่งลำบากและแก้ไขวิกฤตนี้ได้ยากยิ่งขึ้น
  • การตั้งแง่ตีตรารังเกียจหรือกลัวว่าบุคลากรทางการแพทย์อาจจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงและเป็นพาหะของเชื้อได้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เพราะพวกเขาต่างก็ยอมอดทนเสียสละเพื่อส่วนรวม ยอมที่จะเสี่ยง และกำลังทำหน้าที่ดูแลคนไทยเช่นเดียวกันกับเราอยู่อย่างเต็มความสามารถ   

 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนกำลังเผชิญกันอยู่ หลายคนล้วนกล่าวตรงกันว่านี่อาจจะเป็นวิกฤตใหญ่หลวงที่สุดเท่าที่เราคนไทยเคยเผชิญร่วมกันมา ในขณะที่หลายๆ ฝ่ายและคนส่วนใหญ่ต่างก็พยายามที่จะทำงานและรับผิดชอบในส่วนที่ตัวเองพอจะสามารถทำได้ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเหล่า ‘นักรบเสื้อกาวน์’ บุคลากรทางการแพทย์ทั้งแพทย์และพยาบาลที่ต่างก็ต้องเสียสละทำงานหนักกันหามรุ่งหามค่ำ คอยดูแลรักษาผู้ป่วยในฐานะ ‘ทัพหน้า’ ผู้คอยต่อสู้กับเชื้อไวรัสเพื่อปกป้องพวกเราทุกๆ คน ทว่าน่าเสียดายที่ท่ามกลางวิกฤตดังกล่าว เรากลับได้ยินข่าวคราวซึ่งทำให้ตั้งคำถามต่อ ‘วิกฤตน้ำใจ’ ที่ดูเหมือนจะกำลังค่อยๆ แห้งแล้งไปจากหัวใจของคนไทย และดูเหมือนจะสวนทางกับ #เราจะสู้ไปด้วยกัน ที่หลายคนต่างก็พูดกันจนติดปากและติดแฮชแท็กกันเต็มโซเชียล – แต่เรากลับคิดว่าบางทีช่วงเวลาอันเป็นมหาวิกฤตเช่นนี้อาจเป็นโอกาสในการพิสูจน์คุณค่าความเข้มแข็งของจิตใจและความโอบอ้อมอารีที่มีอยู่ภายในจิตใจของเราทุกคนในสังคมไทยก็เป็นได้ 

 

สาเหตุที่ THE STANDARD กล่าวและตั้งข้อสังเกตเช่นนี้เกิดจากการที่ได้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่การกักตุนสินค้าจำเป็นอย่างหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์จนทำให้ขาดตลาด และเมื่อไม่นานมานี้หลายคนก็น่าจะได้ผ่านตากับข่าวของชุมชนหลายๆ แห่งทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดซึ่งออกมาประท้วงในกรณีที่ต่างกันออกไป เช่น กรณีที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดทางภาคกลางแห่งหนึ่งที่เข้ารับการรักษาจนหายและตรวจไม่เจอเชื้อแล้ว แพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ แต่ปรากฏว่าเกิดเสียงคัดค้านจากชุมชนและชาวบ้าน เนื่องจากกังวลว่าผู้ป่วยอาจจะยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย 

 

หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งออกมาเป็นคลิปทางโซเชียลที่เมื่อได้ชมแล้วก็อดรู้สึกสะท้อนใจไม่ได้ กับเหตุการณ์ชาวบ้านย่านหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้มารวมตัวกัน ณ​ สถานพยาบาลเพื่อทำการประท้วงขับไล่ผู้ป่วยติดเชื้อ หลังทราบว่าสถานพยาบาลดังกล่าวได้รับตัวผู้ป่วยโควิด-19 ที่ถูกส่งตัวมารักษาอาการ โดยจากในคลิปเราได้เห็นปฏิกิริยาอันรุนแรงของผู้คนที่ต่างก็แสดงออกถึงความโกรธ ความไม่พอใจ และยืนยันว่าไม่ต้องการให้ผู้ป่วยโควิด-19 มาพักรักษาตัวอยู่ในละแวกนั้น เพราะเกรงว่าจะแพร่เชื้อให้กับคนในชุมชนได้ โดยชาวบ้านบางรายถึงกับอ้างว่า “พยาบาลที่อยู่ในโรงพยาบาลก็ออกมาซื้อของที่ร้านชำในหมู่บ้าน แล้วถ้าเอาเชื้อมาติดคนในชุมชนจะทำอย่างไร” แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามชี้แจงว่าสาเหตุที่รับผู้ป่วยมาก็เพราะโรงพยาบาลดังกล่าวได้ถูกตั้งให้เป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อใช้เป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยชั่วคราว พร้อมทั้งยืนยันแล้วว่าผู้ป่วยได้เดินทางมากับทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งใส่ชุดป้องกัน อีกทั้งแพทย์และพยาบาลต่างก็มีการป้องกันตนเองเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม 

 

 

เช่นเดียวกับกรณีโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานที่กักตัวผู้ที่จะเดินทางกลับจากต่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ทันทีที่ชาวบ้านในพื้นที่ทราบข่าวก็มารวมตัวกันนับร้อยชีวิต และบุกประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อคัดค้านไม่ให้ใช้สถานที่ดังกล่าวกักตัวผู้ที่จะเดินทางกลับจากต่างประเทศโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งยื่นคำขาดว่าหากทางจังหวัดยังดึงดัน ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะยกระดับกดดันด้วยการปิดถนนประท้วงโดยไม่หวั่น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จนเป็นเหตุให้ทางจังหวัดจำเป็นต้องยุติการเตรียมใช้โรงแรมดังกล่าวในการกักตัวเอาไว้ก่อน ซึ่งกรณีทั้งหมดที่ยกมานั้นเป็นเพียงแค่บางส่วนของกรณีคล้ายๆ กันที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ 

 

จะว่าไปแล้วปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการไม่ต้องการให้มีผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในชุมชน การไม่ยอมให้ผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อซึ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศเข้ารับการกักตัวอยู่ในพื้นที่ (ทั้งๆ ที่ก่อนจะกลับเข้าประเทศ ผู้ที่มาจากต่างประเทศเหล่านี้ต่างก็ผ่านมาตรการกักกันรวมถึงมาตรการคัดกรองกันมาแล้ว ทั้งยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าติดเชื้อจริงๆ หรือเปล่าเสียด้วยซ้ำ) หรือแม้กระทั่งตั้งแง่รังเกียจผู้ที่รักษาหายจนตรวจไม่พบเชื้อแล้วก็ตาม ไปจนถึงตีตราบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเกรงว่าอาจจะเป็นพาหะของโรค จนเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวขึ้นมาล้วนเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ เพราะเวลาที่คนเราเกิดความไม่เข้าใจ ย่อมจะรู้สึกหวาดกลัวจนอาจจะแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน แสดงความไร้น้ำใจ หรือความเห็นแก่ตัวออกมาได้โดยไม่ตั้งใจ อันเกิดจากความกลัว ความไม่รู้ ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับโรคนี้ และไม่ได้รับทราบถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการวางเอาไว้อย่างรัดกุมนั่นเอง 

 

 

ทั้งนี้เราอยากให้ทุกคนได้ลองพิจารณากันดูในอีกแง่มุมหนึ่ง และตอบตัวเองกันให้ได้ว่าหากในเวลาวิกฤตเช่นนี้ ทุกคน ทุกชุมชนต่างก็แสดงปฏิกิริยาหวาดกลัวและปฏิเสธเช่นนี้กันออกมา โดยไม่ยอมพยายามทำความเข้าใจ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ การที่ #เราจะรอดไปด้วยกัน นั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ ได้อย่างไร ในประเด็นนี้ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวชี้แจงให้เราได้ฟังอย่างน่าสนใจว่า

 

ปัญหาการตีตราส่งเสริมให้โรคระบาดออกไปได้กว้างขวางมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรเปลี่ยนจากการตั้งแง่รังเกียจเป็นการทำความเข้าใจโรคให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล สิ่งที่แพทย์ผู้ดูแลจะต้องปฏิบัติคือ


1. ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยติดเชื้อแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นในสถานพยาบาลด้วยการนำผู้ป่วยเข้าไปในพื้นที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ลดโอกาสแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นในโรงพยาบาล ดังนั้นผู้อื่นจะไม่มีความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ที่เข้าไปในหอผู้ป่วยติดเชื้อได้ก็จะมีเพียงผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่เท่านั้น


2. การจัดหอผู้ป่วยและคลินิกโรค มีอุปกรณ์ป้องกันตัวให้แพทย์ที่ทำการดูแลผู้ป่วย รวมถึงการกำจัดขยะติดเชื้ออย่างถูกต้อง แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์เอง หากปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยผิดพลาดก็จะต้องได้รับการกักตัว ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสที่เชื้อจะแพร่ออกมานอกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน บุคคลที่ออกมาจากโรงพยาบาลหรืออยู่ในพื้นที่เดียวกันกับสถานพยาบาลจึงไม่ได้เป็นบุคลากรที่จะสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นให้กับพื้นที่โดยรอบแต่อย่างใด”

 

 

ดังนั้นสิ่งที่เราทุกคนควรจะทำคือการตั้งสติและทำความเข้าใจโรคนี้อย่างที่เป็นจริง อย่าได้หวาดกลัวจนเกินเหตุ ซึ่งรังแต่จะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่จะยิ่งลำบากและแก้ไขวิกฤตนี้ได้ยากยิ่งขึ้น อนึ่ง การตั้งแง่ตีตรารังเกียจหรือกลัวว่าบุคลากรทางการแพทย์อาจจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงและเป็นพาหะของเชื้อได้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นเลย เพราะพวกเขาต่างก็ยอมที่จะเสี่ยงและกำลังทำหน้าที่รักษาดูแลคนไทยเช่นเดียวกันกับเราอยู่อย่างแข็งขัน ทั้งยังเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวมด้วยการเป็นด่านหน้าต่อสู้เพื่อปกป้องคนไทยทุกคนจากไวรัส 

 

ดังนั้นเราทุกคนจึงควรจะชื่นชมและเป็นกำลังใจให้เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งสนับสนุนการทำงานของพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่เราพอจะทำได้ เพื่อช่วยกันควบคุมให้จำนวนผู้ติดเชื้อนั้นมีจำนวนน้อยลงจนหมดไปในที่สุด และหากทำเช่นนั้นได้ เราก็ย่อมจะ #ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ได้อย่างแน่นอน 

 

คิดสักนิดเพื่อสังคมที่ดีขึ้น… อย่าปล่อยให้เรื่องนี้กลายปัญหาจริงของสังคมไทยที่ทำให้เราต้องอยู่กับมันจนชาชิน และอย่าปล่อยให้น้ำใจของพวกเราคนไทยต้องแห้งแล้งเหือดหาย มาร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยการหยิบยื่นน้ำใจให้แก่กันดีกว่า

 

#คิดสักนิดเพื่อสังคมที่ดีขึ้น #THINKbyLH

 

แคมเปญ​ THINK by LH คลิก https://bit.ly/2yxVcNs

 

 

‘THINK by LH’ คือแคมเปญดีๆ จาก Land & Houses แบรนด์อสังหาริมทรัพย์ของไทย ที่ต้องการจะสื่อสารให้ข้อคิดดีๆ กับสังคมว่า “เพราะโลกนี้…ไม่ได้มีแค่คุณคนเดียว แต่ยังมีคนอื่นๆ ในสังคมที่คุณต้องใช้ชีวิตร่วมด้วย ก่อนจะทำอะไร ได้โปรดคิดถึงคนอื่นสักนิด… เพื่อสังคมที่ดีขึ้น 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X