×

แค่แต่งหน้าก็เข้าคุกได้! คุยกับ ชิน ถั่น ผู้ฝันอยากจะเป็นสมาชิกรัฐสภาสาวข้ามเพศคนแรกของเมียนมา

01.03.2019
  • LOADING...
LGBTQfriendly

ถึงแม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ในเมียนมา ดูเหมือนจะมีพื้นที่ในการแสดงออกถึงการมีตัวตนเพิ่มมากขึ้น แต่กระนั้นสังคมเมียนมาก็ยังคงปิดกั้นและมีอคติต่อคนกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ ‘กลุ่มคนเปิดตัว’ ที่เปิดเผยรสนิยมทางเพศและแสดงความเป็นตัวตนในพื้นที่สาธารณะอย่างชัดเจน บ่อยครั้งที่พวกเขาต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและความเกลียดกลัวความหลากหลายทางเพศ ทั้งในครอบครัว สถานศึกษา รวมถึงสถานที่ทำงาน จนต้องลงเอยด้วยการหนีออกจากบ้าน และเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยตัวของพวกเขาเอง

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ชิน ถั่น (Shin Thant) สาวข้ามเพศชาวเมียนมา ผู้เป็นเจ้าของมงกุฎ Miss Trans Grand International Myanmar 2018 อีกทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ เป็นนักการเมืองที่ฝันอยากจะสร้างประวัติศาสตร์นั่งเก้าอี้สมาชิกรัฐสภาเมียนมาในฐานะสาวข้ามเพศคนแรกของประเทศ ถึงสถานการณ์และความยากลำบากที่กลุ่ม LGBTQ ในเมียนมาต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้

 

 

ชิน ถั่น คือใคร

ชิน ถั่น เป็นสาวข้ามเพศชาวเมียนมาที่เกิดและเติบโตขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์ ในครอบครัวที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เธอเริ่มเปิดตัวในฐานะสาวข้ามเพศเมื่อตอนอายุ 17 ปี ในช่วงแรกเธอถูกต่อต้านอย่างหนักจากคนภายในครอบครัว ซึ่งพวกเขามองว่า สิ่งที่เธอเป็นเกี่ยวข้องกับเวรกรรมที่เธอได้ทำไว้ในอดีต อีกทั้งยังนำพาความอับอายมาสู่ครอบครัว ซ้ำร้ายเธอยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง น้องชายใช้กำลังพยายามบังคับให้เธอกลับใจเป็นผู้ชายทุกวัน

 

“ฉันรู้สึกเหมือนเป็นโรคเกลียดกลัวความหลากหลายทางเพศ หวาดระแวงว่าจะมีใครเอาความลับของฉันมาเปิดเผย แต่ท้ายที่สุด ความหวาดกลัวนั้นก็ไม่อาจต้านทานแรงปรารถนาที่อยากจะเป็นผู้หญิงในใจของฉันได้ พ่อแม่เคยขู่ว่าจะเอาน้ำกรดมาสาดให้ฉันเสียโฉม ถ้าฉันดึงดันที่จะแต่งหญิงต่อไป แต่ฉันก็เลือกที่จะเป็นตัวเอง”

 

นั่นคือปราการด่านแรกที่เธอจะต้องผ่านไปให้ได้ ชิน ถั่น พิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก เพื่อให้คนในครอบครัวยอมรับ หลังจากที่เธอสำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี เธอเข้าสู่การทำงานด้านสิทธิเพื่อกลุ่ม LGBTQ ในเมียนมาอย่างจริงจัง ชิน ถั่น กลายเป็นกำลังสำคัญในการหาเลี้ยงครอบครัว จนครอบครัวยอมรับในสิ่งที่เธอเป็นได้ในที่สุด

 

 

เมียนมาในวันที่ ‘การเลือกที่จะเป็นตัวเอง’ ของใครหลายคนยังคงเป็นสิ่งผิด

สังคมเมียนมายังมีความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่เหนือหญิง การที่เกิดเป็นชายแต่ต้องการที่จะกลายเป็นหญิง จึงถือว่าเป็นการลดทอนคุณค่าและสถานะของตัวเองให้ต่ำลง กลุ่ม LGBTQ ในเมียนมา จึงถูกเลือกปฏิบัติราวกับเป็นพลเมืองชั้นสามจากทั้งชายและหญิงในสังคม

 

บางคนต้องหนีออกจากบ้าน เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเลือกเส้นทางเดินชีวิตด้วยตัวเอง อาชีพที่ LGBTQ ส่วนใหญ่สามารถทำได้คือ การเป็นช่างเสริมสวย ช่างแต่งหน้า รวมถึงคนทรงเจ้าและพนักงานบริการ บ่อยครั้งที่พวกเขามักถูกโยงเข้ากับปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ด้วยเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติทางเพศ

 

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 ซึ่งกำหนดบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี จนถึงจำคุกตลอดชีวิต เป็นมรดกตกทอดที่อังกฤษทิ้งไว้ให้แก่ประเทศอาณานิคมทั้งหลายนับตั้งแต่ยุคโคโลเนียล ถึงแม้จะไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่ก็สร้างความลำบากให้กลุ่ม LGBTQ ในเมียนมาเป็นอย่างมาก

 

 

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ให้สิทธิแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพิเศษในการควบคุมตัวหรือจับกุมบุคคลต้องสงสัยที่ปกปิดหรืออำพรางใบหน้าด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งกลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะสาวข้ามเพศที่แต่งหน้า จึงมักจะตกเป็นเหยื่อของกฎหมายที่เลือกปฏิบัติดังกล่าว ซึ่ง ชิน ถั่น เองก็มีประสบการณ์ในเรื่องนี้

 

“มีอยู่คืนหนึ่ง ขณะที่ฉันเดินอยู่บนท้องถนน ตำรวจเข้ามาจับกุมตัวฉัน พวกเขาไม่เชื่อใจกลุ่มคนข้ามเพศ ไม่เคารพต่อความหลากหลายทางเพศในสังคม ถ้าคุณใช้ชีวิตหรือแต่งกายตรงข้ามกับเพศสภาพ แต่งหน้าทาปาก แต่งกายเป็นแดรกในเมียนมา คุณอาจติดคุกได้ตั้งแต่ 7 วันจนถึง 3 เดือน

 

“กลุ่ม LGBTQ ส่วนใหญ่เผชิญการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็ถูกลวนลามทางเพศ บ้างก็กลายเป็นเครื่องมือระบายอารมณ์ พวกเขามองเราไม่ต่างจากตู้กดเงินเคลื่อนที่ ปฏิบัติกับพวกเราราวกับเป็นพลเมืองชั้นรองของประเทศ มีสาวข้ามเพศอยู่ 10 คน 6 คน ต้องติดคุกเนื่องจากอำนาจมืดดังกล่าว นี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเห็นได้ชัด

 

“หลักความเชื่อทางศาสนาก็มีส่วนสนับสนุนการเลือกปฏิบัติในสังคม พวกเขามักจะอ้างถึงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตชาติ เรามองไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่เราทำได้คือ อยู่กับปัจจุบัน ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด เราแค่ต้องการให้ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่เขาก็ยังคงเลือกปฏิบัติกับพวกเราเสมอมา”

 

 

ความใฝ่ฝันในสนามการเมือง ตัวแทนของความแตกต่างหลากหลายในเมียนมา

โอกาสที่กลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศจะมีสิทธิก้าวเข้าไปนั่งเก้าอี้ในตำแหน่งสำคัญๆ ในสนามการเมืองของเมียนมา ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ ชิน ถั่น สาวข้ามเพศจากเมืองมัณฑะเลย์คนนี้ ก็ยังคงฝันและเดินหน้าที่จะเป็นสมาชิกรัฐสภาที่เป็นสาวข้ามเพศคนแรกของเมียนมาให้ได้ ไม่เพียงแต่เพื่อเสียงของกลุ่ม LGBTQ เท่านั้น แต่เพื่อเสียงที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริงของชาวเมียนมาทุกคน

 

“สังคม LGBTQ ในเมียนมายังคงถูกเลือกปฏิบัติและตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง โดยเฉพาะจากคนในครอบครัว รวมถึงสถานศึกษาเองก็ไม่ได้เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ คุณครูหลายคนก็ไม่ได้รู้สึกว่า เด็กกลุ่มนี้สมควรได้รับการปกป้อง ยังไม่นับรวมสังคมในที่ทำงาน รวมถึงภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ ในวงการสื่อต่างๆ ที่ผลิตซ้ำให้พวกเราดูเหมือนกับตัวตลก เบียดขับเราให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคม ต่ำต้อยกว่าคนที่เป็นชายจริงหญิงแท้

 

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ฉันฝันอยากที่จะก้าวเข้าไปสู่สนามการเมือง อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมเมียนมา อยากจะยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม กีดกัน และเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ อยากจะผลักดันมาตรการและนโยบายใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนให้ทุกคนเท่าเทียมกัน นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมฉันอยากจะสร้างประวัติศาสตร์นั่งเก้าอี้สมาชิกรัฐสภาในฐานะสาวข้ามเพศคนแรกของเมียนมาให้ได้ ฉันรู้ดีว่ายังมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่จะต้องทำ เพื่อให้ก้าวไปถึงจุดนั้น แต่ฉันจะมุ่งมั่นและทำให้ดีที่สุด

 

“เมื่อก่อนฉันเคยออกไปเที่ยวเล่น มองหาความสนุกสนานไปวันๆ แต่ตอนนี้อาจไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งความสนุกเหล่านั้นแล้ว ฉันอาจจะไม่ได้ก้าวมาถึงจุดนี้ จุดที่ทำตามเสียงของตัวเอง จุดที่ทำเพื่อความแตกต่างหลากหลาย ถ้าหากในวันนั้นฉันยังคงเลือกเป็น ชิน ถั่น คนเดิม คนที่ไม่กล้าแม้กระทั่งจะยอมรับหรือเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง”

 

เมียนมาในฐานะ ‘ตลาดน่าลงทุนแห่งใหม่ของธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงาม’

นอกจากเกาหลีใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องศัลยกรรมเสริมความงามแล้ว ภาคธุรกิจนี้ของไทยก็มีขีดระดับความสามารถอยู่ในเกณฑ์น่าพึงพอใจไม่แพ้กัน ไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของกลุ่มคนที่อยากจะศัลยกรรมเสริมความงามจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะการเสริมหน้าอกและผ่าตัดแปลงเพศ เนื่องจากมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก อีกทั้งอัตราค่าบริการยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับมือได้

 

ชิน ถั่น เล่าทิ้งท้ายว่า ในแต่ละปีมี LGBTQ โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศชาวเมียนมาเดินทางเข้าไปรับการรักษายังสถานพยาบาลและคลินิกเสริมความงามในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เธอจึงอยากเชิญชวนให้นักลงทุนของไทยเดินทางไปลงทุนภาคธุรกิจนี้ในเมียนมา เพราะธุรกิจและงานบริการประเภทนี้ยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการที่มีอยู่ในสังคม ยังไม่นับรวมกลุ่มเพศชายหญิงอื่นๆ ที่ต้องการจะใช้บริการอีก เธอมองว่า เมียนมาน่าจะเป็นตลาดที่น่าลงทุนสำหรับนักธุรกิจและผู้ประกอบการไทย

 

“มีกลุ่มคนข้ามเพศจำนวนมากที่เดินทางไปยังประเทศไทย เพื่อรับฮอร์โมนต่างๆ รวมถึงเข้ารับการผ่าตัดและศัลยกรรมเสริมความงาม ซึ่งงานบริการประเภทนี้ แทบไม่มีให้เห็นเลยในเมียนมา การเข้าถึงงานบริการเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก และบางครั้งก็กินระยะเวลานาน จะดีแค่ไหน ถ้าพวกเราสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ที่บ้านของเราเอง เรายินดีถ้าอัตราค่าบริการจะสูงขึ้น หากเทียบกับความคุ้มค่าและระดับความพึงพอใจที่เราจะได้รับ ซึ่งการลงทุนจากเพื่อนบ้านอย่างไทย จะช่วยสนับสนุนให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในเมียนมาได้เข้าถึงงานบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย

 

 

“ฉันหวังว่าวันหนึ่ง พวกเราทุกคนจะมีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ รวมถึงคนชายขอบกลุ่มอื่นๆ ในสังคม

 

“…จงอย่ากลัวที่จะเป็นตัวเอง จงภาคภูมิใจในสิ่งที่คุณเป็น”

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X