×

ถอดบทเรียนสมรสเท่าเทียม LGBT ไต้หวัน (ตอนที่ 2): การต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุดเพื่อการสมรสเท่าเทียมที่แท้จริง

18.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • เพราะการสมรสและการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน LGBT ไต้หวันจึงต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธินั้นเป็นลำดับแรก
  • หลัง LGBT ไต้หวันสมรสกันได้ตามกฎหมาย ประกอบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 748 (กฎหมาย 748) การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด พวกเขายังคงแสวงหาความเท่าเทียมที่แท้จริงต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการขอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวัน การขอแก้ไขกฎหมาย 748 ในประเด็นที่ยังขาดสิทธิ การเสนอรูปแบบการรับรองความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติมจากการสมรสแบบดั้งเดิม เช่น การจดทะเบียนรับรองความสัมพันธ์แบบอื่นที่ไม่ใช่คู่รัก การเรียกร้องกฎหมายรับรองเพศสภาพของกลุ่มคนข้ามเพศ และการอนุญาตให้ LGBT ดำเนินการตั้งครรภ์แทน

 

ในโอกาสที่ TAPCPR ไต้หวัน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ผลักดันการสมรสเท่าเทียมสำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 ได้รับเชิญให้มาถ่ายทอดประสบการณ์การผลักดันกฎหมายที่กรุงเทพฯ ในหัวข้อ ‘สิทธิเสมอภาคด้านการสมรสของคู่หลากหลาย: บทเรียนจากไต้หวัน’ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรม Mövenpick BDMS Wellness Resort Bangkok กรุงเทพฯ สนับสนุนโดยองค์กร APCOM, สมาคมเพศวิถีศึกษา, สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย มีองค์กรพัฒนาเอกชนด้านความเท่าเทียมทางเพศ นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้แทนจากสหประชาชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชน และชุมชน LGBT ไทยเข้าร่วมเกือบ 30 คน

 

ชีเชียวเหวิน และเจียเชียเฉียน คู่สมรสเพศเดียวกันและผู้นำองค์กร TAPCPR ไต้หวัน เริ่มต้นการเสวนาด้วยการเปิดคลิปงานเลี้ยงฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ไต้หวัน ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความสุขของคู่สมรส LGBT ไต้หวัน   

 

 

เธอทั้งสองถ่ายทอดประสบการณ์และความเป็นมาการต่อสู้ของ TAPCPR กว่าสิบปีเพื่อการสมรสที่เท่าเทียม เพราะการสมรสและก่อตั้งครอบครัวที่เท่าเทียมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน LGBT ไต้หวันจึงต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธินั้นเป็นลำดับแรก

หลัง LGBT ไต้หวันสมรสกันได้ตามกฎหมาย ประกอบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 748 (กฎหมาย 748) การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด พวกเขายังคงแสวงหาความเท่าเทียมที่แท้จริงเพื่อการคุ้มครองสิทธิของชุมชน LGBT ไต้หวันต่อไป นั่นคือการขอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวันเพื่อให้เป็นการสมรสแบบไม่จำกัดเพศ ซึ่งอาจนำไปสู่การยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย 748 ที่ยังขาดสิทธิบางประการต่อไป    

 

ช่วงซักถาม ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างยกมือสอบถามทั้งคู่จำนวนหลายคำถาม ประเด็นที่มีการซักถามมากที่สุดคือ ‘กฎหมาย 748 ให้สิทธิแตกต่างกับคู่สมรสชายหญิงตามประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวันอย่างไร’ ทั้งสองเล่าว่ากฎหมาย 748 ให้สิทธิเกือบเทียบเท่า (แต่ไม่เท่า) กับคู่สมรสชายหญิงตามประมวลกฎหมายแพ่ง เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 4 ของกฎหมาย 748 บัญญัติว่าการจดทะเบียนตามกฎหมาย 748 ถือเป็นการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย รูปแบบการจดทะเบียนและเอกสารจดทะเบียนสมรสจึงไม่แตกต่างจากคู่สมรสชายหญิงทั่วไป ดังนั้นจึงสามารถนำสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสชายหญิงตามประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวันบางประการมาบังคับใช้กับคู่สมรสเพศเดียวกันในกฎหมาย 748 ได้โดยอนุโลม (Mutatis Mutandis) 

 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเห็นว่าการออกกฎหมาย 748 เป็นการเฉพาะสำหรับ LGBT แยกออกจากประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวันไม่ใช่ความเท่าเทียมที่แท้จริง โดยเฉพาะประเด็นที่ยังขาดสิทธิ เช่น 1.การสมรสของชาวต่างชาติในไต้หวันที่อนุญาตเฉพาะคู่รักเพศเดียวกันต่างชาติที่มีกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกันในประเทศของคู่รักแล้วเท่านั้น 2.การอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมร่วมกันโดยต้องมีสายเลือดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้คู่รักเพศเดียวกันไต้หวันไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมที่มิได้มีสายเลือดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร่วมกันได้ (Joint Adoption) และ 3.การไม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันดำเนินการตั้งครรภ์แทนโดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์     

 

ทั้งสองย้ำว่าการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด LGBT ไต้หวันยังคงต้องการและแสวงหาความเท่าเทียมที่แท้จริงเพื่อการคุ้มครองสิทธิของ LGBT ไต้หวันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการขอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวันเพื่อให้เป็นการสมรสสำหรับทุกคนและทุกเพศ การขอแก้ไขกฎหมาย 748 ในประเด็นที่ยังขาดสิทธิ การเสนอรูปแบบการรับรองความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติมจากรูปแบบการสมรสแบบดั้งเดิม เช่น การจดทะเบียนรับรองความสัมพันธ์แบบอื่นที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบคู่รัก อีกทั้ง TAPCPR ก็กำลังศึกษาถึงแนวทางการเสนอกฎหมายและการเรียกร้องกฎหมายรับรองเพศสภาพของกลุ่มคนข้ามเพศ และการอนุญาตให้ LGBT สามารถดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนได้

 

 

ตอนใกล้จบการเสวนา มีผู้เข้าร่วมเสวนาคนหนึ่งถามว่าหลังจากที่เธอทั้งสองจดทะเบียนสมรสแล้วมีผลกระทบในแง่ลบบ้างหรือไม่ ทั้งสองเล่าด้วยเสียงหัวเราะว่า “มีเพียงปัญหาเดียวที่เราทั้งสองต้องเจอ คือพวกเรางานยุ่งมาก มีอะไรต้องทำหลายอย่างจนบ้านของเรารกและไม่ได้ทำความสะอาด เมื่อพ่อแม่ของเราทั้งสองมาหาที่บ้าน พวกเขาไม่รู้ว่าจะต่อว่าใคร เพราะเราทั้งสองเป็นภรรยาด้วยกันทั้งคู่”

 

เธอได้กล่าวถ้อยคำปิดท้ายที่น่าประทับใจและได้รับเสียงปรบมือจากทั้งห้องเสวนาว่า “เราขออวยพรให้ LGBT ไทยโชคดีในการต่อสู้เพื่อการสมรสที่เท่าเทียม อาจต้องพบความท้าทายหลายอย่าง แต่ขอให้ตระหนักว่าทุกคนพึงได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน เราเกิดมาพร้อมกับสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม สู้ๆ นะ… พวกเราจะยืนเคียงข้างเสมอ” 

 

ผู้เขียนเองก็ได้เข้าร่วมซักถามในงานดังกล่าวด้วย ได้สัมผัสถึงความรักที่เธอทั้งสองมีให้กันอย่างเต็มเปี่ยมเฉกเช่นชายหญิงทั่วไป แววตาที่เต็มไปด้วยพลังในการต่อสู้อย่างไม่สิ้นสุดยังคงมีอยู่อย่างชัดเจน แม้ทั้งคู่จะผ่านการต่อสู้อย่างโชกโชนมากว่าสิบปีแล้วก็ตาม

 

 

หันมาย้อนมองประเทศไทยซึ่งผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่ปี 2556 กว่า 7 ปีแล้วที่ LGBT ไทยรอคอยกฎหมายด้วยความหวัง แต่เรายังคงมีแค่ ‘ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ….’ น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าหากเราจะไปถึงการสมรสเท่าเทียมที่แท้จริงที่ไต้หวันกำลังแสวงหาและต่อสู้อย่างต่อเนื่อง นั่นคือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสให้เป็นการสมรสสำหรับทุกคน ทุกเพศ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศแบบใดก็ตาม 

 

 

หนทางใดจะเป็นหนทางที่นำไปสู่เป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณี LGBT คู่หนึ่งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไทยให้มีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย มาตรา 1448 ที่หวงห้ามการสมรสบุคคลเพศเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หรือกระบวนการเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 (ปพพ. 1448) ผ่านระบบรัฐสภา หรือการรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายขอแก้ไข ปพพ. 1448 และหนทางนั้นจะใช้เวลาอีกยาวนานเพียงใด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI
  • ถอดบทเรียนสมรสเท่าเทียม LGBT ไต้หวัน (ตอนที่ 1) อ่านได้จาก thestandard.co/taiwan-lgbtq-ngo/
  • กฎหมายประกอบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 748 สืบค้นได้จาก law.moj.gov.tw/ENG/LawClass/LawAll.aspx?pcode=B0000008
  • กฎหมาย 748 มาตรา 4 บัญญัติว่า “เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเลขที่ 748 และตามกฎหมายนี้ การจดทะเบียนความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 จะต้องทำเป็นหนังสือและลงนามโดยพยานสองคน และต้องจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานทะเบียนท้องถิ่น” 
  • 第 4 條 成立第二條關係應以書面為之,有二人以上證人之簽名,並應由雙方當事 人,依司法院釋字第七四八號解釋之意旨及本法,向戶政機關辦理結婚登記。
  • Article 4 In accordance to the J. Y. Interpretation No.748 and this Act, a union, as stated in Article 2, shall be effected in writing, which requires the signatures of at least two witnesses, and by marriage registration at the Household Administration Bureau”
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X