หน้าแล้งปีนี้ปัญหาหมอกควันพิษและ PM2.5 เกินมาตรฐาน ได้กลับมาหลอกหลอนคนไทยเกือบทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง จนประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีมลพิษทางอากาศร้ายแรงที่สุดในโลกเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว
หากจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุหลักในการเกิดปัญหาหมอกควันพิษในกรุงเทพมหานคร ปัญหาส่วนใหญ่มาจากควันดำของรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซล
ขณะที่ในภาคเหนือเกิดจากปัญหาการเผาป่า ปีนี้เกิดไฟป่าขึ้นรุนแรงมากอย่างผิดสังเกต และการเผาซากพืชผลทางการเกษตร คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ส่วนทางภาคอีสาน ภาคกลาง ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาซากในนาข้าว ไร่ข้าวโพด และการเผาไร่อ้อย ก่อนลำเลียงอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล โดยเฉพาะภาคอีสานซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ
ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลชุดนี้มุ่งส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพดและอ้อยขยายตัวอย่างมาก ตามความต้องการของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ โดยช่วงระยะเวลาปี 2557-2562 พบว่ามีการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 8,456,000 ไร่ เป็น 11,469,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 3,013,000 ไร่ ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มี 6,489,813 ไร่ โดยมีพื้นที่ปลูกที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือที่ 4,470,802 ไร่ ตามความต้องการอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกสาเหตุที่สำคัญคือกลุ่มควันจำนวนมากที่ลอยมาการเผาซากข้าวโพดและอ้อยจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา หลายล้านไร่
เป็นเวลานับสิบปี พื้นที่ป่าในประเทศเพื่อนบ้านถูกเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดและไร่อ้อยนับล้านไร่ เมื่อความต้องการวัตถุดิบเพื่อผลิตน้ำตาลและอาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้น โดยมีบริษัทเกษตรกรรมรายใหญ่ของไทยเป็นลูกค้าสำคัญ
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยเปิดเผยข้อมูลถึงการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาและสปป.ลาว ว่าเพียงเฉพาะครึ่งแรกของปี 2564 (เดือนมกราคม-กรกฎาคม) มีการนำเข้าจากเมียนมาร้อยละ 98.25 หรือ 1,717,570,110 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 384,595,449 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์
ขณะที่บริษัทน้ำตาลรายใหญ่ของไทยได้รับอนุมัติสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน 123,547 ไร่ เพื่อเพาะปลูกอ้อยและตั้งโรงงานน้ำตาลเป็นเวลานาน 70 ปี และบริษัทน้ำตาลอีกรายก็ได้รับสัมปทานปลูกอ้อยในสปป.ลาวนับแสนไร่เช่นกัน
หมอกควันพิษที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเชื่อมโยงถึงบริษัทเกษตรกรรมรายใหญ่ของไทย แต่ดูเหมือนรัฐบาลไทยไม่ได้มีมาตรการระหว่างประเทศอะไรเลยเพื่อยับยั้งหมอกควันพิษที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
ลองหันมาเปรียบเทียบการแก้ปัญหาหมอกควันพิษในประเทศสิงคโปร์ว่าเขาจัดการอย่างไร
เป็นเวลานับสิบปีแล้วที่ประชาชนชาวสิงคโปร์ต้องทนทุกข์กับหมอกควันพิษที่ลอยมาจากการเผาป่าและพืชไร่บนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวของประเทศอินโดนีเซีย
รัฐบาลสิงคโปร์ทำการสืบสวน พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่าสำหรับเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในบริษัทปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ
แม้ปัญหาจะเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้นิ่งเฉย ใช้มาตรการทุกอย่างกดดันและบีบบังคับบริษัทสิงคโปร์เหล่านี้ให้ยกเลิกการตัดไม้เผาป่า โดยใช้เครื่องมือสำคัญคือการออกกฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน หรือ Transboundary Haze Pollution Act เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเป็นกลไกทางกฎหมายสำหรับควบคุมการดำเนินธุรกิจสวนปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียของบริษัทที่มีที่ตั้งในสิงคโปร์ ไม่ให้เผาป่าเพื่อบุกเบิกพื้นที่การเกษตร อันเป็นการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนที่ต้นเหตุ
กฎหมายฉบับนี้ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้มีส่วนในการสร้างหมอกควันพิษต้องรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและแพ่ง และกฎหมายนี้ได้ครอบคลุมไปถึงบริษัทที่แม้จะไม่ได้เผาซากปาล์มน้ำมันโดยตรง แต่หากพิสูจน์ได้ว่ารับซื้อปาล์มน้ำมันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ประชาชนชาวสิงคโปร์ทั่วไปก็สามารถมีสิทธิ์ฟ้องได้ นอกจากนั้นประเทศสิงคโปร์ยังใช้มาตรการคว่ำบาตรสินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยในเดือนตุลาคม ปี 2558 สภาสิ่งแวดล้อมแห่งสิงคโปร์ได้ระงับการใช้ฉลากเขียวของ Universal Sovereign Trading ผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวของบริษัท Asia Pulp & Paper Group (APP) ผู้ผลิตเยื่อและกระดาษของอินโดนีเซีย
เนื่องจากบริษัทดังกล่าวต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรด้วยการเผาป่าในอินโดนีเซีย ทำให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในสิงคโปร์ดำเนินการในการนำผลิตภัณฑ์ของ APP ออกจากชั้นวางภายใน 2 สัปดาห์อย่างรวดเร็ว
ทุกวันนี้การเผาป่าในเกาะบอร์เนียวและสุมาตราแม้จะมีอยู่แต่ก็น้อยลง ปัญหาหมอกควันพิษในประเทศสิงคโปร์ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาหมอกควันพิษทั้งภาครัฐบาลและพลังของผู้บริโภค
หันกลับมาเมืองไทย ตราบใดที่รัฐบาลยังเกรงใจบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ที่มีส่วนในการรับซื้อข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาหมอกควันพิษที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านก็คงมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ