×

เราเห็นอะไรบ้าง จากน้ำท่วมเชียงราย

13.09.2024
  • LOADING...
น้ำท่วมเชียงราย

ดูเหมือนว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือครั้งนี้ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย กำลังบอกเราว่าคนทางเหนือกำลังโชคร้ายจากภัยธรรมชาติเป็นประจำทุกปี ปีหนึ่งขยายเวลาออกไปนานร่วม 6 เดือน

 

ฤดูแล้ง คนทางเหนือต้องผจญกับปัญหาหมอกควันพิษนาน 2-3 เดือน ค่าฝุ่น PM2.5 ที่ตัวเลขทะลุหลักร้อยมาทุกปีไม่เคยลดลง โดยเฉพาะคนเชียงราย ส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว จากโรคทางเดินหายใจ มะเร็งปอด ฯลฯ

 

ฤดูฝน จากปัญหาฝนตกหนักและน้ำท่วมใหญ่ จนทำให้เกิดอุทกภัยท่วมบ้านเรือนจำนวนมาก เกิดความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาลเป็นประจำทุกปี

 

แน่นอนว่าปัญหาฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโลกเดือด ทำให้เกิดภูมิอากาศแปรปรวนวิปริตไปทั้งโลก เกิดพายุฝนฟ้าตกหนักอย่างต่อเนื่องทางภาคเหนือนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งพบว่ามีปริมาณฝนมากกว่าปกติถึง 50-60% เกินความสามารถของดินที่จะอุ้มน้ำได้ จึงไหลทะลักมาท่วมบ้านเรือนราษฎร

 

แต่อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ภูเขาทางภาคเหนือและในประเทศเมียนมาที่เคยมีป่าปกคลุม กลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เป็นไร่ข้าวโพดหลายล้านไร่ ฤดูแล้งก็เผาซากไร่ เผาป่า จนเกิดหมอกควันพิษ ฤดูฝนก็ไม่มีต้นไม้ใหญ่คอยซับน้ำ ผืนดินก็แห้งเป็นแผ่นเดียว น้ำไม่ซึมลงดิน เพราะตอนเกิดไฟป่าทำให้อุณหภูมิร้อนสูงถึง 700 องศาเซลเซียส จนหลอมโมเลกุลในดินกลายเป็นแผ่นเดียวกัน ไม่มีรูพรุน ทำลายฮิวมัสในดินที่เป็นตัวซับน้ำ และขี้เถ้าจากไฟป่าก็ทำหน้าที่เหมือนยาแนวอุดรูบนพื้นดิน ทำให้เวลาฝนตกน้ำก็ไม่ซึมลงใต้ดิน

 

น้ำจากฝนที่ตกลงมาจากบนเขาเกือบทั้งหมดจึงไหลทะลักอย่างรวดเร็ว แรง และไหลลงสู่แม่น้ำ จนเอ่อมาท่วมบ้านเรือนสองฟากฝั่งที่ราบลุ่มอย่างรวดเร็ว พร้อมดินโคลนมหาศาลที่เกิดจากการพังทลายของหน้าดิน เพราะไม่มีรากต้นไม้ใหญ่ยึดเอาไว้

 

อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นอำเภอที่ชาวบ้านประสบปัญหาอุทกภัยหนักหน่วงที่สุด จากปกติที่เคยเกิดอุทกภัยประมาณ 2-3 ครั้งต่อปี แต่ปีนี้น้ำท่วมอำเภอแม่สายไปแล้วถึง 7 ครั้ง ซึ่งรวมถึงครั้งล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำสายที่ไหลผ่าน

 

แม่น้ำสายเป็นแม่น้ำสายสำคัญของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีความยาวรวมทั้งหมด 30 กิโลเมตร มีความยาวในประเทศไทย 15 กิโลเมตร แม่น้ำสายแห่งนี้เป็นแม่น้ำที่เป็นพรมแดนทางธรรมชาติที่กั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา ต้นน้ำของแม่น้ำสายไหลมาจากเทือกเขาในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ไหลเข้าสู่อำเภอแม่สาย จากนั้นแม่น้ำสายจะไหลผ่านทะเลสาบ 2-3 แห่ง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นแม่น้ำรวก แล้วก็ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

 

ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute: SEI) หนึ่งในผู้ศึกษาเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก มาตั้งแต่ปี 2562 ได้วิเคราะห์ว่า สาเหตุอุทกภัยในพื้นที่ชายแดนแม่สายส่วนหนึ่งเกิดจาก

 

“แม่น้ำสายมีต้นน้ำอยู่ในประเทศเมียนมาถึง 80% และมีเพียง 20% เท่านั้นที่ทอดยาวอยู่ในพื้นที่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก พบว่าสาเหตุที่ทำให้แม่สายเกิดน้ำท่วมเร็วและแรงนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณต้นน้ำซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา โดยปัจจุบันพบว่าพื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุดด้วยกัน ทำให้ศักยภาพการชะลอน้ำลดลง”

 

พื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศเมียนมาในช่วงฤดูแล้งจะเกิดไฟป่าทุกปี ทั้งจากการเผาซากไร่ และการเผาต้นไม้บุกรุกป่าขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำให้อำเภอแม่สายมีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในประเทศไทยทุกปี จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้แหล่งกำเนิดไฟที่อยู่ต้นลม

 

นอกจากนี้บริเวณอำเภอแม่สาย-ท่าขี้เหล็กนั้นเป็นที่ราบระหว่างหุบเขาขนาดใหญ่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ที่รวบรวมน้ำมาจากเทือกเขาขนาดใหญ่ด้านตะวันตกของประเทศเมียนมาจะไหลลงมาที่นี่ เป็นพื้นที่รับน้ำขนาดราว 340,000 ไร่ และต้นน้ำในประเทศเมียนมาไหลมาถึงบริเวณอำเภอแม่สายค่อนข้างสูงชัน น้ำสายจากรัฐฉานอยู่บนความสูงระดับ 900-1100 เมตร ขณะที่อำเภอแม่สายในฝั่งประเทศไทยมีความสูงราว 410-450 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ถือว่ามีความชันทีเดียว และบวกกับการพังทลายของหน้าดิน ไม่น่าแปลกใจว่าน้ำจะทะลักลงมาอย่างเชี่ยว รุนแรงแบบน้ำป่าไหลหลาก

 

ไม่แปลกใจหากจะสรุปว่า ฝนที่ตกลงมาทุกเม็ดในบริเวณนี้จะกลายเป็นน้ำหลากเพียงอย่างเดียว และฤดูฝนของประเทศไทยยังต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นอำเภอแม่สายก็อาจเผชิญกับเหตุน้ำท่วมครั้งที่ 8 ในเร็วๆ นี้ก็เป็นได้

 

อันที่จริงปัญหาหมอกควันพิษ ปัญหาน้ำท่วม ต่างทำร้ายประชาชนมานานแล้ว แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่พยายามแก้ปัญหาอย่างตรงจุดหรือแก้ปัญหาที่สาเหตุจริงๆ เห็นได้จากแต่ละปีรัฐบาลจะตั้งงบประมาณป้องกันน้ำท่วมสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท แต่ร้อยละ 76 หรือประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท เป็นงบประมาณด้านการก่อสร้าง หรือเกือบ 3 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนใหญ่คือก่อสร้างแนว กำแพง เขื่อนป้องกันน้ำท่วม ขณะที่งบวางแผน วิจัย เก็บข้อมูล ศึกษาต้นเหตุของปัญหา เพื่อวางแผนในการป้องกันน้ำท่วม มีเพียงร้อยละ 0.8

 

เป็นการสะท้อนว่าแนวคิดในการแก้ปัญหาของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือการตั้งรับปัญหา แทนที่จะแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาเป็นหลัก ด้วยความรู้หรือไม่รู้ว่า ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นไร่ข้าวโพด คือสาเหตุสำคัญของปัญหาหมอกควันพิษและน้ำท่วมใหญ่ แต่ที่ผ่านมาเราแทบไม่ได้ยินข่าวเลยว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาการเผาป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดได้อย่างไร

 

ทั้งๆ ที่บทเรียนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นชัดว่า การปกป้องป่าต้นน้ำคือแนวทางในการลดความเสี่ยงและความเสียหายจากน้ำท่วม และปัญหาหมอกควันพิษ ที่ตรงจุดและยั่งยืนที่สุด

 

แนวทางการลดปัญหาน้ำท่วมและหมอกควันพิษโดยอาศัยวิธีการแก้ไขที่สอดคล้องกับธรรมชาติ (Nature-Based Solutions) ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เรายังแก้ปัญหาแบบแยกส่วน และใช้งบประมาณมหาศาลไปกับการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคือการสร้างกำแพงหรือแนวป้องกันน้ำท่วม

 

แถมตอกย้ำด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องทำลายป่านับพันนับหมื่นไร่ ด้วยข้ออ้างคือสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X