https://www.youtube.com/watch?v=qUF3L8mGCVc
วันนี้ (30 ต.ค.) ที่รัฐสภามีการสัมมนา ‘สนช. ปลดล็อกกัญชาเป็นยารักษาโรค’ ซึ่งเป็นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522 เข้าสู่วาระการประชุม สนช.
นายสมชาย แสวงการ หนึ่งใน 44 สนช. ผู้เสนอร่างกฎหมาย กล่าวว่าวันนี้เป็นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรค 2 ซึ่งมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งส่วนราชการและภาคประชาชนเข้าเสนอความคิดเห็น ซึ่งทั้งหมดเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่า ‘สมควรใช้กัญชาและใบกระท่อมทางการแพทย์อย่างเดียว’ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล ทั้งนี้การใช้กัญชาทางการแพทย์จะเป็นทางออกให้กับการรักษาผู้ป่วยได้หลายโรคมาก ลดการนำเข้ายาราคาแพง แต่ไม่ช่วยให้อาการเจ็บป่วยหายได้
อย่างไรก็ตาม ในร่างกฎหมายยังมีข้อที่ต้องปรับปรุงในรายละเอียดหลายเรื่อง ซึ่งได้รับฟังและบันทึกไว้ทั้งหมดเพื่อไปปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการหลังผ่านขั้นรับหลักการในวาระที่ 1 ของ สนช.
ทั้งนี้หลังการรับฟังความเห็นในวันนี้แล้ว ตนเตรียมบทสรุปวิเคราะห์เสนอประธาน สนช. ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน จากนั้นจะเข้าสู่การบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ซึ่งตนในฐานะวิป สนช. จะประสานรัฐบาลว่า หากเป็นไปได้ รัฐบาลจะใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ของ สนช. และเพื่อความละเอียดรอบคอบก็ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญโดยการรวมภาคส่วนของรัฐบาลเข้ามาโดยไม่ต้องรับร่างกฎหมายไปศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากขณะนี้ทั้งส่วนราชการและภาควิชาการ รวมถึงภาคประชาชนเห็นพ้องกันแล้ว เหลือเพียงพูดคุยกันในเรื่องรายละเอียดทางกฎหมายเท่านั้น
สำหรับการแก้ไขกฎหมายให้กัญชาถูกพัฒนาเป็นยารักษาโรคนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ซึ่งจะเปิดช่องให้ใช้กัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยกับมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของ สนช. ซึ่ง 44 สมาชิก สนช. เห็นว่าประมวลกฎหมายฉบับนี้อาจจะสมบูรณ์ แต่จะไม่ทันการณ์
สมาชิก สนช. จึงเสนอแก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522 เพื่อปลดล็อกก้าวที่ 1 ให้ได้ก่อน จากนั้นเมื่อกฎหมายเดินได้ ประเทศไทยมีงานวิจัย มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีมาตรฐาน มีการควบคุมและช่วยเหลือผู้ป่วยได้ เราก็เดินก้าวที่ 2 ต่อไป เช่น จะไปทำประมวลฯ ให้เสร็จหรือทำกฎหมายเฉพาะก็สามารถทำได้ไม่ยาก
“เราก็พยายาม เพราะ สนช. มีข้อจำกัด สังคมเข้าใจว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถ้านับจากนี้เรามีเวลาแค่ 3 เดือน ผมคิดว่าถ้าเรารีบทำเพราะศึกษากันมาแล้วพอสมควรก็ตั้งใจจะให้เป็นของขวัญปีใหม่กับคนไทย หลังจากนี้ตั้งใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเข้าที่ประชุม สนช. วาระแรกช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน จากนั้นในชั้นกรรมาธิการอาจใช้เวลา 30-45 วันก็สามารถผ่านวาระ 2-3 ได้” นายสมชายกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์