ผู้คนในเลบานอนกำลังสับสนกับประเด็นการปรับเปลี่ยนเวลาภายในประเทศ ท่ามกลางความขัดแย้งของผู้นำทางการเมืองและกลุ่มศาสนาที่มีอิทธิพลภายในเลบานอน
นาจิบ มิคาติ นายกรัฐมนตรีเลบานอน ซึ่งเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนี ประกาศว่า การปรับเปลี่ยนเวลาภายในประเทศนั้นจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนรอมฎอน ซึ่งตรงกับช่วงปลายเดือนเมษายน โดยจะทำให้พี่น้องชาวมุสลิมในเลบานอนละการถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนเร็วขึ้น 1 ชั่วโมงหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน
ขณะที่กลุ่มคริสเตียนในเลบานอนกลับมองว่า การปรับเปลี่ยนเวลาควรเกิดขึ้นในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งตรงกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา
เบื้องต้นผู้นำเลบานอนไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดอย่างเป็นทางการว่า ทำไมถึงเลื่อนเวลาการปรับเปลี่ยนเวลาออกไปเป็นวันที่ 20 เมษายน แทนที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การตัดสินใจดังกล่าวของมิคาติเป็นไปเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเขาเองในช่วงเทศกาลถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิมในเลบานอน
ความขัดแย้งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มอาหรับและกลุ่มคริสเตียนที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมเลบานอน ตั้งแต่ช่วงสงครามกลางเมืองเมื่อทศวรรษ 1970-1980
หลายธุรกิจและหลายสายการบินในเลบานอนจำเป็นต้องปรับตัวต่อประเด็นปัญหาการปรับเปลี่ยนเวลาดังกล่าว โดยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ จำนวนไม่น้อยที่สับสนกับการปรับเปลี่ยนเวลาอัตโนมัติของระบบ เนื่องจากผู้ให้บริการหลายรายไม่ได้รับแจ้งจากรัฐบาลเลบานอนที่ต้องการยืดระยะเวลาการปรับเปลี่ยนเวลาให้ล่าช้าออกไปอีก
เดิมทีแนวคิดการปรับเปลี่ยนเวลานั้นเกิดขึ้นในยุโรปช่วงสงครามโลก ด้วยเหตุผลที่อยากจะประหยัดพลังงานในช่วงฤดูร้อน ก่อนที่จะค่อยๆ ถูกยกเลิกไป แต่วิกฤตการณ์น้ำมันโลกในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อยุโรป ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกที่ตัดสินใจนำแนวคิดนี้กลับมาใช้อีกครั้งในปี 1976
ก่อนที่อีกราว 2 ทศวรรษต่อมา สหภาพยุโรปจะมีมติเห็นชอบให้ประเทศสมาชิกมีการปรับเปลี่ยนเวลาในช่วงฤดูร้อนร่วมกัน โดยจะปรับเวลาในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคมของทุกๆ ปีให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง และปรับเวลาในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคมของทุกๆ ปีให้ช้าลง 1 ชั่วโมง โดยเลบานอนได้รับอิทธิพลการปรับเปลี่ยนเวลาดังกล่าว หลังเคยตกอยู่ในอาณัติของฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ภาพ: Anwar Amro / AFP
อ้างอิง: