×

สำรวจหัวใจ เรียนรู้วิธีรับมือกับความสูญเสียในช่วงโควิด-19

โดย Psycholism
11.09.2021
  • LOADING...
cope with loss

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เมื่อเกิดความสูญเสีย ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองกับความเศร้า 5 ขั้น 1. การปฏิเสธ (Denial stage) 2. ความโกรธ (Anger stage) 3. การต่อรอง (Bargaining stage) 4. ความเศร้า (Depression stage) และ 5. การยอมรับ (Acceptance stage)
  • สิ่งที่หลายคนมัก ‘เข้าใจผิด’ คือขั้นเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับกัน และไม่ใช่ทุกคนหรือทุกครั้งจะต้องผ่านขั้นตอนทั้งหมด
  • สังเกตสัญญาณเตือนเพื่อปรับวิธีการรับมือ เพราะอาการอย่าง การมีปัญหาในการอยู่กับปัจจุบัน การมีสมาธิกับเรื่องต่างๆ หรือการนอนหลับยาก ตื่นบ่อยช่วงกลางคืน เพราะอาการเหล่านี้กำลังบอกว่าเรากำลังตกอยู่ใน Stage ใด Stage หนึ่งยาวนานเกินไป 
  • เมื่อการเดินทางพบปะผู้คนเพื่อปลอบประโลมทำได้ยาก การรับมือด้วยตัวเองจึงเป็นสิ่งที่พอทำได้ สิ่งสำคัญคือ ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพยายามเข้มแข็งในวันที่เรารู้สึกหมดแรง  
  • การรับมือของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ควรหาวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดกับตัวเอง และที่สำคัญหากต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก็สามารถทำได้เสมอ  

โควิด-19 นำพาความสูญเสียมามากกว่าที่เราเคยจินตนาการไว้ และมีแนวโน้มว่าจะยังมอบความสูญเสียให้กับพวกเราไปอีกอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่เฉพาะการเสียชีวิตของบุคคลใกล้ชิด แต่รวมถึงความสูญเสียเรื่องอื่นๆ เช่น การสูญเสียงาน โอกาส ความฝัน หรือสูญเสียสุขภาพของผู้ที่รอดชีวิตจากโรคนี้แต่ร่างกายอาจไม่ได้สมบูรณ์เต็มร้อยดังเดิม

 

การประสบกับความสูญเสียไม่ใช่เรื่องที่ทำใจได้ง่าย และนั่นยิ่งทำให้การเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันเป็นสิ่งสำคัญที่เราอยากนำมาแบ่งปันกับทุกคน เพื่อให้สามารถก้าวผ่านเหตุการณ์เหล่านี้และดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไม่โดดเดี่ยว 

 

เศร้าโศกเมื่อสูญเสีย

เราชวนทุกคนมาเริ่มด้วยการทำความเข้าใจปฏิกิริยาตอบสนองที่เราอาจมีต่อความสูญเสียต่างๆ อย่างเช่นความเศร้าโศกที่เกิดขึ้น Elisabeth Kübler-Ross จิตแพทย์ชาวสวิส พูดถึงกระบวนการความเศร้าโศกเป็น 5 ขั้น ดังนี้

 

  1. การปฏิเสธ (Denial stage): ภาวะช็อก ไม่เชื่อในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือปฏิเสธที่จะยอมรับความจริงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้น
  2. ความโกรธ (Anger stage): การเกิดความโกรธในจิตใจ สับสน ว้าวุ่น โทษสิ่งต่างๆ โยนความผิดให้สิ่งอื่น ผู้อื่น
  3. การต่อรอง (Bargaining stage): การอ้อนวอน ต่อรองบนบานกับสิ่งต่างๆ อย่างเช่น “ถ้าเขาฟื้นขึ้นมาได้ ฉันจะ…” หรือการเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น “ถ้าฉันไม่ออกไปข้างนอกวันนั้น มันก็คงไม่เป็นแบบนี้” เป็นขั้นที่เราอาจมีความหวังอยู่รางๆ แต่ในใจลึกๆ เราอาจจะทราบดีว่าความหวังนั้นไม่มีอยู่จริง
  4. ความเศร้า (Depression stage): การเกิดความเศร้าขึ้นเป็นสิ่งที่คนส่วนมากประสบเมื่อเกิดการสูญเสียขึ้น มีอาการของความรู้สึกเศร้าหมอง มึนเบลอ และยากที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรต่างๆ 
  5. การยอมรับ (Acceptance stage): ขั้นตอนสุดท้ายที่มักจะเกิดขึ้นคือการยอมรับว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น และเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ในขั้นนี้อารมณ์จะเริ่มมีความคงที่ขึ้นและจะเป็นจุดที่เราเริ่มนำตนเองกลับมาสู่ความจริงและก้าวต่อไปข้างหน้า เราไม่จำเป็นจะต้องมองหาด้านดีของสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงแต่ยอมรับว่ามันได้เกิดขึ้นแล้ว และเราจะใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า

 

สิ่งที่หลายคนมัก ‘เข้าใจผิด’ คือขั้นเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับกัน และไม่ใช่ทุกคนหรือทุกครั้งจะต้องผ่านขั้นตอนทั้งหมด สังเกตว่าในการสูญเสียบางครั้งที่มีการรู้ล่วงหน้าก่อนแล้ว เราอาจจะไม่มีความโกรธหรือการปฏิเสธ ทำให้เราเข้าสู่ขั้นตอนของการยอมรับได้เร็วขึ้น การจมอยู่กับขั้นตอนที่ไม่ใช่การยอมรับอาจไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเรานัก เราจึงควรพยายามสังเกตความรู้สึกและการตอบสนองของตัวเราต่อสิ่งที่เกิดขึ้น 

            

สังเกตสัญญาณเตือน

เมื่อเกิดความเศร้าและการสูญเสีย การแสดงออกของแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือการรู้ตัวเองและไม่ใช้บรรทัดฐานหรือการแสดงออกของตนเองไปตัดสินคนอื่น และในทางตรงกันข้าม ก็ไม่เอาการแสดงออกของคนอื่นมาตัดสินตัวเองด้วย ทุกคนมีวิธีจัดการกับการสูญเสียที่ต่างกัน ที่สำคัญคือหมั่นสังเกตตัวเอง แต่หากเราเริ่มมีอาการที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากๆ หรือมีอาการบางอย่างยาวนานและต่อเนื่อง มันอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีการรับมือหรือต้องหาตัวช่วยในการรับมือกับการสูญเสียนี้ เช่น

 

  • มีปัญหาในการอยู่กับปัจจุบันหรือการมีสมาธิกับเรื่องต่างๆ
  • นอนหลับยาก ตื่นบ่อยช่วงกลางคืน
  • ความอยากอาหารน้อยลงหรือทานอาหารมากผิดปกติ
  • พลังงานในแต่ละวันน้อยลง
  • รู้สึกสับสนและอารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วในแต่ละวัน
  • โต้เถียงกับคนอื่นบ่อยๆ
  • ทำพฤติกรรมบางอย่างมากเกินไป เช่น ดื่มหนัก นั่งหน้าทีวี หรือเล่น Social Media ทั้งวัน

 

สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างสัญญาณเตือนว่าเราอาจกำลังตกอยู่ในขั้นตอนการรับมือกับความสูญเสียขั้นใดขั้นหนึ่งนานเกินไป การตระหนักถึงสัญญาณเตือนเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับการรับมือกับความสูญเสีย เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงในตนเองในขั้นต่อๆ ไป

 

ปรับใจเพื่อรับมือกับความสูญเสีย

นอกจากจะหยิบยื่นความสูญเสียมาให้ สถานการณ์โรคระบาดนี้ก็ยังพรากกระบวนการในการรับมือกับความสูญเสียไปจากเรา ถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติ เราอาจมีโอกาสได้อยู่กับคนที่เรารักในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต และอาจมีพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ช่วยในการรับมือกับความสูญเสียโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการพบปะของญาติพี่น้องที่ทำให้ผู้สูญเสียไม่รู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียว หรือการมีเวลาให้ได้ซึมซับกับความสุญเสียสักระยะ 

 

แต่ทุกวันนี้การเดินทางพบปะกันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย และความสะดวกใจก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ทำให้วิธีการรับมือกับความสูญเสียแบบที่เราคุ้นชินอาจไม่สามารถทำได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย สำรวจอาการของตัวเองแล้วลองทำสิ่งเหล่านี้ดู

 

  • ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพยายามเข้มแข็งในวันที่เรารู้สึกหมดแรง
  • รับรู้ว่าความรู้สึกของเราเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดที่เราจะเสียใจหรืออ่อนแอ
  • พยายามใช้ชีวิตประจำวันต่อไป แม้ว่าหยุดจากงานแต่ต้องไม่ลืมที่จะดูแลเรื่องการกิน การนอนของเราให้พอเหมาะ การทำสิ่งต่างๆ จะช่วยปรับอารมณ์ของเราให้ดีขึ้นได้
  • ไม่หลุดการเชื่อมต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูง หาเวลาพูดคุยเรื่องทั่วไปกับเพื่อนๆ หรือครอบครัว เราสามารถหาคนที่ไว้ใจและแชร์ความรู้สึกของเราได้บ้างเมื่อเราพร้อม
  • ลดการเสพข่าวจากแหล่งต่างๆ ลง เพราะข่าวสารทุกวันนี้มักมีเหตุการณ์สะเทือนใจและสลดหดหู่ การหยุดพักจากข่าวสารในลักษณะนี้บ้างจะเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตโดยรวมของเรา
  • สร้างบันทึกความทรงจำหรือทำกิจกรรมระลึกถึงผู้เสียชีวิต เช่น การนึกถึงบุคคลที่เสียชีวิตไปด้วยความทรงจำที่ดี ประกอบพิธีกรรมอย่างที่เราเชื่อ หรือแม้กระทั่งการพยายามหารูปเก่าๆ ของผู้เสียชีวิตมาใส่กรอบ 
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นหากความรู้สึกต่างๆ มันท่วมท้น หรือมีความรู้สึกว่าเราจมอยู่กับมันมากเกินไป 

 

เราย้ำอีกครั้งว่าการรับมือของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขอเพียงวิธีการเหล่านั้นไม่ทำร้ายคนรอบข้างหรือก่อให้เกิดปัญหาต่อตัวเองและสังคม การหาวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำไว้เสมอว่าการช่วยเหลือตนเองก่อนช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากในสถานการณ์อย่างนี้ แบบเดียวกับเวลาที่เราขึ้นเครื่องบินแล้วพนักงานต้อนรับสอนให้เราสวมหน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองก่อนเสมอเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะเมื่อเราแข็งแรงพอ เราจะสามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับคนอื่นได้อย่างมั่นคง

 

สุดท้ายนี้หากรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หมดพลัง ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ หรือติดอยู่ในวงวันของความเศร้ามากๆ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เชี่ยวขาญตามนี้ได้โดยไม่เสียค่าบริการ

 

  1. สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
  2. สมาคมสมาริตันส์แห่งประเทศไทย 0 2713 6793 (ไทย), 0 2713 6791 (Eng)
    เวลา 12.00-22.00 น.
  3. แชตออนไลน์ โครงการ Here to Heal https://lin.ee/P77s2bW เวลา 10.00-20.00 น.
  4. Childline Thailand Foundation ให้คำปรึกษาเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี โทร. 1387 ตลอด 24 ชั่วโมง
  5. Depress We Care ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้า โทร 08 1932 0000 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X