ย้อนไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ‘Lazada ประเทศไทย’ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อ ‘วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย’ ที่ทำงานอยู่ในองค์กรมา 8 ปี ถูกขยับให้ขึ้นมานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อนำทัพในวันที่ตลาดอีคอมเมิร์ซกำลังสดใสมากๆ ในบ้านเรา
เรื่องนี้สะท้อนได้จากการที่ Lazada ระบุถึงอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทยว่ามีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ไทยเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากอินโดนีเซีย ด้วยอัตราการเติบโต 20% เทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค โดยมีมูลค่า 9.8 แสนล้านบาท
ตัวเลขที่หอมหวานย่อมดึงดูดให้มีผู้เล่นรายอื่นอยากเข้ามาแบ่งก้อนเค้ก แม้จะมีผู้ที่ล้มตายไปหลายรายจากตลาดการแข่งขันที่ดุเดือดก็ตาม ซึ่งคู่แข่งหน้าใหม่ล่าสุดคือ Temu ผู้ถือกำเนิดมาจากการแข่งขันสุดหฤโหดในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซจีน โดยเป็นบริษัทที่แยกตัวจาก Pinduoduo (PDD) ซึ่งเป็นบริษัทที่กล้าท้าทายยักษ์ใหญ่เช่น Alibaba (บริษัทแม่ของ Lazada) ในเวลาเพียงไม่กี่ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Temu แอปช้อปปิ้งยักษ์จากจีนได้เวลาบุกไทย! พ่อค้าแม่ค้าอีคอมเมิร์ซไทยเตรียมรับมือสึนามิสินค้าราคาถูก
- ‘แคมเปญดับเบิลเดย์’ ไม่ขลังอีกต่อไป เมื่อคนสั่งออนไลน์ได้ทุกวัน! ‘Lazada’ เปิดเกมรุกงัดสารพัดฟีเจอร์มัดใจลูกค้า
- ไม่ค่อยพึ่ง Google แล้ว ‘Lazada’ พบผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 57% ค้นหาสินค้าโดยตรงบนแพลตฟอร์ม
- SMEs ใกล้ตาย สินค้าจีนถล่มไทย แต่ไร้รัฐเหลียวแล? I Exclusive Interview EP.2
Temu เข้ามาโดยนำเสนอโมเดลธุรกิจที่เน้นราคาต่ำสุดด้วยการขายสินค้าตรงจากโรงงานและประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบเกม ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในสหรัฐฯ และกว่า 45 ประเทศทั่วโลก
โดยเฉพาะในสหรัฐฯ สร้างแรงกระเพื่อมถึงเจ้าตลาดในถิ่นทันที ภายในไม่กี่เดือน Temu กลายเป็นแอปช้อปปิ้งที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุด ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ เช่น Amazon ต้องตั้งใจแข่งอย่างจริงจังกว่าเดิม เพราะมีงานวิจัยที่ระบุว่าลูกค้าใช้เวลาบน Temu มากกว่า Amazon เสียด้วยซ้ำ
แน่นอนการเข้ามาของ Temu ย่อมเป็นคู่แข่งกับ Lazada และเป็นหน้าที่อันท้าทายของ ‘วาริสฐา’ ที่ถือเป็นแม่ทัพในการรับมือ แต่เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้เธอกลับบอกแค่เพียงว่า “เมื่อมีการแข่งขันผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่สุดย่อมเป็นลูกค้า” ซึ่งเป็นคำพูดส่วนหนึ่งของการตอบคำถามสั้นๆ ราว 10 กว่านาทีเท่านั้นต่อสื่อมวลชน ในงานแถลงถึงทิศทางธุรกิจในวันนี้ (20 กันยายน)
ในงานดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกพูดถึงการที่ Lazada อยู่ในตลาดอีคอมเมิร์ซมากว่า 12 ปีแล้ว โดยการมีเบื้องหลังเป็น Alibaba ในฐานะบริษัทแม่ทำให้มีความได้เปรียบของระบบอีโคซิสเต็ม ซึ่งมีส่วนให้บริษัทเติบโตขึ้น สะท้อนได้จากสถานะกำไรจากการดำเนินธุรกิจหรือ EBITDA ใน 6 ประเทศของ Lazada Group ที่มีผลเป็นบวกครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2567
“ความสำเร็จดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการปรับกระบวนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นของ Lazada” วาริสฐาระบุ
แม่ทัพ Lazada ประเทศไทยระบุถึงอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทย ซึ่งคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเห็นตัวเลขการเติบโตเป็นดับเบิลดิจิตอยู่ เพราะผู้บริโภคในไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตได้ครอบคลุมมากกว่าประเทศอื่น ทำให้มีการใช้บริการอีคอมเมิร์ซค่อนข้างมาก
อีกหนึ่งเทรนด์ที่ช่วยผลักดันให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยสดใสมากขึ้นนั้น มาจากการขับเคลื่อนของนักช้อปผู้หญิง และ Gen Z ที่หันมาซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มมากขึ้น ข้อมูลของ Lazada พบว่า 35% ของลูกค้า Gen Z ยังรับหน้าที่สั่งซื้อสินค้าให้กับคนในครอบครัวไปด้วย โดยกลุ่มสินค้ายอดฮิต ได้แก่ กลุ่มความงาม เครื่องสำอาง และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ
วาริสฐาระบุถึงกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานของ Lazada ที่ยังเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ 3 ด้าน เริ่มตั้งแต่ การตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราการซื้อซ้ำและความเหนียวแน่นของนักช้อป โดยสร้างความแตกต่างในหมวดหมู่สินค้าพรีเมียม แฟชั่น และความงาม ซึ่งเป็นจุดแข็งของแพลตฟอร์ม เห็นได้จากยอดขายรวมของ LazMall ในช่วงเมกะแคมเปญ ซึ่งก้าวกระโดดมากกว่า 7 เท่าเมื่อเทียบกับวันปกติ ในขณะที่ LazBEAUTY มีจำนวนสมาชิกในไทยกว่า 1 ล้านราย
ในโค้งสุดท้ายของปี 2567 Lazada จะเสริมความแข็งแกร่งของ LazMall ผ่านการขยายพันธมิตรแบรนด์เอ็กซ์คลูซีฟ และรุกเซ็กเมนต์สินค้าลักชัวรี ผ่านหมวดสินค้า LazMall Premium Brand นอกจากนี้ ยังตอกย้ำ LazLOOK ในฐานะจุดหมายสินค้าแฟชั่นผ่านแคมเปญรายสัปดาห์
ตามด้วยกลยุทธ์ที่ 2 ลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างเครื่องมือ AI เข้ามาสนับสนุนแคมเปญต่างๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่สะท้อนถึงความสำเร็จได้ คือฟีเจอร์ถามผู้ใช้งานจริง (Ask the Buyer) ซึ่งนำ AI มาช่วยตั้งคำถามให้ผู้ซื้อรายก่อนๆ มาร่วมรีวิวสินค้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้อรายใหม่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ยังยกระดับของ Gamification ซึ่งปัจจุบันมีผู้เล่น LazGame กว่า 1 ล้านคนต่อวัน และ 82% กลับมาใช้แอปซ้ำทุกวัน และใช้เวลาบนแอปนานกว่า 3 เท่าของค่าเฉลี่ยแพลตฟอร์ม
ส่วนกลยุทธ์สุดท้าย สนับสนุน SMEs ไทยผ่านการออกแบบ Seller Packages ให้ตอบโจทย์ร้านค้า รวมถึงเครื่องมือให้ปรับแต่งรูปภาพ และมี Chatbot เข้ามาช่วยตอบแชตทั้งหมด ล้วนเป็นการส่งเสริมการขายให้ร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มเติบโตไปพร้อมๆ กัน