×

‘แคมเปญดับเบิลเดย์’ ไม่ขลังอีกต่อไป เมื่อคนสั่งออนไลน์ได้ทุกวัน! ‘Lazada’ เปิดเกมรุกงัดสารพัดฟีเจอร์มัดใจลูกค้า ย้ำแม้คู่แข่งหายก็ไม่ได้ทำให้สงครามเปลี่ยน

02.03.2023
  • LOADING...
Lazada

‘Lazada’ ประเทศไทย เปิดเกมรุก งัดสารพัดฟีเจอร์-เพิ่มประสบการณ์ใหม่ พร้อมโหมแคมเปญยิงยาว 11 วัน หวังกระตุ้นการสั่งซื้อออนไลน์ พร้อมเผยตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2566 มีโอกาสโต 13% ท่ามกลางการแข่งขันสูง แม้ผู้เล่นค่ายใหญ่ถอนตัวออกจากตลาด ย้ำไม่แข่งสงครามราคา แต่เน้นเพิ่มประสบการณ์ใหม่ 

 

หากพูดถึง ‘แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ’ หนึ่งในธุรกิจที่มีผู้เล่นรายใหญ่ๆ ที่มีอยู่ไม่กี่เจ้า และมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมาตลอด จนกระทั่งคู่แข่งอย่าง ‘JD CENTRAL’ ถอนตัวออกจากตลาดไป ทำให้เหลือผู้เล่นแค่ 2 ราย และหนึ่งในนั้นคือผู้เล่นหลักอย่าง Lazada ได้เร่งเครื่องลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์ม พร้อมจัดแคมเปญใหญ่ๆ ดึงลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ธนิดา ชุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ทำให้หลายๆ ธุรกิจเริ่มได้รับสัญญาณบวก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่นเดียวกับตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย แม้ในช่วงแรกที่หลังจากเปิดประเทศ หลายๆ คนได้กระจายตัวไปซื้อสินค้าในช่องทางอื่นๆ ทำให้สัดส่วนการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ลดลงบ้างเล็กน้อย 

 

จากผลสำรวจของ Lazada  พบว่า เมื่อทุกอย่างเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปี 2566 ผู้บริโภคยังคุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม โดย 74% สั่งซื้อ 1 ครั้งต่อเดือน และอีก 25% ซื้อสินค้าออนไลน์หลายครั้งต่อสัปดาห์  

 

ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมการสั่งสินค้าส่วนใหญ่จะไม่รอซื้อผ่านแคมเปญใหญ่ หรือแคมเปญ Double-Digit  (แคมเปญเลขคู่) เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากปัจจุบันมีโปรโมชันหลากหลายมากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเทศกาล เช่น วาเลนไทน์และตรุษจีนที่ผ่านมา พร้อมยังพบว่าผู้บริโภคเริ่มหันมานิยมสินค้าแบรนด์พรีเมียมมากขึ้น เช่น สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีราคาค่อนข้างสูง

 

ยักษ์อีคอมเมิร์ซ ย้ำไม่แข่งสงครามราคา เน้นสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า

สำหรับภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2566 มูลค่า 6 แสนล้านบาท มีโอกาสเติบโตขึ้นกว่า 13% เพราะยังคิดเป็นสัดส่วนเพียง 16% ของมูลค่าตลาดรวมค้าปลีก และยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจีนที่ตัวเลขพุ่งสูงไปถึง 30%

 

แน่นอนว่าการแข่งขันยังสูงเหมือนเดิม แม้จะมีผู้เล่นในตลาดอย่าง ‘JD CENTRAL’ ได้ถอนตัวออกไปในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ หลังทำตลาดมาราว 5 ปีด้วยกัน โดยมีรายงานว่า การที่ JD.com, Inc. ยักษ์อีคอมเมิร์ซเบอร์ 2 ของแดนมังกร ประกาศยุติกิจการร่วมทุนใน 2 ประเทศพร้อมกันคือไทยและอินโดนีเซีย เป็นผลมาจากการเปลี่ยนกลยุทธ์ในต่างประเทศไปสู่บริการซัพพลายเชนและโลจิสติกส์

 

กระนั้นคู่แข่งที่ลดลงก็ไม่ได้ทำให้ภาพการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไป แต่ที่เห็นได้ชัดคือ จากนี้จะไม่มีการแข่งขันสงครามราคา แต่หันมาแข่งในแง่ของการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค

 

โดยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซในไทยจะเพิ่มขึ้น 61.8% หรือ 43 ล้านคน ภายในปี 2568 เช่นเดียวกับ Lazada ในปีที่ผ่านมา มีจำนวนใช้บริการและผู้ขายบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

 

เดินหน้าลงทุนอย่างระมัดระวัง หวั่นสถานการณ์ไม่แน่นอน 

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2566 Lazada ให้ความสำคัญกับ 3 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1. เสนอการบริการที่แตกต่างให้ผู้ซื้อขายรู้สึกสะดวกและปลอดภัย ตามด้วย 2. สร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มให้มีความหลากหลาย อย่างการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น LazBEAUTY ศูนย์รวมสินค้าแฟชั่นและความงาม ตามด้วย LazLive ถ่ายทอดสดสินค้า รวมถึงที่เพิ่งเปิดตัวคือ Try & Buy โปรแกรมที่เปิดให้รับสินค้าไปทดลองใช้ก่อน และ LazPayLater ฟีเจอร์การชำระเงิน ซื้อสินค้าก่อนจ่ายทีหลัง ทั้งนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างครอบคลุม รวมถึง 3. ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี ต่อจากนี้จะมีการลงทุนอีโคซิสเต็มมากขึ้น เพื่อรองรับวอลุ่มในตลาด และยังสามารถเชื่อมโยงไปยังผู้ซื้อและผู้ขายได้ 

 

ทั้งนี้ Lazada ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนแบบระมัดระวัง และวางแผนระยะยาวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะการระบาดของโควิดเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่า การปรับตัวเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนหรือสถานการณ์ที่มีความท้าทายมีความสำคัญอย่างมาก 

 

โหมแคมเปญใหญ่ยิงยาว 11 วัน กระตุ้นยอดสั่งซื้อออนไลน์

พร้อมกันนี้ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการจัดแคมเปญ ล่าสุดเตรียมเปิดตัวแคมเปญเซลใหญ่จัดเต็ม 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 3-13 มีนาคม 2566 เพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผลประกอบการปี 2565 ของบริษัท ลาซาด้า จำกัด มีรายได้ 20,675 ล้านบาท กำไร 413 ล้านบาท ถ้าเทียบกับปี 2564 ทำกำไรได้ 226.9 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ขาดทุนไปถึงเกือบ 4 พันล้านบาท เรียกว่ายังพลิกกลับมาทำกำไรได้ แต่โดยภาพรวมยังขาดทุนสะสมอยู่ 

 

ทำให้วันนี้เป้าหมายใหญ่ของ Lazada ต้องการต่อยอดความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทย รวมถึงสร้างการเติบโตให้ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้โจทย์สำคัญคือ การรักษาคู่ค้า และขยายฐานลูกค้าใหม่ไปพร้อมกัน 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising