จากกรณีกรมการขนส่งทางบก เตรียมแก้กฎหมายจัดระเบียบใบขับขี่ โดยจะเพิ่มโทษหนักกับผู้ขับรถไม่มีใบขับขี่ จำคุก 3 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะตามสื่อสังคมออนไลน์ โดยหลายคนมองว่าเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไป และอาจเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุจริตนั้น
วันนี้ (24 ส.ค. 61) เวลา 10.00 น. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ร่วมกับ กรมขนส่งทางบก แถลงกรณีร่างกฎหมาย ที่เพิ่มโทษกับผู้ขับขี่ ที่ห้องแถลงข่าว ตร.
โดยนายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก กล่าวว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่เกิดจากการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. รถยนต์ และ พ.ร.บ. ขนส่งทางบก เข้าด้วยกัน
ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.บ. รถยนต์ บังคับใช้กับรถยนต์ทั่วไป รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ ขณะที่ พ.ร.บ. ขนส่งทางบก มีไว้บังคับใช้กับรถยนต์ขนาดใหญ่เพื่อการพาณิชย์
รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก อธิบายว่า บทลงโทษกรณีไม่มีใบอนุญาตขับขี่ตาม พ.ร.บ. ขนส่งทางบก นั้นมีอัตราโทษที่สูงอยู่แล้ว คือจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ส่วนบทลงโทษกรณีไม่มีใบอนุญาตขับขี่ตาม พ.ร.บ. รถยนต์ คือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 พันบาท
ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งเป็นการบูรณาการกฎหมาย 2 ฉบับเข้าด้วยกัน จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษโดยคำนึงถึงฐานความผิดกับกฎหมายเดิม
สำหรับร่างกฎหมายฉบับใหม่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเข้าพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหากผ่านการพิจารณาแล้ว จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้หลังประกาศแล้ว 1 ปี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตัว และเผยแพร่ข้อมูลต่อประชาชน
ส่วนข้อกังวลกรณีการเพิ่มโทษแล้วอาจเปิดช่องให้ตำรวจใช้ในการทุจริตนั้น รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก ยืนยันว่าตามร่างกฎหมายฉบับใหม่ หากมีการบังคับใช้กรณีความผิดฐานไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ตำรวจไม่มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับ แต่ต้องทำสำนวนส่งอัยการเพื่อยื่นฟ้องศาล โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินอัตราโทษ
ขณะที่ พล.ต.ต. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะทำงาน แก้ไขปัญหาจราจร ยืนยันว่ากรณีความผิดที่โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือความผิดลหุโทษเจ้าพนักงานมีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับ แต่กรณีโทษตามร่างกฎหมายฉบับใหม่ เจ้าพนักงานเปรียบเทียบปรับไม่ได้ ต้องทำสำนวนส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น
ยืนยันว่าตำรวจเห็นด้วยกับแนวทางการลงโทษกรณีไม่มีใบขับขี่ต้องส่งฟ้องศาล โดยที่ผ่านมาการเปรียบเทียบปรับ เมื่อดำเนินการเสร็จก็กลับไปขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ต่อ ซึ่งการปรับในชั้นตำรวจทำมา 39 ปีแล้ว เห็นผลชัดเจนว่าไม่สามารถลดการกระทำผิดและส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยข้อมูลว่าประเทศไทยมีสถิติอุบัติเหตุของคนที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่สูงมาก โดยจากสถิติจะพบว่ากลุ่มคนที่มีใบขับขี่จะเกิดอุบัติเหตุน้อยลง 30% เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่มีใบขับขี่
โดยจากผลสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์กว่า 30% ไม่มีใบขับขี่ ขณะที่ผู้ขับขี่รถยนต์ที่ไม่มีใบขับขี่มีอยู่ประมาณ 9% ส่วนผู้ขับขี่รถยนต์กระบะที่ไม่มีใบขับขี่มีอยู่ประมาณ 5%
นพ.ธนะพงศ์ ยืนยันว่าตนเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันการแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากลและผลการศึกษาตามหลักวิชาการ ไม่ใช่เพิ่งไปหาข้อมูลมาสนับสนุนหลังเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมออนไลน์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์