×

ลอว์เรนซ์ หว่อง กับอนาคตสิงคโปร์ ท่ามกลางการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ

17.05.2024
  • LOADING...
ลอว์เรนซ์ หว่อง กับอนาคต สิงคโปร์

ลอว์เรนซ์ หว่อง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ ร่วมพิธีสาบานตนและเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนที่ 4 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจนำครั้งสำคัญในรอบกว่า 20 ปีของสิงคโปร์ 

 

ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า สิงคโปร์ภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ รวมถึงจุดยืนของสิงคโปร์ต่ออาเซียนและชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะเป็นอย่างไรนับจากนี้

 

จุดยืนของ หว่อง

 

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ระบุว่า แนวทางการบริหารประเทศของเขาจะแตกต่างจากบรรดาผู้นำรุ่นก่อนๆ โดย ลอว์เรนซ์ หว่อง จะเป็นผู้นำสิงคโปร์ในแบบของตัวเขาเอง 

 

หว่องยอมรับว่าเขาก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสิงคโปร์ท่ามกลางกระแสความท้าทายและผันผวนมากมายจากภายนอกประเทศ สิงคโปร์จะต้องปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงเหล่านี้ โดยเฉพาะโลกที่มีแนวโน้มจะวุ่นวายยิ่งขึ้น เสี่ยงมากขึ้น และรุนแรงยิ่งขึ้น

 

ผู้นำคนใหม่ของสิงคโปร์ยังเชื่อว่า จุดยืนระหว่างประเทศของสิงคโปร์อยู่ในระดับสูงและเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก โดยสิงคโปร์พร้อมเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์และร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและจีนต่อไป แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม

 

อนาคตสิงคโปร์ภายใต้ผู้นำคนใหม่

 

ศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นกับ THE STANDARD ว่า สิงคโปร์ต่อจากนี้จะให้ภาพของ ‘ความต่อเนื่อง’ จากรัฐบาลชุดเก่าที่ถือว่าพัฒนาและบริหารประเทศมาได้อย่างดี และภาพของ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่จะเห็นได้ชัดจากการมี ‘ผู้นำรุ่นใหม่’ ที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาที่นั่ง ฐานเสียง และกอบกู้ภาพลักษณ์ของพรรค PAP หลังมีกระแสข่าวพัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชันของสมาชิกพรรค

 

ในมิติเศรษฐกิจ สิงคโปร์ภายใต้การนำของ ลอว์เรนซ์ หว่อง จะมุ่งเน้นการผลักดัน ‘ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม’ (Innovation Economy) ควบคู่ไปกับนโยบายสีเขียวและการพึ่งพาพลังงานสะอาดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) พร้อมกับเร่งแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและปัญหาค่าครองชีพที่มีราคาแพงมาก จนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

ด้าน รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สิงคโปร์จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เพราะ ลอว์เรนซ์ หว่อง ก็อยู่ในทีมยุทธศาสตร์เดิมของสิงคโปร์อยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนคือ รัฐบาลใหม่ของสิงคโปร์จะ ‘รับฟังเสียงของประชาชน’ (Consultative Government) เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและประชาชนมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น 

 

รัฐบาลใหม่ของสิงคโปร์เชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ทำให้รัฐบาลรับรู้ถึงความต้องการของประชาชน ซึ่งมีส่วนช่วยให้รัฐบาลคิดและดำเนินนโยบายที่ตรงจุดและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง เพื่อปูทางไปสู่การสร้างสังคมที่โอบรับความหลากหลาย (Inclusive Society) และสร้างการยอมรับ (Consensus) ในสังคมสิงคโปร์

 

สิงคโปร์กับการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ

 

ศ.ดร.กิตติ เชื่อว่าสิงคโปร์น่าจะยังดำเนินนโยบายที่ ‘รักษาสมดุล’ (Balance) ระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังคงแข่งขันกันแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง และสร้าง ‘ความเชื่อมโยง’ (Linkage) ระหว่างสิงคโปร์และมหาอำนาจทั้งสองผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการค้าเสรี เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีน ต่างเป็นคู่ค้าและนักลงทุนที่สำคัญของสิงคโปร์ 

 

สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.ปิติ ที่เชื่อว่าแนวทางของสิงคโปร์ต่อเพื่อนบ้านในอาเซียนและชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน นั้นจะยังคงเหมือนเดิมเช่นทุกครั้งนั่นคือ ‘การเป็นเพื่อนกับทุกฝ่าย’ พร้อมเดินหน้าเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาวสิงคโปร์ (Pro-Singapore)

 

ดังนั้นภาพที่เราเคยเห็นว่าสิงคโปร์เป็นลูกน้องหรือเอนเอียงไปหาสหรัฐฯ เช่นในอดีตนั้นอาจจะลดลงและถูกแทนที่ด้วยภาพของการเป็น ‘คนกลาง’ ที่พูดคุยได้กับทั้งสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจุดนี้ ศ.ดร.กิตติ มองว่า ‘การกล้าพูดอย่างตรงไปตรงมา’ กับบรรดาชาติมหาอำนาจ เป็นสิ่งหนึ่งที่ ลีเซียนลุง อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ทำได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งทางด้านการต่างประเทศให้กับผู้นำสิงคโปร์ตลอดช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้สิงคโปร์ที่เป็นเพียงประเทศเกาะขนาดเล็กสามารถ ‘ขึ้นชกเกินพิกัด’ ของตนเองได้ เป็นอีกหนึ่งจุดที่หว่องอาจเรียนรู้และปรับใช้ได้จากบทบาทการทำงานของลีเซียนลุง

 

ภาพ: Edgar Su / Pool / Reuters

อ้างอิง: 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X