ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพิจารณาว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ควรเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเท่าไร ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 21-22 มีนาคมนี้
“Fed พยายามดึงเบรก แต่ดูเหมือนว่าเบรกยังไม่ถูกดึงแรงพอ” ซัมเมอร์สกล่าว พร้อมทั้งแนะว่า “Fed ควรต้องดูสถานการณ์ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างมาก และควรหลีกเลี่ยงการผูกมัดตัวเองด้วยคำประกาศที่รุนแรง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมกราคมเพิ่ม 0.5% อยู่ที่ 6.4% ซึ่งสูงกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดหุ้นถูกเทขายทันที
- เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมกราคมส่งสัญญาณชะลอตัว แต่ราคาสินค้าและค่าเช่าบ้านยังแพงขึ้น ยังเป็นปัจจัยกดดัน
- เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ Technical Recession? หลังสภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 4 ปี 65 ติดลบจากไตรมาสก่อน
ความเห็นครั้งนี้ของซัมเมอร์สเกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อน ขณะที่รายงานการจ้างงานในเดือนมกราคมยังแสดงให้เห็นว่า นายจ้างยังจ้างงานเพิ่มขึ้นอยู่ ทำให้จำนวนผู้หางานยังคงต่ำกว่าจำนวนตำแหน่งงานว่างที่มีอยู่มาก
ซัมเมอร์สกล่าวอีกว่า ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับ Consensus ของตลาดที่มองว่า Fed จะปรับขึ้นอีก 0.25% ก่อนจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว โดย Fed มีโอกาสที่จะใช้เวลานานขึ้นในการอัตราดอกเบี้ยไปสู่จุดสูงสุด (Peak) หรือ Fed อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
“มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นว่า Fed จะยังเดินทางไปไม่ถึง Terminal Rate ในอีกหลายเดือนข้างหน้า และก็มีความเป็นไปได้ว่า Fed อาจจะต้องกลับไปเหยียบเบรกให้หนักขึ้นกว่า 0.25%” ซัมเมอร์สกล่าว
มุมมองต่อนโยบายการคลังสหรัฐฯ
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า ประมาณการเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณล่าสุดของสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ โดยสำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรส (CBO) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ‘น่ากังวล’ พร้อมคาดว่า แนวโน้มที่แท้จริงอาจเลวร้ายยิ่งกว่านั้น
ทั้งนี้ CBO คาดการณ์ว่า การขาดดุลงบประมาณในปี 2023 นั้นแย่กว่าที่คาดการณ์เดิมเมื่อเดือนพฤษภาคม ‘อย่างมาก’ อยู่ที่ 1.41 ล้านล้านดอลลาร์ จาก 4.26 แสนล้านดอลลาร์
พร้อมคาดการณ์อีกว่า หนี้สาธารณะสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 46 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2033 (หรืออีก 10 ข้างหน้า) คิดเป็น 118% ของ GDP นับเป็นระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
โดยซัมเมอร์สยังอธิบายถึงเหตุผล 3 ประการว่า ทำไมสถานะการคลังของสหรัฐฯ อาจเลวร้ายขึ้น ได้แก่
- การคาดการณ์ของ CBO สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่ 2.5% โดยไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นคาดการณ์ที่กว้างมากเกินไป
- สมมติฐานเกี่ยวกับการใช้จ่ายด้านกลาโหมอาจต่ำเกินไป เนื่องจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ‘อย่างมาก’ เนื่องจากภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงขึ้น
- CBO สันนิษฐานว่า มาตรการลดภาษีในปี 2017 ที่บังคับใช้โดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะหมดอายุตามกำหนดปัจจุบันในปี 2025 ไม่น่าจะเกิดขึ้น
อ้างอิง: