วันนี้ (10 ธันวาคม) จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้กรมการขนส่งทางบกเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล ร่วมกันสร้างวินัยและความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนน
ล่าสุด กรมการขนส่งทางบกได้ออกระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
โดยมีเงื่อนไขให้ประชาชนสามารถส่งพฤติการณ์การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งครอบคลุมการกระทำผิดของรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ ทุกประเภท โดยจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50% หลังหักเงินนำส่งรายได้แผ่นดินแล้ว วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างวินัยและความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนน ผู้ขับรถตระหนักและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนนอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ อัตราค่าปรับความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ตั้งแต่ 500-5,000 บาท ความผิดที่มีอัตราค่าปรับสูง ได้แก่ ดัดแปลงมิเตอร์ กระทำลามกอนาจาร ทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง เก็บค่าโดยสารเกิน ขับรถโดยประมาทหวาดเสียว ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ฯลฯ
ส่วนอัตราค่าปรับความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท ความผิดที่มีอัตราค่าปรับสูง ได้แก่ ค่าควันดำเกินที่กฎหมายกำหนด เก็บค่าโดยสารเกินที่กฎหมายกำหนด บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร จอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางโดยไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณ ไม่ใช้อุปกรณ์ล็อกตู้บรรทุกสินค้า สูบบุหรี่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ติดตั้งสปอตไลต์ ต่อเติมตัวถังเพื่อใช้บรรทุกสิ่งของซึ่งก่อให้เกิดอันตราย ฯลฯ โดยอัตราค่าปรับนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจ องค์ประกอบของพฤติการณ์และความรุนแรง การกระทำความผิดซ้ำซาก และความผิดนั้นส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กรมการขนส่งทางบกดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยค่าปรับส่วนแรกนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ส่วนที่เหลือจะนำมาจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และมอบให้ผู้แจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิด โดยการจ่ายเงินส่วนแบ่งค่าปรับให้ผู้แจ้งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- พฤติการณ์การกระทำความผิดที่แจ้งต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ครบถ้วน เช่น ภาพหรือคลิปวิดีโอ ต้องบันทึกการกระทำความผิดที่ชัดเจน วัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ รายละเอียดรถ ทะเบียนรถ และอื่นๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามได้อย่างรวดเร็ว และผู้แจ้งต้องระบุชื่อและนามสกุลของผู้แจ้ง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ ช่องทางการติดต่อให้ชัดเจน โดยข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกปกปิดเป็นความลับ
- ช่องทางในการติดต่อ เมื่อรวบรวมหลักฐานครบถ้วนแล้ว สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สายด่วน 1584, LINE@: @1584DLT, Facebook: 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ, เว็บไซต์ ins.dlt.go.th/cmpweb หรือ www.dlt.go.th, Email: [email protected], เดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง หรือร้องเรียนผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ GECC 1111 ทำเนียบรัฐบาล และ GECC กรมการขนส่งทางบก
- ผู้แจ้งจะได้รับข้อความ SMS ยืนยันการรับแจ้งเรื่องร้องเรียน
- กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการตามกระบวนสืบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้แจ้ง โดยเรียกตัวผู้ถูกร้องเรียนมารายงานตัวและสอบสวนจนได้ข้อยุติ
- การรับเงินส่วนแบ่งจะได้รับภายหลังจากที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับแล้ว จะมีข้อความ SMS ส่งให้ผู้แจ้งทราบผลการดำเนินการ และจะดำเนินการโอนเงินส่วนแบ่งค่าปรับภายใน 15 วันทำการ
อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบกขอเชิญชวนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้บริการรถสาธารณะร่วมส่งเบาะแสพฤติการณ์การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ครอบคลุมการกระทำผิดของรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ ทุกประเภท เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างวินัยและความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก www.dlt.go.th
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล