วานนี้ (25 เมษายน) ที่จังหวัด เพชรบูรณ์ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กมธ.การที่ดินฯ) สภาผู้แทนราษฎร นำโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ, เบญจา แสงจันทร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส. ภูเก็ต พรรคก้าวไกล, สมชาติ เตชถาวรเจริญ สส. ภูเก็ต พรรคก้าวไกล และ ทรงยศ รามสูต สส. น่าน พรรคเพื่อไทย ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เปิดเวทีรับฟังปัญหาประชาชนในหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารพิษจากอุตสาหกรรมในพื้นที่
โดยในช่วงเช้าได้มีการเปิดเวทีที่วัดม่วงชุมศิริโรจน์ ตำบลคลองกระจัง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมรับฟังปัญหาจากประชาชนบ้านม่วงชุมกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการจัดการกากอุตสาหกรรมและหลุมฝังกลบขยะของบริษัท เอกอุทัย จำกัด ที่นำไปสู่การปนเปื้อนของสารพิษสู่ชุมชน
เวทีเริ่มต้นด้วยการสะท้อนปัญหาจากตัวแทนชาวบ้านถึงสถานการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยระบุว่า การประกอบกิจการของโรงงานดังกล่าวที่ผ่านมาทำให้สารเคมีไหลลงมาสู่แหล่งน้ำและปนเปื้อนเข้าสู่อากาศ ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วทั้งชุมชน ผลจากการต่อสู้ร้องเรียนของประชาชนได้นำไปสู่การเข้าตรวจสอบโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จนเป็นที่พิสูจน์แล้วว่ามีการปนเปื้อนของมลพิษเกิดขึ้นจริง แต่แม้ปัจจุบันโรงงานจะถูกสั่งปิดไปโดยคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว แต่ยังคงไม่มีการรับผิดชอบแก้ปัญหาในระยะยาว
และชาวบ้านยังมีความกังวลว่า การปิดโรงงานครั้งนี้อาจเป็นเพียงการปิดเพื่อบังหน้า และบริษัทเดิมอาจเปลี่ยนชื่อมาตั้งโรงงานประกอบกิจการใหม่อีกครั้งหรืออาจจะยังมีการลักลอบประกอบกิจการอยู่ เพราะผลกระทบยังคงมีอยู่อย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งกังวลว่าอาจจะไม่มีการอนุมัติงบประมาณการฟื้นฟูแก้ไขในระยะยาว และเหตุใดจึงไม่มีการสั่งให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
พูนศักดิ์ระบุว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามกรอบระยะเวลาของคำสั่งศาลปกครอง และแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาปริมาณก๊าซที่เกิดขึ้นจากบ่อฝังกลบเพื่อนำไปกำจัด และแก้ไขปัญหาบ่อฝังกลบเบื้องต้นด้วยการปิดคลุมด้วยแผ่นพลาสติกที่มีความหนาเพียงพอ เพื่อป้องกันการชะล้างจนปนเปื้อนไปสู่ภายนอก
ส่วนระยะต่อไปต้องมีการแก้ไขที่ระดับกฎหมายและนโยบายที่ยังมีช่องโหว่และปัญหามากมายในการบังคับใช้ให้ทันต่อสถานการณ์ เพราะโรงงานลักษณะนี้หรือโรงงานคัดแยกขยะประเภท 105 ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ สามารถก่อมลพิษในหลายพื้นที่ได้
จากนั้นช่วงบ่ายคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ ได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่ที่มีข้อพิพาทในกรณีเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เพื่อเปิดวงรับฟังข้อมูลที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุนเหมือง ฝ่ายต่อต้านเหมือง และตัวแทนของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด มาร่วมให้ข้อมูลในฝั่งของตนเอง เพื่อให้คณะกรรมาธิการการที่ดินฯ ได้นำข้อมูลไปตรวจสอบ เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นต่อไป