เวลานี้ ‘แลนด์บริดจ์’ (Land Bridge) ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยพยายามผลักดันและจัดโรดโชว์ให้กับบรรดาผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การนำเสนอโครงการนี้ในที่ประชุม Belt and Road Forum ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อเดือนตุลาคม 2023 และนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ให้กับกลุ่มทุนตะวันตกในสหรัฐอเมริกา ขณะร่วมการประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อช่วงปลายปี 2023 และล่าสุดในที่ประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่จัดขึ้นกลางเดือนมกราคม
แลนด์บริดจ์ คืออะไร
‘โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน’ หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ เป็นเมกะโปรเจกต์ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม โดยจะเชื่อมโยงท่าเรือชุมพรเข้ากับท่าเรือระนองแห่งใหม่อย่างไร้รอยต่อ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้ทันสมัยและเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยกับนานาชาติ
โดยจะสร้างท่าเรือชุมพรให้ทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาท่าเรือระนองให้เป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน และพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) รวมถึงรถไฟรางคู่และระบบท่อที่จะมีส่วนช่วยทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ(Transshipment Port) ของภูมิภาค ซึ่งจะใช้งบการลงทุนสูงถึงราว 1 ล้านล้านบาท โดยจะใช้งบลงทุนส่วนใหญ่จากต่างประเทศ และจะให้สัมปทานเป็นระยะเวลา 50 ปี คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคมปี 2030
THE STANDARD ถามความเห็นจาก ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง และ ศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแลนด์บริดจ์ โดยเฉพาะในมิติด้านความมั่นคงและการแข่งขันกันของรัฐมหาอำนาจ
รัฐบาลเพื่อไทยกับการผลักดันแลนด์บริดจ์
อาจารย์สุรชาติและอาจารย์กิตติให้ความเห็นในแนวทางที่สอดคล้องกันว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลเพื่อไทยจำเป็นต้องผลักดันเมกะโปรเจกต์นี้ก็เพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้มากที่สุด ให้เป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลปัจจุบันที่เน้นการเป็นเซลส์แมนและการพัฒนาเศรษฐกิจ
โดยอาจารย์สุรชาติระบุว่า “ในทางการเมือง เมกะโปรเจกต์ในโลกสมัยใหม่ก็เป็นดาบสองคม เพราะรัฐบาลท้องถิ่นจะคิดภายใต้เงื่อนไขการกู้ยืมเงินจากรัฐมหาอำนาจ ซึ่งส่วนใหญ่คือการกู้เงินจากจีน ถ้าเมกะโปรเจกต์นี้ จีนนำไปเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน อาจเท่ากับทำให้ไทยเข้าไปสังกัดอยู่ในค่ายของจีนโดยตรง รัฐบาลจึงไม่อาจคิดแค่มิติทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว แต่จะต้องคำนึงถึงมิติด้านการเมืองและความมั่นคงด้วย”
แลนด์บริดจ์กับพื้นที่อิทธิของรัฐมหาอำนาจ
อาจารย์สุรชาติชี้ว่า แม้โครงการแลนด์บริดจ์จะมีมิติด้านความมั่นคงไม่ชัดเท่ากับโครงการคอคอดกระ หรือ คลองไทย ที่จะมีการเชื่อมพื้นที่ทางทะเลโดยตรง แต่อาจารย์สุรชาติได้ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการคลองไทยหรือโครงการแลนด์บริดจ์ ล้วนแต่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งโครงการเหล่านี้ยังเกิดขึ้นบนความมุ่งหวังที่จีนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด จึงเกิดคำถามถึงผลกระทบด้านอธิปไตยในการควบคุมพื้นที่ตามมา
“ไม่ว่าจะคลองไทยหรือแลนด์บริดจ์ก็เป็นการลงทุนจากจีนไม่ต่างกัน เมื่อเกิดการลงทุนแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการได้จริงหรือไม่ คำตอบคือเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นเงินกู้ หลายประเทศที่กู้เงินจีนมักจบลงด้วย ‘วิกฤตหนี้’ (Debt Crisis) และนำไปสู่เงื่อนไขของการที่จีนเข้าไปยึดครองพื้นที่ของประเทศผู้กู้เกือบทั้งนั้น หรือกลายเป็นสิ่งที่บางคนเรียกว่า ‘กับดักหนี้’ (Debt Trap) ซึ่งเราเห็นกรณีตัวอย่างในจิบูตี ศรีลังกา ปากีสถาน รวมถึงเห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชา คำถามต่อไปคือ โครงการแลนด์บริดจ์ของไทยจะซ้ำรอยประเทศเหล่านี้หรือไม่
“ในปัจจุบัน โจทย์ที่ใหญ่ที่สุดในทางการเมืองระหว่างประเทศคือ โจทย์การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ โดยการลงทุนในเมกะโปรเจกต์เช่นนี้จะต้องพิจารณาทั้งในมุมเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง คู่ขนานกัน 3 มิติ”
นอกจากนี้ อาจารย์สุรชาติยังเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่ไทยอาจจะตกอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของรัฐมหาอำนาจอย่างจีนได้ผ่านโครงการเมกะโปรเจกต์เหล่านี้
“การที่เราเลือกลงทุนในเมกะโปรเจกต์และกู้เงินทุนจีนก็ตอบได้อย่างเดียวว่า ประเทศไทยเข้าไปสังกัดอยู่ในค่ายของจีน ซึ่งที่จริงแล้วเราก็เห็นท่าทีเช่นนี้มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2014 นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีคลองไทยหรือแลนด์บริดจ์ที่เกิดขึ้นในสมัย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นอะไรที่เกินกว่าความพยายามที่จะพาไทยเข้าไปอยู่กับจีน โดยอาศัยโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นฉากบังหน้า และต่อไปพื้นที่ตรงนี้อาจกลายเป็นฐานทัพเรือจีนที่เชื่อมโยงกับฐานทัพเรือเรียมในกัมพูชา รวมถึงในศรีลังกาและจิบูตี”
แลนด์บริดจ์กับโอกาสเพิ่มความขัดแย้งในอาเซียน
อาจารย์กิตติและอาจารย์สุรชาติมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยได้รับการผลักดันจนเกิดขึ้นจริง อาจไม่ได้ทำให้ไทยต้องขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงอินโดนีเซียที่ได้รับผลประโยชน์จากการแล่นเรือผ่านช่องแคบมะละกาแต่อย่างใด ถ้าหากมี ผลกระทบดังกล่าวก็อาจจะน้อยมาก เนื่องจากช่องแคบมะละกายังคงเป็นเส้นทางเดินเรือหลัก โดยเฉพาะเรือขนส่งขนาดใหญ่
อาจารย์กิตติระบุว่า “ในใจลึกๆ พวกเขาอาจจะไม่อยากให้สร้างโครงการนี้ขึ้น แต่ก็คงจะไม่ถึงขั้นนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเส้นทางเดินเรือของเราเป็นเส้นทางเลือก ไม่ใช่เส้นทางหลัก ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ช่องแคบมะละกาก็จะยังคงใช้ประโยชน์จากช่องแคบนั้นต่อไป”
ด้านอาจารย์สุรชาติชี้ว่า “แลนด์บริดจ์อาจไม่ได้เป็นท่าเรือขนาดใหญ่อย่างที่เราฝัน เราอาจไม่ตอบโจทย์ตัวเราเองตั้งแต่ต้น และความคิดที่ว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้ท่าเรือสิงคโปร์ย่ำแย่ลง หรือทำให้เรือที่ผ่านช่องแคบมะละกาเปลี่ยนมาใช้แลนด์บริดจ์ที่ไทย คำตอบคือ เป็นไปไม่ได้ เพราะช่องแคบมะละกายังเป็นเส้นทางเดินเรือหลักของภูมิภาคนี้ อีกทั้งการใช้บริการแลนด์บริดจ์มีขั้นตอนซับซ้อนและไม่สะดวกเท่ากับการใช้ช่องแคบมะละกาที่มีการเดินเรือทางทะเลอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเทียบท่าที่ท่าเรือฝั่งอันดามัน แล้วขนถ่ายสินค้าลงรถบรรทุกหรือรถรางและขนลงเรือที่ฝั่งอ่าวไทยอีกรอบหนึ่ง ถ้าเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ การใช้แลนด์บริดจ์อาจไม่ได้คุ้มค่ามากขนาดนั้น
“นอกจากนี้ พื้นที่ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางเส้นทางทางทะเลส่วนใหญ่ จะไม่เข้ามาอยู่บริเวณพื้นที่ทะเลตอนในอย่างของไทย โดยจุดที่สามารถจะเดินทางและอาจกลายเป็นศูนย์กลางในอนาคตได้จริง พื้นที่ที่น่าสนใจคือเวียดนาม เพราะอยู่ติดทะเลใหญ่ แต่การที่เรือจะต้องผ่านไทยและเข้ามาในเขตทะเลตอนในนั้นก็ไม่ต่างจากการเป็นถนนสายรอง หรือ Local Road”
ท่าทีจีนกับโครงการแลนด์บริดจ์
อาจารย์ทั้งสองต่างมองว่า ท่าทีของจีนต่อโครงการแลนด์บริดจ์ดูจะมีความกระตือรือร้นน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับความพยายามผลักดันโครงการคลองไทย ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อจีนมากกว่าในฐานะเป็นช่องทางออกไปยังมหาสมุทรอินเดียของเรือรบจีน
อาจารย์กิตติอธิบายว่า ถ้าย้อนกลับไปปี 2014 ทางการจีนผลักดันโครงการการขุดคลองไทยอย่างมาก ถ้าไปดู Belt and Road Initiative (BRI) ในระยะแรกๆ หรือย้อนกลับไปที่ยุทธศาสตร์ The String of Pearls Strategy ก่อนหน้านั้น จะพบว่า จีนมองคลองไทยในฐานะจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ต้องการจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในช่วงเวลานั้น และความสำคัญดูจะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับโครงการแลนด์บริดจ์
“โอกาสที่โครงการแลนด์บริดจ์จะได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงมีน้อยมาก เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งมาจากวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศจีนเอง จีนเริ่มจำกัดความร่วมมือ BRI หลังจากที่ประชาคมโลกต่างประณามจีนว่า โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างกับดักหนี้ของจีน ซึ่งในขณะนี้จีนเริ่มแบกรับภาระหนี้ไม่ไหวและเริ่มที่จะกำหนดเพดานหนี้ การที่จีนไปทำให้เขาติดหนี้จีน และจีนเข้าไปมีอิทธิพลต่อพื้นที่ดังกล่าวของเขา อาจไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อจีนทั้งหมด จีนเลยเริ่มลังเลที่จะมาลงทุนในโครงการที่มีโอกาสขาดทุนสูง”
ข้อเสนอแนะรัฐบาลไทย
อาจารย์กิตติกล่าวว่า ถ้าแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นจริง ข้อกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่พื้นที่ของไทยจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจอย่างจีนก็อาจจะเกิดขึ้นตามมา แต่โอกาสที่โครงการนี้จะไม่เกิดขึ้นอาจมีมากกว่า ที่สำคัญคือ เราต้องไม่ลืมว่า จีนขนส่งสินค้าไปยุโรปทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งผ่านทางรถไฟ และอาจสะดวกกว่าหากต้องมาใช้แลนด์บริดจ์ของไทย และแน่นอนว่าประเทศอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงฟิลิปปินส์ที่อยู่ใกล้ช่องแคบมะละกามากกว่า ก็อาจจะไม่ใช้เส้นทางในโครงการนี้ของไทยด้วย เมกะโปรเจกต์นี้ของไทยอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความคุ้มค่าอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้
ขณะที่อาจารย์สุรชาติได้กล่าวเสนอแนะทิ้งท้ายว่า “ในประเด็นเส้นทางเดินเรือโลก เราต้องยอมรับว่าบรรดาประเทศตะวันตกและบริษัทธุรกิจเดินเรือขนาดใหญ่ต่างศึกษาเส้นทางต่างๆ มาหมดแล้ว และเชื่อว่าเส้นทางที่เราพูดถึงในบริบทไทย ไม่ใช่เส้นทางที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะถ้ามีความคุ้มค่า เส้นทางเหล่านี้น่าจะถูกเปิดก่อนที่จีนจะเติบโตเป็นมหาอำนาจในปัจจุบัน แต่การที่เส้นทางเหล่านี้ไม่ถูกเปิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามันไม่ได้มีความคุ้มค่าอย่างที่สังคมไทยคิด
“ถ้ารัฐบาลอยากลงทุน การผลักดันโครงการท่าเรือที่ทวาย ประเทศเมียนมา อาจจะมีความเป็นไปได้หรือเป็นคำตอบมากขึ้น เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยมีส่วนผลักดันมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทวายน่าจะเป็นอะไรที่เป็นคำตอบได้มากกว่า ถ้ามองในระยะยาวและไม่พิจารณาถึงการเมืองภายในเมียนมาขณะนี้
“โดยช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา มอเตอร์เวย์นครปฐม-กาญจนบุรีเปิดให้ใช้บริการแล้ว เหลือเพียงแค่รอให้ช่วงเวสต์เกต-นครปฐมแล้วเสร็จ เราก็อาจจะมีเส้นทางที่เชื่อมกรุงเทพฯ และปริมณฑล (บางใหญ่)-ทวาย แต่ถ้าไม่มีคนขับเคลื่อนต่อ ถนนเส้นนี้ก็จะกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่พาเราจากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวแถวกาญจนบุรี โดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่นาน”