×

ลำพูน…ง่าย งาม ในความเงียบ

09.08.2019
  • LOADING...
ลำพูน

HIGHLIGHTS

  • เที่ยวลำพูนแบบเรียบง่าย ชมเมืองเล็กที่ไม่เคยเป็นรองใคร แต่เต็มไปด้วยความงามละเอียดให้ละเลียด มากกว่าจะเป็นเพียง One Day Trip 
  • ชมเรือนล้านนาลำพูนแท้ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน โดดเด่นที่สรไนปลายชายคา
  • แวะ Temple House พื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ของลำพูน ไม่ได้มีดีเพียงเป็นคาเฟ่และแกลเลอรี แต่ดีเป็นพิเศษด้วยพลังงานของคนที่ต่อลมหายใจของเมือง 
  • สักการะพระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน สงบสงัดในพลังศรัทธา   

สองข้างทางที่รถวิ่งผ่านคือต้นยางอันสูงใหญ่ หยัดต้นสูงตระหง่านผ่านร้อนหนาวมากว่าศตวรรษ ข่มพาหนะทุกประเภทบนถนนเชียงใหม่-ลำพูนให้จ้อยจิ๋วและเคารพในธรรมชาติ หันกลับไปดูหนทางที่เพิ่งผ่านมา เชียงใหม่อันครึกครื้นถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ส่วนข้างหน้าที่มุ่งไปคือ ‘ลำพูน’ จังหวัดที่อยู่ใกล้เชียงใหม่เหมือนจมูกห่างจากปาก หากกลับครองตัวเงียบเรียบเรื่อยเสมอมา  

 

ละไออดีตยังอบอวลในลำพูน ทั้งตามถนนหนทางซึ่งประปรายด้วยเรือนไม้ ไปจนถึงอาคารเก่าดีไซน์เส้นสายกราฟิกจากหลายทศวรรษ ก่อนที่ยืนเท่บนถนนสายต่างๆ เช่น ถนนอินทยงยศ หนึ่งในถนนสายสำคัญใจกลางเมืองลำพูน หากถอยหลังกลับไปในอดีต ไม่มีหรอกอาคารพาณิชย์สูงสองสามชั้น ด้วยตลอดแนวถนนคือเฮือนแพ อันหมายถึงเรือนแถวชั้นเดียวหลังคามุงกระเบื้องขอเรียงยาวต่อเนื่องกันไป เป็นทั้งร้านค้าและที่อยู่อาศัย ถ้านึกภาพไม่ออก ขอแนะนำให้แวะไปที่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน มีภาพถ่ายเมืองลำพูนในอดีต สิ่งของ วิถีชุมชน จัดแสดงให้ชม แต่ที่น่าตื่นตาสำหรับเราคือ ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์นั้นคือ ‘คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์’ (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) ปลูกสร้างใน พ.ศ. 2455 เป็นเรือนพักอาศัยของเจ้าราชสัมพันธวงษ์กับเจ้าหญิงส่องหล้า ผู้เป็นน้องของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 หรือเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของนครลำพูน

 

ลำพูน

ลำพูน

คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์

 

อาคารคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์เป็นคุ้มเจ้าเพียงไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ในลำพูน ตัวอาคารเป็นเรือนสรไนหลังใหญ่ 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นเครื่องไม้ หลังคาจั่วผสมปั้นหยา เอกลักษณ์ของเรือนลำพูนอยู่ที่การประดับหลังคาบริเวณจั่วและส่วนปลายชายคาด้วยสรไน หรือท่อนไม้กลึง ที่ต้องทำให้รับกับสัดส่วนและขนาดของอาคาร เพื่อเสริมความสง่างามและให้ภาพองค์รวมที่น่ามองกลมกลืน ภายในมีสรไนหลายขนาดจัดแสดงให้ชมกันชัดๆ ด้วย

 

ลำพูน

คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์

 

ลมร้อนผ่าวโชยชายประปรายผิว แม้พยากรณ์อากาศบอกว่าเราเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของอากาศก็ทำให้เราปลงใจ หลุบปีกหมวกให้ปรกต่ำซ่อนหน้าจากแดดแล้วออกเดินต่อ จุดหมายถัดไปห่างออกไปไม่เกิน 10 นาทีก้าวเดิน เป็นพุทธสถานที่สำคัญไม่เพียงเฉพาะลำพูน หากนับเป็นหนึ่งในศูนย์รวมความศรัทธาของชาวพุทธล้านนามายาวนาน มีหลักฐานการปลูกสร้างสืบย้อนไปได้ไกลกว่าพันปี นั่นก็คือ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ภายใต้ฟ้ากว้าง องค์พระบรมธาตุเจดีย์สีทองสุกปลั่งงดงาม ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประวัติกล่าวไว้ว่า พระเจ้าอทิตยราช กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย ทรงสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 และกลายเป็นศาสนสถานที่ทรงอิทธิพลในแถบล้านนามาช้านาน แม้จนปัจจุบันชาวพุทธทั่วสารทิศก็ยังคงเดินทางมาสักการะไม่ขาดสาย 

 

ลำพูน

วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร 

 

หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหารร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่เรียงรายสองฝั่งลำน้ำกวง สะพานยาวมุงหลังคาที่ทอดข้ามลำน้ำคือ ขัวท่าสิงห์ เป็นหนึ่งในสะพานหลักของลำพูนมาแต่โบราณ ในอดีตเป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้านระหว่างฝั่งกำแพงเมืองไปยังฝั่งเวียงยอง ส่วนเหตุที่ชื่อสะพานมีสิงห์มาเกี่ยวข้องก็เพราะมีตำนานเล่าไว้ว่า สิงห์แดงคู่หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยชอบแอบลงไปเล่นน้ำทำเสียงดังโครมครามตอนกลางคืน สะพานนี้แต่เดิมสร้างด้วยไม้โดยบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ทางเหนือของไทย กาลเวลาพ้นผ่าน รูปลักษณ์ของสะพานก็ถูกปรับปรุงเรื่อยมาจนกลายเป็นสะพานคอนกรีตมุงหลังคาตลอดสาย ภายในเป็นร้านจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นของลำพูน มีตั้งแต่ลำไย ผ้านุ่งงามๆ ไปจนถึงร้านต่างหูสวยๆ ฝีมือคนลำพูนจริงๆ ราคาก็เป็นมิตรน่าคบหา

 

ลำพูน ลำพูน

บน: ขัวท่าสิงห์

ล่าง: ก๋วยเตี๋ยวลำไย

 

ถามถึงเรื่องอาหารการกิน ให้เดินข้ามสะพานมาอีกฟากฝั่ง เพราะร้านก๋วยเตี๋ยวลำไยที่ว่าโด่งดังก็ตั้งอยู่ฝั่งนี้นี่เอง ลำพูนมีชื่อเสียงเรื่องลำไย ขนาดจารึกไว้ในคำขวัญประจำจังหวัด การพบลำไยอยู่ในทุกมื้ออาหารของคุณคือเรื่องเป็นไปได้เมื่อเป็นนักท่องเที่ยวอยู่ที่นี่ หลายโรงแรมเสิร์ฟข้าวต้มเครื่องในมื้อเช้า ซึ่งปนเปด้วยรสหวานของลำไย แปลกลิ้นและเป็นรสที่ทำให้จดจำ ส่วนร้านอาหารดังของลำพูนที่ปรากฏแทบจะเป็นรายชื่อแรกๆ เมื่อค้นหาที่กินในโลกออนไลน์ก็หนีไม่พ้น ร้านก๋วยเตี๋ยวลำไย (เวียงยอง) ที่เจ้าของร้านลงทุนยืนเรียกลูกค้าด้วยตัวเองที่หน้าร้านด้วยประโยคเดียวกับที่พิมพ์ประทับบนป้ายชื่อร้านว่า “…ไม่ได้กินก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย มาไม่ถึงลำพูน…” ลองแวะไปกินดูเป็นประสบการณ์ก็ไม่เสียหายอะไร

 

ถนนหนทางในตัวเมืองลำพูนค่อนข้างว่างวาย หลายคนออกปากว่าพื้นที่ว่างในมิติต่างๆ ของลำพูนดูเหมือนจะถูกเติมด้วยความเหงาและเงียบจนเกินไป จากอดีตอาณาจักรโบราณประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพันปี กลายเป็นเมืองเล็กเมืองรอง แล้วแต่ใครจะเรียกอย่างไร หากกระนั้น ตัวตนที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวจากกาลเวลา หาใช่สิ่งที่จะถูกปกปิดหรือลบล้างลงได้ ในความเงียบจึงมีความงาม ในความน้อยจึงมีความมากที่รอการค้นพบ

 

ลำพูน ลำพูน

 

Temple House คือคาเฟ่และแกลเลอรีแสดงงานศิลปะ ที่เปลี่ยนตึกเก่าบนถนนอินทยงยศ ให้กลายเป็นพื้นที่เปี่ยมพลังสร้างสรรค์ของคนลำพูนรุ่นใหม่ ฝีมือการออกแบบของ ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้ร่วมก่อตั้งร้านและสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงด้านการทำงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คล้ายๆ ว่า Temple House จะทำหน้าที่เป็นเหมือนห้องรับแขกที่สะท้อนตัวตนเจ๋งๆ ของลำพูน ผ่านทั้งเมนูกาแฟและอาหาร ทั้งยังมีพื้นที่ให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เช่น พืชผลจากเกษตรกรในลำพูนวางขาย ขณะที่ชั้นสองเป็นแกลเลอรีกระจกใสจัดแสดงผลงานของศิลปินชาวลำพูนหมุนเวียนเรื่อยไป ทั้งยังมีที่พักเล็กๆ สำหรับนักเดินทางที่ต้องการแรมคืนอย่างสุขสงบในลำพูน อีกหน่วยสำคัญของ Temple House คือ หนุ่มสาวลำพูนที่สาละวนทำงานหลังเคาน์เตอร์กาแฟและเบื้องหลังร้าน หากจะมีใครที่ทำหน้าที่ต่อลมหายใจจากวันวานให้เชื่อมสู่ปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน ก็คือคนลำพูนด้วยกันนั่นเอง

 

ลำพูน

 

อ้อยอิ่งจนบ่ายแก่ แดดเริ่บลบ เราออกจากใจกลางเมือง มุ่งหน้าไปยังศาสนสถานอีกแห่ง ห่างจากตัวเมืองขับรถไปราว 40 นาที หลายๆ คนเรียก วัดพระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน แห่งนี้ว่าเป็น Unseen ที่หนึ่งของไทย วัดนี้ตั้งอยู่บนดอยไม่สูงนัก ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อดอยถ้ำหิน นานเนิ่นมาแล้วที่คนท้องถิ่นรู้ว่าบนยอดดอยนี้มีก้อนหินประหลาดสองก้อนตั้งพิงกันอย่างหมิ่นเหม่อยู่ริมผา แค่เพียงแรงผลักหรือลมกระโชก ก็น่าจะทำให้หินนั้นร่วงลงเบื้องล่างได้ง่ายๆ แต่จนแล้วจนรอด หินสองก้อนนั้นก็ไม่เคยขยับเขยื้อนไปไหน 

 

ต่อมา ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หรือ ครูบาวงศ์ แห่งวัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ เกิดนิมิตว่า บนเนินเขาแห่งหนึ่งของลำพูนมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ จึงให้ชาวบ้านออกตามหา ใช้เวลาอยู่หลายปีจึงพบรอยบนลานหินที่ดอยถ้ำหิน และเชื่อกันว่าคือรอยพระพุทธบาท โดยไม่ห่างกันนั้นก็คือ ที่ตั้งของหินประหลาดสองก้อนนั่นเอง ต่อมาจึงมีการสร้างพระธาตุเจดีย์องค์เล็กขึ้นบนหินก้อนบนเมื่อต้นปี 2557 ถอดแบบลักษณะของพระธาตุอินทร์แขวนที่พม่า ซึ่งมีองค์พระธาตุอยู่บนหินก้อนใหญ่ ตั้งหมิ่นเหม่ริมผาอย่างน่าอัศจรรย์เฉกเดียวกับที่ลำพูน

 

ความท้าทายคนขี้เกียจขยับร่างอยู่ที่หนทางขึ้นสู่องค์พระธาตุ จากปากทางเราต้องเดินขึ้นบันได้ศิลาแลงไปอีกราว 500 เมตร สองข้างทางคือป่าโปร่งที่หน้าฝนคงเขียวรื่นตา หากในหน้าร้อนเช่นนี้ ใบไม้เหลือเกาะกิ่งก้านไม่มากนัก แต่แสงอาทิตย์ยามเย็นที่ลอดผ่าน และท้องฟ้าที่ค่อยๆ เปลี่ยนสี ก็เนรมิตให้ทิวทัศน์รอบด้านสวยไปอีกแบบ ธรรมชาติส่งต่อความงามระเรื่อยจวบกระทั่งขึ้นถึงด้านบน ท้องฟ้าสีส้มอมชมพูเป็นฉากหลังที่ส่งให้ก้อนหินริมผา ซึ่งประดิษฐานองค์พระธาตุดูทรงพลังและงดงามในความสงัด 

 

เป็นโมงยามแปลกประหลาดเมื่อนึกว่าราวๆ 1 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ เราเพิ่งจิบกาแฟในร้านสวยกลางเมืองลำพูน และอีกหลายๆ ชั่วโมงก่อนหน้านั้น เราเดินเล่นอยู่ในเมืองที่ถูกใครต่อใครเรียกว่าเมืองรอง แต่กลับซ่อนแง่มุมหลากหลายไว้มากมายเกินจะนับ

 

คุณค่าและความงามอันละเอียดอ่อน ไม่อาจถูกตัดสินได้ด้วยเพียงขนาดทางกายภาพของเมือง หรือตัวเลขรายได้ทางเศรษฐกิจของจังหวัดและผู้คนที่อาศัยอยู่ เรื่องราวในกาลเวลาที่เชื่อมต่อถึงปัจจุบันต่างหากที่ปรุงแต่งให้บ้านเมืองใดบ้านเมืองหนึ่ง มีรายละเอียดอันเป็นเอกลักษณ์ และไม่เป็นสองรองใคร  

FYI
  • ชุมชนกาแฟคุณภาพของหนุ่มสาวลำพูนมีมากขึ้น เช่น ฮ่อม คาเฟ่ (hhom cafe) โทร. 09 9384 9636 
  • ที่พักน่ารักในลำพูนมีให้เลือกหลายแห่ง นอนค้างสักคืน แล้วจะรู้ว่าดีกว่า One Day Trip เป็นไหนๆ 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X