×

‘วิกฤตลานีญา’ ที่กินเวลา 3 ปี จะสร้างความเสียหายให้โลกกว่า 37 ล้านล้านบาท

16.09.2022
  • LOADING...
วิกฤตลานีญา

น้ำท่วมร้ายแรงในปากีสถาน ความร้อนแผดเผาและไฟป่าในสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก ฝนตกหนักในออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ภัยแล้งในบราซิลและอาร์เจนตินา ทั้งหมดนี้คือผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์ ‘ลานีญา’ ทั้งสิ้น

 

บทความของ Bloomberg ระบุว่า ลานีญาจะกินเวลาทั้งสิ้นราว 3 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายจากภัยพิบัติสภาพอากาศมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมากถึง 37 ล้านล้านบาท ภายในปี 2023 มาจากทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง พายุ และไฟจะทำลายบ้านเรือน ทำลายพืชผล กระทบการขนส่งสินค้ามากขึ้น และสุดท้ายทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต

 

“วัฏจักรสภาพอากาศที่มาจากลานีญาจะยิ่งทำให้ปัญหาทั้งหมดที่มีอยู่แล้วในภาพรวมแย่ลงไปอีก เช่น สงครามในยูเครนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น” Michael Pento ประธานและผู้ก่อตั้ง Pento Portfolio Strategies กล่าว “เมื่อมีปัจจัยสภาพอากาศที่รุนแรงเข้ามา จะทำให้เกิดสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ราคาอาหารที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลก”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

การเกิดลานีญาครั้งนี้มีโอกาสเกิดความหายนะมากขึ้น เพราะเกิดขึ้นในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่สุดโต่งซึ่งเกิดขึ้นบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น

 

จากข้อมูลของ Aon ระบุว่า ภัยพิบัติจากสภาพอากาศทำให้โลกต้องสูญเสียเงินกว่า 2.68 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2020 และอีก 3.29 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2021

 

มีการประเมินว่าราคาของทุกอย่างตั้งแต่กาแฟหนึ่งถ้วยไปจนถึงถ่านหินที่ใช้ในการผลิตเหล็กได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ เมื่อต้นทุนเหล่านั้นสูงขึ้นก็จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ นอกเหนือจากสงครามครั้งใหญ่แล้ว ปรากฏการณ์ลานีญาก็ส่งผลในระดับเดียวกันไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก

 

ในอเมริกาเหนือภัยแล้งได้แผ่ขยายไปทั่วภาคตะวันตกของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ทำให้อ่างเก็บน้ำแทบว่างเปล่าและทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการชลประทานและการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็นวงกว้าง

 

ส่วนที่ออสเตรเลียฝนตกหนักในหลายพื้นที่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์, ควีนส์แลนด์ และวิกตอเรีย น้ำท่วมได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 20 ราย และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนมากกว่า 15,000 หลัง โดยค่าสินไหมทดแทนมีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์

 

ฝนที่ตกหนักส่งผลให้การปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ล่าช้าออกไป น้ำที่มากยังกระทบกับเหมืองถ่านหินในนิวเซาท์เวลส์และควีนส์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกส่วนผสมการผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก

 

ที่อเมริกาใต้สภาพอากาศที่แห้งแล้งอย่างรุนแรงได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกาแฟ น้ำตาล และสวนส้มในบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกพืชทั้งสามรายใหญ่ที่สุดของโลก

 

ขณะที่ในอาร์เจนตินา ความแห้งแล้งส่งผลกระทบต่อถั่วเหลืองและข้าวโพด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการถ่วงดุลการค้าของประเทศที่ขาดแคลนเงินสด และความแห้งแล้งที่ยาวนานหลายปีทำให้แม่น้ำปารานาแห้งไป ซึ่งนี่เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ ผู้ค้าสินค้าเกษตรและเกษตรกรต้องต่อสู้กับค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

 

สำหรับเอเชียใต้ อุทกภัยได้ทำลายล้างปากีสถาน คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 1,500 คน และสร้างความเสียหายอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์ น้ำท่วมยังปะทุไปทั่วบังกลาเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนประมาณ 7.2 ล้านคน และฝนตกหนักในอินเดียทำให้บ้านเรือนเสียหายประมาณ 300,000 หลัง

 

“รูปแบบสภาพอากาศสามารถเชื่อมโยงโดยตรงกับลานีญา โดยสัตว์ประหลาดที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในปากีสถานและที่อื่นๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ” Fahad Saeed ผู้นำระดับภูมิภาคของเอเชียใต้และตะวันออกกลางด้านการวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศกล่าว

 

ภาพ: Farhan Khan / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising