×

เมื่อสหรัฐฯ ทิ้งเคิร์ด อะไรทำให้ตุรกีต้องเคลื่อนทหารเข้าซีเรีย

15.10.2019
  • LOADING...
Kurds

HIGHLIGHTS

8 MINS. READ

 

  • โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกวิจารณ์อย่างมากจากทั้งเดโมแครตและรีพับลีกันว่าทิ้งพันธมิตรสำคัญอย่างเคิร์ด และเปิดไฟเขียวให้ตุรกีใช้ปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ทางเหนือของซีเรีย ซึ่งความวุ่นวายในสถานการณ์ที่เปราะบางแบบนี้อาจเปิดโอกาสให้กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) หลบหนีออกไปได้หรือกลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
  • ตุรกีย้ำว่าปฏิบัติการ Peace Spring มีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Save Zone) ทางตอนเหนือของซีเรีย เพื่อพร่องถ่ายผู้ลี้ภัยซีเรียกลับประเทศของตัวเอง อีกเหตุผลสำคัญคือจัดการกลุ่มก่อการร้าย PYG/YPG ในพื้นที่ดังกล่าว
  • ชาวเคิร์ดคือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่เก่าแก่ของโลก มีประชากรประมาณ 30-40 ล้านคน โดยปัจจุบันกระจายตัวอยู่ในซีเรีย อิรัก ตุรกี และอิหร่านเป็นหลัก ที่ผ่านมาชาวเคิร์ดต่อสู้เพื่อตั้งรัฐของตัวเองมายาวนาน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
  • การเคลื่อนไหวแยกตัวเป็นรัฐอิสระของเคิร์ดจึงเป็นปัญหาสำหรับทั้ง 4 ประเทศ แต่หลายปีที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้ไม่ได้ร่วมมือกันจัดการกับเคิร์ดที่เป็นภัยคุกคามร่วม แต่กลับใช้เคิร์ดเป็นเครื่องมือทำลายความมั่นคงของศัตรูข้างบ้าน ดังนั้นจึงสร้างความสัมพันธ์อันซับซ้อนขึ้นในตะวันออกกลาง

 

“ตุรกีกำลังจะเดินหน้าเข้าไปปฏิบัติการ (ทางทหาร) ในพื้นที่ทางเหนือของซีเรียเร็วๆ นี้ ซึ่งมีการเตรียมแผนไว้นานแล้ว… กองทัพสหรัฐฯ จะไม่เข้าไปสนับสนุนหรือไปเกี่ยวข้องใดๆ กับปฏิบัติการครั้งนี้ กองทัพสหรัฐฯ ได้พิชิตดินแดนคาลีฟะห์ของไอซิส (ISIS) เรียบร้อยแล้ว และจะไม่อยู่ในพื้นที่นี้อีกต่อไป”

ข้อความข้างต้นเป็นคำแถลงของทำเนียบขาวสหรัฐฯ เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม (ตามเวลาท้องถิ่น) หลังจากได้มีการโทรศัพท์พูดคุยกันระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี

ต่อมาทำเนียบขาวระบุด้วยว่าตุรกีจะต้องรับผิดชอบสมาชิกนักรบรัฐอิสลาม (IS หรือ ISIS) ที่ถูกกลุ่มกองกำลังชาวเคิร์ดจับไว้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจำนวนมากกว่า 12,000 คน โดยในจำนวนนี้ 4,000 คนเป็นนักรบต่างชาติ 

ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความต่อว่า “สหรัฐฯ ได้ถลำลึกต่อสู้ในสมรภูมินี้อย่างไม่รู้จุดสิ้นสุด… และตอนนี้ตุรกี ยุโรป ซีเรีย อิหร่าน อิรัก รัสเซีย และเคิร์ด ต้องไปหาทางออกกันเอง”

การถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากพื้นที่ทางเหนือของซีเรียสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเคิร์ดที่ร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อต่อสู้กับกลุ่ม IS มาหลายปี และมองว่าเป็นการ ‘แทงข้างหลัง’

นอกจากนี้ยังถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางทหารต่อซีเรียครั้งสำคัญ สหรัฐฯ ทยอยถอนทหารออกจาก 2 จุดแรกที่ประจำอยู่ในเขต Tel Abyad และ Eissa ต่อมาตั้งแต่วันอังคารที่ 8 ตุลาคม ตุรกีก็เริ่มปฏิบัติการทางอากาศโจมตีเป้าหมายกลุ่มกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (Syrian Democratic Forces – SDF, ชื่อเดิม YPG หรือ Partiya Yekîtiya Demokrat) ในหลายพื้นที่บริเวณแนวชายแดนซีเรีย รวมทั้งการเคลื่อนกำลังภาคพื้นดินเข้ามาถล่มพื้นที่เป้าหมายที่เชื่อว่าเป็นฐานของกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด

ทรัมป์ถูกวิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะจากสมาชิกพรรคเดโมแครตและจากภายในพรรครีพับลีกันเองว่าทิ้งพันธมิตรสำคัญอย่างเคิร์ดและเปิดไฟเขียวให้ตุรกีใช้ปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งความวุ่นวายในสถานการณ์ที่เปราะบางแบบนี้อาจเปิดโอกาสให้กลุ่ม IS หลบหนีออกไปได้หรือกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

หลายชาติในยุโรปออกมาตำหนิตุรกี แต่ก็ถูกแอร์โดอันโต้กลับว่าถ้าวิจารณ์มากอาจเปิดประตูให้ผู้ลี้ภัยซีเรียที่อยู่ในตุรกีกว่า 3.6 ล้านคนเข้าไปสู่ยุโรป เพราะตุรกีย้ำว่าปฏิบัติการ Peace Spring มีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Save Zone) ทางตอนเหนือของซีเรียเพื่อพร่องถ่ายผู้ลี้ภัยซีเรียกลับประเทศของตัวเอง อีกเหตุผลสำคัญคือจัดการกลุ่มก่อการร้าย PYG/YPG ในพื้นที่ดังกล่าว

ทรัมป์ถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ จากเสียงวิจารณ์ทั่วสารทิศ จนเขาต้องออกมาขู่ว่าถ้าตุรกีทำให้อะไรที่เขามองว่าเกินขอบเขต เขาจะทำลายเศรษฐกิจตุรกี

ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ปฏิเสธว่า “ไม่ได้เปิดไฟเขียวให้ตุรกีโจมตีเคิร์ด สหรัฐฯ ได้พยายามทุกทางแล้วเพื่อไม่ให้ตุรกีเปิดปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้… สหรัฐฯ ไม่ได้ทอดทิ้งกองกำลังเคิร์ดที่เป็นพันธมิตรกับเรา ทหารสหรัฐฯ ยังทำงานร่วมกับเคิร์ดในพื้นที่อื่นๆ ของซีเรีย”

ต่อมาเจ้าหน้าที่ระดับสูงชี้แจงว่า “การประกาศถอนกำลังที่ออกมาในวันอาทิตย์ไม่ใช่การถอนทหารทั้งหมดออกจากซีเรีย แต่เป็นการเคลื่อนย้ายกำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษเพียง 50-100 นายไปยังพื้นที่อื่นในซีเรีย หรือย้ายออกจากพื้นที่ที่ตุรกีเตรียมปฏิบัติการเพื่อปกป้องทหารสหรัฐฯ และกันออกจากการต่อสู้”

อย่างไรก็ตาม ทหารสหรัฐฯ ในซีเรียทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 1,000 นาย ซึ่งหากถอนออกจากพื้นที่ทางเหนือของซีเรีย 50-100 นายก็ถือว่าไม่มาก แต่การทิ้งพื้นที่ที่อยู่ในเป้าหมายการโจมตีของตุรกีทำให้สหรัฐฯ ถูกมองว่าหักหลังเคิร์ด และเปิดไฟเขียวให้ตุรกีเข้ามาโจมตี

ปฏิบัติการทางทหารของตุรกีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินที่รุกไล่เข้าไปในพื้นที่ของเคิร์ดทำให้สามารถเข้าควบคุมพื้นที่สำคัญๆ ได้หลายแห่ง การปะทะโจมตีและเผชิญหน้ากับกลุ่มเคิร์ดยังดำเนินต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายราย รวมทั้งทำให้คนนับแสนต้องหลบลี้หนีภัย เคิร์ดเองก็ตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธโจมตีเข้าไปทางใต้ของตุรกี ทำให้พลเรือนตุรกีเสียชีวิตเช่นกัน

 

Kurds



เคิร์ดเป็นใคร ต้องการอะไร
ชาวเคิร์ดคือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่เก่าแก่ของโลก สืบเชื้อสายมาจากอินโด-ยูโรเปียน ปัจจุบันถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง มีประชากรประมาณ 30-40 ล้านคน อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงทางตะวันออกของภูมิภาคตะวันออกกลางและบริเวณลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส ชาวเคิร์ดต่อสู้เพื่อตั้งรัฐของตัวเองมายาวนาน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ในอดีตชาวเคิร์ดเรียกดินแดนมาตุภูมิของพวกเขาว่า ‘เคอร์ดิสถาน’ (Kurdistan) ซึ่งมีอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ด้วยพื้นที่เกือบ 4 แสนตารางกิโลเมตร ปัจจุบันดินแดนเหล่านั้นกระจายอยู่ในรอยต่อของ 4 ประเทศ ได้แก่ 

  • ตุรกี ประมาณ 190,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรเคิร์ด 18 ล้านคน 
  • อิหร่าน ประมาณ 125,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรเคิร์ด 8 ล้านคน
  • อิรัก ประมาณ 65,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรเคิร์ด 5 ล้านคน
  • ซีเรีย ประมาณ 12,000 ตารางกิโลเมตร ประชากร 2 ล้านคน


ชาวเคิร์ดกระจายอยู่ในประเทศอื่นๆ อีกกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี

ชาวเคิร์ดในแต่ละประเทศข้างต้น นอกจากมีขนาดประชากรที่ต่างกันแล้วยังมีสถานะทางอำนาจที่ต่างกันด้วย ในตุรกีซึ่งมีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่มากที่สุดทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ มีสิทธิทางการเมืองและมีพรรคการเมืองของตัวเอง ซึ่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ได้คะแนนเสียงมากขึ้นจนได้ผู้แทนของตัวเองเข้าไปนั่งในสภา ในอิหร่าน เคิร์ดมีจังหวัดเป็นของตัวเองเรียกว่าเคอร์ดิสถาน (อ่านว่า ‘กุรดิสถาน’) ในอิรัก ชาวเคิร์ดมีเขตปกครองของตนเองทางตอนเหนือ

อย่างไรก็ตาม เคิร์ดในแต่ละประเทศมีกลุ่มติดอาวุธเคลื่อนไหวที่มีอุดมการณ์แยกตัวเป็นรัฐอิสระ และมีอุดมการณ์เชื่อมโยงกัน เช่น กลุ่ม PKK ในตุรกี, กลุ่ม PJAK ในอิหร่าน และกลุ่ม SDF PYD/YPG ในซีเรีย

การเคลื่อนไหวแยกตัวเป็นรัฐอิสระของเคิร์ดจึงเป็นปัญหาสำหรับทั้ง 4 ประเทศ แต่กระนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากประเทศเหล่านี้จะไม่ได้ร่วมมือกันจัดการกับเคิร์ดที่เป็นภัยคุกคามร่วมแล้ว มิหนำซ้ำยังใช้เคิร์ดเป็นเครื่องมือทำลายความมั่นคงของศัตรูข้างบ้านด้วย เช่น กรณี ซัดดัม ฮุสเซน จัดส่งอาวุธให้กับพรรคประชาธิปไตยเคิร์ดแห่งอิหร่าน (Kurdish Democratic Party of Iran) อิหร่านก็ไปสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยแห่งอิรัก (KDP) และกลุ่ม Patriotic Union of Kurdistan (PUK) เหมือนกัน ส่วนซีเรียก็ยอมให้ผู้นำกลุ่ม PKK อับดุลลอฮ์ โอคารัน เข้ามาเคลื่อนไหวต่อต้านตุรกีตั้งแต่ปี 1979 เพราะขัดแย้งกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องพรมแดน ทรัพยากรธรรมชาติ และอยู่ตรงข้ามกันในยุคสงครามเย็น

เคิร์ดในซีเรียไม่ได้มีสถานะที่เข้มแข็งหรือมีอิทธิพลมากนักเมื่อเทียบกับเคิร์ดในอีก 3 ประเทศ จนกระทั่งเมื่อปี 2003 หลังสหรัฐฯ ทำสงครามโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน สถานะทางอำนาจและการเดินหน้าตั้งเขตปกครองตนเองของเคิร์ดในอิรักก็มีความชัดเจนขึ้นมาก เพราะเคิร์ดมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนสหรัฐฯ ในสงครามครั้งนั้น ความสำเร็จของเคิร์ดในอิรักกลายเป็นตัวแบบสร้างความหวังให้กับเคิร์ดในที่อื่นๆ โดยเฉพาะในซีเรีย ในปี 2003 เริ่มมีการจัดตั้งพรรคสหภาพประชาธิปไตย (Democratic Union Party หรือ Partiya Yekîtiya Demokrat – PYD) และในปี 2004 มีการตั้งกลุ่มติดอาวุธเรียกว่าหน่วยปกป้องประชาชน (People Protection Units หรือ Yekîneyên Parastina Gel –  YPG) ซึ่งเป็นปีกทหารของพรรค PYD ตุรกีมองว่ากลุ่ม YPG มีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม PKK ที่ตุรกีจัดว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตุรกีมายาวนาน

 

Kurds



สหรัฐฯ ในสงครามซีเรีย กับเส้นทางเติบโตของเคิร์ด YPG และท่าทีของตุรกี
ซีเรียเป็นหนึ่งในประเทศที่เกิดสงครามกลางเมืองในห้วงของเหตุการณ์อาหรับสปริงตั้งแต่ปี 2011 และเป็นสมรภูมิตัวแทนสำคัญของมหาอำนาจทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค ความระส่ำระสายภายใน ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงระบอบประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย การปรากฏขึ้นมาของกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State – IS) และกลุ่มติดอาวุธอัลนุศรอห์ (Al Nusra Front หรืออัลกออิดะห์สาขาซีเรีย) ทำให้กลุ่มเคิร์ดในทางเหนือเริ่มเคลื่อนไหว มองหาลู่ทางการเสริมกำลังเพื่อเตรียมตั้งรัฐอิสระเป็นของตนเอง

บทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามกลางเมืองซีเรียในยุคของ บารัก โอบามา คือความพยายามโค่นล้มระบอบอัสซาด และการปราบปรามกลุ่ม IS โดยในการล้มระบอบอัสซาดนั้น สหรัฐฯ มีตุรกีเป็นพันธมิตรหลัก ตุรกีมองว่าอัสซาดหมดความชอบธรรม เพราะใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงชาวซีเรียอย่างหนัก โอบามาประกาศสนับสนุนกลุ่มกบฏหรือทหารซีเรียที่เรียกว่า Free Syrian Army (FSA) โดยเรียกกลุ่มนี้ว่าเป็นกบฏสายกลาง (Moderate Rebel) สหรัฐฯ ให้การช่วยเหลือกลุ่มนี้ผ่านตุรกี

อีกด้านหนึ่ง ในภารกิจปราบปรามกลุ่ม IS สหรัฐฯ เลือกที่จะใช้กลุ่มเคิร์ดทางเหนือเป็นพันธมิตรสำคัญ สหรัฐฯ จึงติดอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากให้กับเคิร์ด YPG ทำให้พวกเขามีกองกำลังที่แข็งแกร่งขึ้น และสามารถขยายพื้นที่ของตัวเองด้วยการยึดพื้นที่มาจากกลุ่ม IS ได้ (เชลยศึกที่เป็นสมาชิกของ IS นับหมื่นคนและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากของพวกเขาอยู่ภายใต้การควบคุมของเคิร์ดในค่ายกักขังทางเหนือ)

ตุรกีแสดงความไม่พอใจสหรัฐฯ และประธานาธิบดีโอบามาเป็นอย่างมากที่ไปให้การสนับสนุนกลุ่มเคิร์ด YPG ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของ PKK ทั้งที่สหรัฐฯ และยุโรปต่างก็ขึ้นบัญชีกลุ่มนี้เป็นกลุ่มก่อการร้าย สหรัฐฯ ควรหยุดให้การสนับสนุนกลุ่ม YPG หลายครั้งที่ตุรกีแสดงความไม่พอใจและยื่นคำขาดให้สหรัฐฯ ต้องเลือกระหว่างตุรกีกับเคิร์ด YPG แต่โอบามาก็ยังคงให้การสนับสนุนเคิร์ดโดยไม่สนใจต่อข้อเรียกร้องของตุรกี ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติสมาชิกองค์การ NATO ขุ่นเคืองเรื่อยมา จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ที่มีความพยายามก่อรัฐประหารแอร์โดอันช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2016 แต่ล้มเหลวในที่สุด

ตุรกีเชื่อว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารครั้งนั้นคือขบวนการกูเลน (Gulen Movement) มีนักวิชาการศาสนาชื่อ ฟัตตุลลอฮ์ กูเลน เป็นหัวหน้า ซึ่งลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ การที่สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะส่งตัวกูเลนให้กับตุรกียิ่งทำให้ตุรกีมองว่าสหรัฐฯ อาจเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารในตุรกี

ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี-สหรัฐฯ จึงระหองระแหงมากขึ้นและส่งผลต่อสงครามกลางเมืองในซีเรียด้วย เมื่อตุรกีเริ่มเอาตัวออกห่างจากสหรัฐฯ แล้วไปพูดคุยใกล้ชิดกับรัสเซียและอิหร่านมากขึ้น โดยเฉพาะการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสงครามกลางเมืองและการจัดการกลุ่มก่อการร้ายในซีเรีย แต่ถึงกระนั้นตุรกีก็ยังมีจุดยืนว่าประธานาธิบดีอัสซาดควรลงจากอำนาจ

ตุรกีมีความใกล้ชิดและให้การสนับสนุนกลุ่ม FSA ร่วมกับสหรัฐฯ มาตลอด แต่เมื่อมีปัญหากับสหรัฐฯ ดังที่กล่าวมา ความร่วมมือกันในซีเรียจึงค่อยๆ ลดน้อยลง ดังนั้นเป้าหมายของสหรัฐฯ ในการโค่นอัสซาดผ่านการสนับสนุนกลุ่ม FSA ยิ่งเป็นไปได้ยาก และหากไม่มี FSA เป็นแนวหน้าต่อสู้กับซีเรียก็คงยากที่จะล้มอัสซาด จึงอาจเป็นเหตุผลว่าเมื่อทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2017 เขาจึงเปลี่ยนนโยบายต่อซีเรียโดยไปมุ่งเน้นการต่อสู้กับกลุ่ม IS และยุติการสนับสนุนกลุ่มกบฏ FSA หรือฝ่ายต่อต้านอัสซาด ทรัมป์เคยพูดว่า “เราไปหนุนหลังฝ่ายกบฏต่อต้านซีเรีย ทั้งๆ ที่เราไม่รู้แม้กระทั่งว่าคนพวกนี้คือใคร”

เมื่อทรัมป์ยุติการสนับสนุนกลุ่ม FSA แม้จะทำให้กลุ่มนี้ที่ภายหลังอยู่ในการสนับสนุนดูแลของตุรกีเป็นหลักอ่อนกำลังลงและถูกฝ่ายอัสซาดรุกไล่ แต่ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างรัสเซีย อิหร่าน และตุรกี ที่เน้นการเจรจาและหาทางออกของสงครามที่ยืดเยื้อนี้ ตลอดจนความร่วมมือกันในการต่อสู้กับกลุ่ม IS ทำให้สามารถตกลงกันกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (Save Zone) หรือที่เรียกว่าเขตลดความรุนแรง (De-escalation Zones) ในหลายพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดอิดลิบ (Idlib), อเลปโป (Aleppo), ฮอมส์ (Homs) และฆูเฎาะห์ตะวันออก (Eastern Ghouta) อันเป็นผลมาจากการหารือกันหลายรอบที่กรุงอัสตานาในช่วงปี 2017-2018 (เรียกความสำเร็จนี้ว่า Astana Model) การกำหนดพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้มีการหยุดปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ ลดความรุนแรง และเปิดทางสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยมีรัสเซียกับตุรกีร่วมกันควบคุมดูแลพื้นที่

ข้อตกลงนี้ในอีกด้านหนึ่งก็ทำหน้าที่ลดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลซีเรียและฝ่ายต่อต้าน การแยกกลุ่มก่อการร้ายออกจากฝ่ายต่อต้าน การกระชับพื้นที่และกวาดล้างกลุ่ม IS และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ด้วยวิธีการนี้ทำให้ซีเรียและรัสเซียสามารถไล่ยึดพื้นที่คืนจากกลุ่ม IS ได้เกือบทั้งหมด สถานการณ์ในซีเรียเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีการพูดคุยหาทางออกทางการเมือง และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยการผลักดันของสหประชาชาติ กลุ่ม FSA ในส่วนที่ตุรกีสนับสนุนดูแลก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกองกำลังแห่งชาติซีเรีย (Syrian National Army – SNA) ซึ่งขณะนี้ประกาศร่วมมือกับตุรกีในการต่อสู้กับเคิร์ด YPG ทางเหนือของประเทศ

แม้สถานการณ์ในซีเรียโดยรวมจะคลี่คลาย แต่สำหรับตุรกีแล้ว พื้นที่ทางเหนือของซีเรียภายใต้การควบคุมของเคิร์ดและสหรัฐฯ ซึ่งมีพรมแดนติดกับตุรกียังคงเป็นปัญหาและเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงของตุรกีในอนาคต อีกทั้งปัญหาผู้ลี้ภัยจากซีเรียที่ตุรกีต้องแบกรับมายาวนาน ตุรกีจึงต้องการหาทางออกร่วมกับสหรัฐฯ ในลักษณะเดียวกับที่เคยทำมาแล้วกับรัสเซียและอิหร่านหรือโมเดลอัสตานา กล่าวคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยบริเวณแนวพรมแดนซีเรียและตุรกี เพื่อเป็นทั้งแนวกันชนและพื้นที่พร่องถ่ายผู้ลี้ภัยกลับซีเรีย จากนั้นก็เจรจาหาทางออกในรายละเอียดอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการตกลงร่วมกันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมระหว่างสหรัฐฯ กับตุรกีว่าจะสร้าง Peace Corridor หรือ ‘ระเบียงสันติภาพ’ ขึ้น แต่ท้ายที่สุดทรัมป์ก็เปลี่ยนท่าทีและไม่พูดเรื่องนี้อีกเลย

 

Kurds



Operation Peace Spring: ระเบียงสันติภาพ ระเบียงก่อการร้าย และระเบียงพลังงาน
ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม สหรัฐฯ และตุรกีตกลงกันที่จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมระหว่างสองประเทศขึ้นในตุรกี เพื่อการประสานงานในภารกิจสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นบริเวณแนวพรมแดนทางตอนเหนือของซีเรียที่ติดกับตุรกีเป็นแนวยาวกว่า 480 ตารางกิโลเมตร กว้างหรือลึกเข้าไปในซีเรียประมาณ 30 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นทั้งพื้นที่พร่องถ่ายผู้ลี้ภัยในตุรกีกลับเข้าไปในซีเรีย และเป็นพื้นที่กันชนระหว่างเคิร์ดกับตุรกี โดยวาดหวังกันว่าพื้นที่นี้จะเป็น ‘ระเบียงสันติภาพ’ ต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าซีเรียย่อมไม่พอใจแผนการนี้

แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับไม่มีความคืบหน้า ตุรกีมองว่าสหรัฐฯ ไม่พยายามจะผลักดันตามข้อตกลง จนกระทั่งมาถึงการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างแอร์โดอันกับทรัมป์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งจบลงที่ทรัมป์ยืนยันถอนทหารจากทางเหนือของซีเรีย และตุรกีจะเปิดปฏิบัติการทางทหารเคลื่อนพลข้ามพรมแดนเข้าไปโจมตีกลุ่มเคิร์ด PDY/YPG ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (Syrian Democratic Force – SDF) ปฏิบัติการครั้งนี้หากมองในมุมของตุรกีคือการเข้ามาสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อผู้ลี้ภัยและสร้างระเบียงสันติภาพตามแผนที่วางไว้ เพียงแต่ไม่ได้ทำร่วมกับสหรัฐฯ ตามที่ตกลงกันไว้

นอกจากการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนและการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับส่งผู้ลี้ภัยกลับแล้ว ตุรกียังอ้างว่าเพื่อป้องกันพื้นที่ตรงนี้ไม่ให้กลายเป็น ‘ระเบียงก่อการร้าย’ เพราะตุรกีมองว่าทั้ง PYD/YPG หรือ SDF และกลุ่ม IS ที่อยู่ในการควบคุมของเคิร์ดต่างก็เป็นกลุ่มก่อการร้ายทั้งนั้น

ดังนั้นในสายตาของตุรกี พื้นที่ตรงนี้จึงเสี่ยงที่จะกลายเป็นแนวเขตของกลุ่มก่อการร้าย ที่สำคัญพื้นที่ในส่วนที่เคิร์ดยึดครองได้ในช่วงที่ผ่านมายังมีแหล่งพลังงานในนั้นด้วย หากไม่ปลดปล่อยอาจถูกนำไปใช้สร้างรายได้จนทำให้เข้มแข็งขึ้นมาเหมือนที่ IS เคยมีรายได้จากการขายน้ำมัน ดังนั้นเหตุผลหนึ่งที่ตุรกียกมาอ้างคือต้องการปลดปล่อยแหล่งพลังงานจากการครอบครองของเคิร์ด และสร้างให้เป็นระเบียงพลังงาน (Energy Corridor)

 

Kurds



อะไรทำให้ตุรกีตัดสินใจใช้กำลังทหารเด็ดขาด
อะไรทำให้ตุรกีตัดสินใจเปิดปฏิบัติการทางทหาร Operation Peace Spring ทั้งที่เดิมพันครั้งนี้สูงมาก และหากพลาดท่าอาจทำให้ตุรกีและภูมิภาคนี้ไร้เสถียรภาพมากขึ้น เหตุใดการตัดสินใจใช้กำลังอย่างเด็ดขาดจึงจำเป็นในมุมมองของตุรกี

หากมองในมิติความมั่นคงของตุรกีเป็นหลักอาจทำให้นึกถึงกรณีที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากอิรักในปี 2011 ในช่วงนั้นกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านการยึดครองของสหรัฐฯ ได้เข้าไปในซีเรียแล้ว (ซึ่งต่อมากลายเป็นกลุ่ม IS ที่เข้มแข็งอย่างที่เห็น) สหรัฐฯ ทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากไว้ให้กับทหารอิรัก โดยเฉพาะทหารสุนนี่ทางเหนือ ซึ่งต่อมาทหารเหล่านี้เกิดความไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลชีอะห์

จนกระทั่งเมื่อเกิดกลุ่ม IS ขึ้นมาในกลางปี 2014 กองกำลัง IS ได้บุกจากซีเรียข้ามเข้ามายึดครองทางเหนือของอิรักได้สำเร็จอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะทหารอิรักดังกล่าวแปรพักตร์มาเข้าร่วมกับกลุ่ม IS ซึ่งทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของสหรัฐฯ จำนวนมากตกไปอยู่ในมือของ IS ทำให้ IS มีศักยภาพเข้มแข็ง สามารถสร้างกองกำลังและขยายพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วทั้งในอิรักและซีเรีย

ในซีเรีย ที่ผ่านมาสหรัฐฯ สนับสนุนทั้งกำลังและอาวุธให้กับเคิร์ด มาวันนี้สหรัฐฯ ประกาศว่าการปราบปราม IS สำเร็จแล้ว สมาชิก IS นับหมื่นอยู่ในค่ายควบคุมในพื้นที่ของเคิร์ด ซึ่งที่ผ่านมาหลายประเทศแสดงความกังวลว่าค่ายกักกันที่ว่านี้มีความเปราะบางมาก กลุ่ม IS อาจแหกค่ายออกมาได้ง่ายๆ สหรัฐฯ ก็น่าจะประเมินได้

ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ ประกาศถอนกำลังออกจากพื้นที่ ในมุมมองของตุรกีคืออาวุธต่างๆ ที่สหรัฐฯ ทิ้งให้เคิร์ดย่อมทำให้เคิร์ดเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหมายถึงความเข้มแข็งขึ้นของ PKK ด้วย จึงถือเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงสำหรับตุรกี หรือไม่อย่างนั้นหาก IS พลิกสถานการณ์กลับมารวมตัวกันได้แล้วยึดอาวุธต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในมือเคิร์ด ก็จะยิ่งเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อตุรกีเช่นกัน

อาวุธของสหรัฐฯ จะถูกส่งต่อวนเวียนอีก จากที่เคยอยู่ในมือทหารอิรักมาตกอยู่ในมือของกลุ่ม IS ถึงตอนนี้อยู่ในมือของเคิร์ดแล้ว และอาจจะกลับไปอยู่ในมือของ IS อีกก็ได้

แต่ไม่ว่าอยู่กับใครก็เป็นภัยคุกคามสำหรับตุรกี จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญหรือเบื้องหลังการตัดสินใจใช้ปฏิบัติการ Peace Spring ครั้งนี้ เพื่อพยายามเข้าไปคุมทั้งเคิร์ด YPG, กลุ่ม IS และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็สร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือพื้นที่กันชนเพื่อพร่องถ่ายผู้ลี้ภัยกลับซีเรียไปด้วย

 

Kurds



เคิร์ด SDF/YPG อาจไม่มีทางเลือกมากนัก จึงไปขอความช่วยเหลือซีเรียจนสามารถตกลงร่วมมือกันในสมรภูมิที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ ซีเรียตัดสินใจส่งกำลังเคลื่อนพลขึ้นเหนือสู่ชายแดนเพื่อเตรียมเผชิญหน้ากับตุรกีที่ซีเรียมองว่าละเมิดอธิปไตยของตน ส่วนสหรัฐฯ แสดงท่าทีแล้วว่าจะถอนทหารทั้งหมดที่มีกว่า 1,000 นายออกจากซีเรีย

อะไรจะเกิดขึ้นต่อไประหว่างสงครามและการเผชิญหน้ากันของตุรกี + กบฏ SNA กับซีเรีย + เคิร์ด SDF หรือรัสเซีย + อิหร่าน ที่เข้ามาไกล่เกลี่ยให้จบแบบโมเดลอัสตานา ต้องติดตามกันต่อไป

แต่การที่สหรัฐฯ เสนอตัวไกล่เกลี่ยระหว่างตุรกีกับเคิร์ด สหรัฐฯ อาจต้องถามเคิร์ดก่อนว่า ‘ยังไว้ใจ’ อยู่ไหม

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์  

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X