×

รู้จัก ‘กุลลดา เกษบุญชู มี้ด’ จำเลยที่ 2 คดี ‘ณัฐพล ใจจริง’ ถูกฟ้องปมเชิงอรรถ-เนื้อหาวิทยานิพนธ์

22.11.2021
  • LOADING...
กุลลดา เกษบุญชู มี้ด

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • กุลลดา เกษบุญชู มี้ด คือจำเลยที่ 2 ในฐานะที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง ที่กำลังเป็นประเด็น เธอคือนักวิชาการที่คนในแวดวงวิชาการรู้จักและยอมรับในบทบาทอย่างยิ่ง 
  • “จากประสบการณ์ของดิฉัน ไม่เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน เพิ่งมีกรณีนี้ แล้วเกิดขึ้นหลังวิทยานิพนธ์สำเร็จ มีผลออกมาแล้วหลายปี” กุลลดากล่าว

อีกไม่กี่วันจะมีความคืบหน้าคดีฟ้องร้องงานวิชาการ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก (Excellent) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2552

 

ศาลแพ่งนัดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เพื่อฟังคำสั่งคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 โดยศาลแพ่งจะนัดพร้อมและชี้สองสถานในประเด็นการสืบพยานอีกครั้งในโอกาสต่อไป

 

คดีนี้ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร มอบหมายให้ทนายความยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท ต่อ 6 จำเลย ในฐานความผิดละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นวันนัดไต่สวนนัดแรก

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด จำเลยที่ 2 ในฐานะที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง เธอคือนักวิชาการที่คนในแวดวงวิชาการรู้จักและยอมรับในบทบาทอย่างยิ่ง 

 

 

ในวงวิชาการมีหลายสำนักคิด หลายทฤษฎี อ.กุลลดา ใช้ทฤษฎีไหนในงานวิชาการ

ดิฉันเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท และไปศึกษาต่อที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) จบปริญญาโทและปริญญาเอกด้าน Politics (ของภูมิภาค South East Asia) และเป็นอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี โดยสอนวิชาความเป็นมาของโลกตะวันตก, นโยบายต่างประเทศของไทย และการเมืองของ South East Asia แต่ได้เลือกทำวิจัย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในศตวรรษที่ 19 จึงไม่ได้ใช้ทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลัก

 

ขณะที่กำลังทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและบทบาททุนนิยมที่เข้ามาในเมืองไทยในศตวรรษที่ 19 ก็ได้มาพบทฤษฎีที่เป็นสาขาหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เรียกว่า Critical International Political Economy ทฤษฎีนี้ทำให้ดิฉันสามารถอธิบายการเมืองไทยในมิติที่แตกต่างไปจากนักรัฐศาสตร์คนอื่น และได้ผลิตผลงานด้านวิชาการ โดยมีหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์อยู่ 2 เล่ม คือ 

 

  1. ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย
  2. วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลก จากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ 

 

ส่วนบทความด้านวิชาการได้มีผู้รวบรวมไว้ให้ โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่ https://kulladablog.wordpress.com/2016/07/11/2/   

 

ส่วนบทบาทในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา นอกจากณัฐพลแล้ว ก็มี ผศ.ดร.นรุตม์ เจริญศรี ที่ดิฉันเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เรื่อง บทบาทของญี่ปุ่นในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง และ ผศ.ดร.นรุตม์ ได้ไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลีดส์ในสหราชอาณาจักรต่อในหัวข้อ Japanese and South East Asian Studies ซึ่งยังเป็นหัวข้อวิจัยหนึ่งที่อาจารย์ผู้นี้ให้ความสำคัญในปัจจุบัน

 

ดิฉันพยายามเชื่อมบทบาทของทุนนิยมข้างนอกกับการเมืองภายในว่าเป็นอย่างไร ก็ถือว่าเป็นกระแสที่คนอื่นไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลาย ดิฉันไม่ได้เป็นฝ่ายไหนในการเมืองไทย แต่ดิฉันมีวิธีการศึกษาที่ใช้ทฤษฎีหนึ่ง เพื่อจะมาเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย เหตุที่สนใจทฤษฎีนี้เพราะมันดูตั้งแต่พลังสังคม (Social Forces) รูปแบบรัฐและระบบทุนนิยม ตลอดจนบทบาททางการเมืองของรัฐมหาอำนาจ เช่น สมมติว่าธนาคารโลกมากดดันให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ดิฉันก็ดูว่ารัฐไทยรับมืออย่างไร แล้วข้างในประเทศ พลังสังคมส่วนไหนที่ต่อต้าน

 

ถ้าสำนักคิดอื่นๆ ก็อาจจะพอใจที่จะอธิบายปรากฏการณ์ด้วยทฤษฎีสัจนิยมและเสรีนิยม (Realism and Liberalism) เป็นต้น

 

 

ด้วยความแตกต่างนี้ เคยทำให้อาจารย์พบปัญหาระหว่างทำงานวิชาการหรือไม่

อาจจะบอกได้ว่า วิธีการทำงานของดิฉันเป็นวิธีการทำงานของนักวิชาการส่วนน้อย คือเข้าไปดูข้อมูลเอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุในต่างประเทศมาเพิ่มเติมความเข้าใจการเมืองไทย และใช้ทฤษฎีวิพากษ์ที่เป็นสาขาหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Critical International Political Economy)

 

เรื่องเอกสารข้อมูลส่วนใหญ่เป็นรายงานจากสถานทูต และบางส่วนเป็นรายงานจาก CIA ก็ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาด้วย ซึ่งดิฉันมองว่าเป็นปกติของงานวิชาการอยู่แล้ว และยินดีที่จะให้มีคนตั้งคำถามหรือมีความเห็นต่าง

  

กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของณัฐพลในปีการศึกษา 2552 ประกอบด้วยใครบ้าง มีการทักท้วงส่วนที่เป็นคดีในปัจจุบันหรือไม่

กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ประกอบด้วย

 

  1. ไชยวัฒน์ ค้ำชู ประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
  2. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
  3. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
  4. วีระ สมบูรณ์
  5. กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา

 

ตอนสอบวิทยานิพนธ์ไม่ได้มีการทักท้วงในส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เป็นคดีฟ้องร้องในตอนนี้ (ปี 2564) และกรรมการก็ได้ลงมติเป็น ‘เอกฉันท์’ ให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก (Excellent) 

 

ในการประเมินให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีมากกรรมการจะต้องเขียนคำอธิบายเหตุผลที่ให้ ‘ดีมาก’ ซึ่งแตกต่างจากการให้ผ่านโดยปกติ

 

สำหรับวิทยานิพนธ์ของณัฐพลเล่มนี้ อ.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ในฐานะประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ เป็นผู้เขียนเหตุผลที่คณะกรรมการประเมินให้เป็นวิทยานิพนธ์ระดับดีมาก

 

ในกระบวนการทำวิทยานิพนธ์ เนื่องจากดิฉันไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองยุค จอมพล ป. จึงได้เน้นการดูบทบาทของสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ ในขณะที่กรรมการท่านอื่นเป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย

 

 

วิทยานิพนธ์มีการเขียนและสอบผ่านไปนานกว่า 10 ปีแล้ว ขณะนั้นการสอบวิทยานิพนธ์เป็นอย่างไร และหากมองจากปัจจุบันอาจารย์มองว่าควรจะเพิ่มเติมส่วนไหน

ตอนนั้นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ก็ประทับใจกับสิ่งที่ณัฐพลนำเสนอ เพราะว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่รับรู้อย่างเป็นระบบในสาธารณะมาก่อน

 

พอเกิดเรื่องขึ้นมาแล้วได้นึกย้อนกลับไป ถ้าจะมองปัญหาเชิงอรรถดิ ฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอยู่ในระดับที่แก้ไขได้ หากจุฬาฯ อนุญาต

 

สิ่งที่เสียดายในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาคือ การที่ไม่ได้แนะนำณัฐพลให้นำบทบาททางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาอธิบายภาพการเมืองไทยในยุคนั้น ซึ่งจะทำให้เห็นภาพการต่อสู้ระหว่างกลุ่มรอยัลลิสต์กับรัฐบาล จอมพล ป. อย่างมีดุลยภาพขึ้น

 

อ.กุลลดา เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของณัฐพล แต่ในฐานะนักวิชาการ มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันหรือไม่

ณัฐพลเขาเป็นนักวิชาการที่ทำงานหนัก ศึกษาข้อมูลภายในประเทศมาแล้วอย่างมาก แล้วก็มาสเตอร์เรื่องข้อมูล เขาได้ไปดูเอกสารในต่างประเทศด้วย เรื่องข้อมูลเขาดี

 

ตอนที่เขามาคุยด้วยก่อนทำวิทยานิพนธ์ ดิฉันก็รู้สึกว่าเขามีธงซึ่งอาจจะทำให้เขาโฟกัสไปในทางเดียว ดิฉันก็เลยเสนอ 2 ข้อ คือ 

 

  1. ให้ดูบทบาทอเมริกาในการเมืองตอนนั้น
  2. ต้องไปดูเอกสารที่อเมริกา

 

แล้วดิฉันก็ช่วยสนับสนุนให้เขาได้ทุนวิจัยไปดูเอกสารที่อเมริกา ส่วนดิฉันได้ทุนอื่นไปค้นคว้าเอกสารที่อเมริกาด้วยเช่นกัน

 

ดิฉันมีความเชื่อมั่นว่าเขาใช้เอกสารโดยบริสุทธิ์ใจตลอดเวลาในการทำวิทยานิพนธ์

 

ส่วนวิธีการทำงานของดิฉันจะไม่มีธงและปล่อยให้ข้อมูลเล่าเรื่องเหตุการณ์ แล้วดิฉันประมวลขึ้นมาเป็นคำอธิบายปรากฏการณ์

 

 

คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีวิทยานิพนธ์ของณัฐพลประกอบด้วยใครบ้าง อ.กุลลดา ได้ชี้แจงอย่างไร  

คณะกรรมการประกอบด้วย

 

  1. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
  2. นรนิติ เศรษฐบุตร
  3. สุจิต บุญบงการ
  4. ปาริชาต สถาปิตานนท์
  5. อาจารย์ท่านหนึ่งที่มาจากคณะวิทยาศาสตร์  ​

 

การสอบสวนยังคงดำเนินอยู่ ในขณะที่มีเสียงเรียกร้องจากชุมชนวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ให้จุฬาฯ เลิกล้มไป ผลสรุปของกรรมการชุดนี้น่าจะมีผลต่อคดีด้วย

 

ในการสอบสวนโดยจุฬาฯ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ดิฉันบอกจุฬาฯ ว่างานวิชาการไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูก แต่เป็นเรื่อง Judgment ของผู้เขียน ซึ่งโต้แย้งกันได้

 

มีกรรมการอ่านแล้วให้ผ่าน เมื่อมีคนอีกจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยก็มาว่ากัน

 

 

ขอบเขตความรับผิดชอบในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

อาจารย์ที่ปรึกษารับผิดชอบดูความเหมาะสมทางวิชาการของหัวข้อ, ตรวจดูความก้าวหน้าของวิทยานิพนธ์ โดยดูการดำเนินเรื่องและตรรกะ ถ้าตรงไหนสะดุดก็ทักท้วง ส่วนความถูกต้องของเชิงอรรถนั้น ในความเป็นจริงที่ยอมรับกันในวงวิชาการสากลแล้ว อาจารย์ที่ปรึกษาไม่สามารถที่จะไปตรวจสอบความถูกต้องทุกประการของเชิงอรรถได้

 

สิ่งที่เขาอ้างอิง ถ้ามีใครซีเรียสมากๆ แล้วไปตรวจสอบความถูกต้อง ก็ต้องขอบคุณ แต่การวิเคราะห์ที่หากมีใครไม่เห็นด้วยนั้นก็สามารถเขียนงานวิชาการโต้แย้งได้

 

ในที่สุดแล้ววิทยานิพนธ์เป็นความรับผิดชอบและเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียนและลิขสิทธิ์เป็นของจุฬาฯ ด้วย หากจุฬาฯ จะไต่สวนก็ควรต้องไต่สวนเชิงระบบ ตลอดจนกระบวนการปฏิบัติและกระบวนการอนุมัติวิทยานิพนธ์ทั้งหมดของตนจะเป็นประโยชน์มากกว่า

 

หากใครจะมีความคาดหวังว่าสิ่งที่ณัฐพลเขียนต้องปรากฏในเอกสารอ้างอิงด้วยนั้น มันไม่ใช่ เพราะการเขียนเป็น Judgment ของคนศึกษา

 

ถ้าถ้อยคำต้องปรากฏในเอกสารอ้างอิงด้วยทุกคำแบบนั้น คนทำวิทยานิพนธ์ก็เพียงแต่เรียงเอกสารให้เสร็จ ไม่มีตัวตนของผู้เขียน ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น

 

เมื่อผลิตงานออกมาแล้ว หากไม่เป็นที่พอใจของใคร ก็ควรจะรีบผลิตงานวิจัยออกมาตอบโต้

 

เราศึกษาเอกสารทั้งหมด แล้วเรามาอธิบายว่าเรื่องเป็นแบบนี้ นี่คือบทบาทของนักวิชาการ นักวิชาการต้องสามารถ Make Judgment จากเอกสารที่ตัวเองได้ศึกษามา แล้วเมื่อเห็นแตกต่างกันก็ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูก เป็นเรื่องมาโต้แย้งกันได้

 

ดิฉันชื่นชมนักวิชาการฝ่ายอนุรักษ์ที่มีคุณภาพ ที่ศึกษาด้วยความมีเหตุผล มีหลักฐานอ้างอิงประกอบ ต้องเคารพการทำงานกัน เราจะเห็นต่างก็ไม่ว่ากัน

 

 

กรณีมีการโต้แย้งเช่นนี้ ที่ผ่านมาในวงวิชาการมีวิธีปฏิบัติต่อกันอย่างไร

จากประสบการณ์ของดิฉัน ไม่เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน เพิ่งมีกรณีนี้ แล้วเกิดขึ้นหลังวิทยานิพนธ์สำเร็จมีผลออกมาแล้วหลายปี

 

ผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการวิชาการในอนาคตจากคดีที่มีการฟ้องร้อง อาจารย์มองว่าอย่างไร 

ในอนาคตอาจารย์ก็อาจจะลำบากใจที่จะรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ไม่ใช่แค่เรื่องสถาบันกษัตริย์ อาจเป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากทุนนิยมผูกขาด ก็ถูกเอาเรื่องได้ แม้ว่าจะเป็นการศึกษาในเชิงวิชาการและเป็นการนำข้อมูลมาเสนอต่อสาธารณะ

 

มีคนตั้งคำถามว่าไปเอาเอกสารเมืองนอกมา ใช้ได้แค่ไหน คำตอบก็คือว่า มันก็ต้องเป็นส่วนหนึ่ง เราทำวิจัยก็จะเริ่มมีภาพของเรื่องราวที่เกิดขึ้น แล้วก็เอกสารเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นตัวชี้ขาด เรื่องนี้ต้องอาศัยเอกสารนี้เล่าเรื่อง แต่เราดูเอกสารอื่นมาด้วย แล้วเอกสารนี้สนับสนุน ซึ่งคนอื่นอาจจะมองเอกสารเดียวกันแล้วเห็นไม่ตรงกันก็ได้ เป็นการทำงานทางวิชาการ

 

เอกสารชิ้นหนึ่งมองจากคนละมุมก็เห็นไม่เหมือนกัน เอกสารแต่ละชิ้นจะสนับสนุนเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ที่เราได้เห็นมาแล้ว ไม่มีเอกสารชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรอกที่อธิบายทั้งหมด

 

 

หนังสือที่อาจารย์เตรียมจะเขียนให้จบ และผลงานอื่นๆ ที่อยากจะนำเสนอ

ตอนนี้มีหนังสือที่ควรจะจบอีก 2 เล่ม และที่อยากเขียนอีก 1 เล่ม ถ้ายังมีชีวิตอยู่

 

เล่มหนึ่งคือ บทบาทของสหรัฐอเมริกาในการเมืองไทย โดยมีประเด็นว่า ควรจะมองบทบาทอเมริกาในฐานะที่เป็น Empire เพิ่มเติมอีกด้วย

 

อีกเรื่องคือ รัฐไทยกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) เป็นการมองอเมริกาอีกยุคหนึ่ง ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 มาถึงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 นึกว่าจะต้องจบด้วยการอธิบายว่า อนาคต Neoliberalism จะเป็นเช่นไร แต่ก็พบว่าไม่อาจจะทำได้ เนื่องจากยังเป็นกระบวนการที่ยังคงดำเนินอยู่ กระทั่งเมื่อสัก 2 เดือนที่แล้ว เราก็นึกได้ว่าสามารถจะจบได้ด้วยการพูดถึงรัฐไทย

 

ที่อยากเขียนอีกเล่ม ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างถึง 2 ศตวรรษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบขบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นในประเทศ ในภูมิภาคนี้ ก่อนการได้รับเอกราช กับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน

 

หัวข้อนี้ดิฉันได้เคยไปเลกเชอร์โอกาสครบรอบวันเกิด อ.ธเนศวร์ เจริญเมือง ไว้ แต่ยังไม่มีโอกาสทำให้เห็นภาพชัดเจน จนเมื่อได้รับเชิญให้ไปพูดในโครงการปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในประเด็นที่ว่า เศรษฐกิจมีบทบาทอย่างไรกับการเมืองเปรียบเทียบ ทำให้ภาพมีความชัดเจนขึ้น จึงอาจหาญอยากจะเขียนหนังสือเล่มใหญ่ในประเด็นนี้

 

ดิฉันมองว่าในศตวรรษที่ 19 ทุนนิยมได้เข้ามาในเกือบทุกประเทศในภูมิภาค แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 ประการ

 

  1. การเกิดรัฐสมัยใหม่และการศึกษาสมัยใหม่ เป็นที่มาของผู้นำขบวนการชาตินิยมของทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
  2. การกดขี่ของระบบทุนนิยมโดยเจ้าอาณานิคม เกิดขึ้นในทุกประเทศยกเว้นประเทศไทย

 

ความสำเร็จของผู้นำชาตินิยมในเมืองไทยโดยที่ไม่มีมวลชนหนุนหลังเกิดขึ้นในปี 2475 แต่ความสำเร็จของผู้นำและขบวนการชาตินิยมในประเทศอื่นๆ จะต้องรอถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดรัฐชาติในลักษณะเดียวกันกับรัฐไทยที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2475

 

การกดขี่ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจในสังคมไทยนำไปสู่การลุกขึ้นมามีส่วนร่วมทางการเมืองของมวลชน (Mass) ในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นก่อนหน้านี้ นั่นก็คือการเรียกร้องสิทธิ์ของตนในนามของชาติ

 

เราควรจะต้องพิจารณาปรากฏการณ์นี้ในสังคมไทยว่าเป็นขบวนการชาตินิยมที่ล่าช้า (Late Nationalist Movement) กว่าขบวนการชาตินิยมที่เกิดมาแล้วในอดีต

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising