ถือเป็นสัญญาณว่า Kubota จากประเทศญี่ปุ่น พร้อมขึ้นขบวนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้ว หลังจากประกาศทุ่มเงินลงทุนราวพันล้านเยน เพื่อผลิตชิ้นส่วนแบตเตอรี่ป้อนตลาด EV ที่เมืองอามางาซากิ เขตโอซาก้า โดยคาดเริ่มผลิตปี 2567 และตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตมากกว่า 5 เท่าในช่วง 5 ปี ชูจุดแข็งแบตเตอรี่จากงานวิจัยพัฒนาโพแทสเซียมไททาเนต สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ชาร์จเร็วขึ้น ใช้งานนานขึ้น
แม้รถยนต์ EV ญี่ปุ่นอาจจะยังไม่เป็นที่นิยมเท่ารถยนต์ไฮบริดที่ยังคงครองตลาดมากที่สุด แต่อนาคตอาจจะไม่ใช่กับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตร เมื่อบริษัทแม่ Kubota ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเกษตร เริ่มขยับมีแผนที่จะเข้าสู่วงการ EV และระยะหลังจะเห็นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น บวกกับภาวะโลกร้อน วิกฤตขาดแคลนอาหารเริ่มกดดัน อย่างปีที่แล้วจะเห็นการร่วมมือกับ Tesla ที่ Silicon Valley ในการศึกษาโครงการ AI สำหรับทำไร่ ฟาร์ม อาจเป็นไปได้ว่า อนาคตอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตรที่เป็น EV กำลังมีบทบาทมากขึ้นไม่แพ้รถยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า Kubota Corporation ประเทศญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมการเกษตรระดับโลก ประกาศว่า บริษัทพร้อมจะลงทุนผลิตเกี่ยวกับวัสดุชิ้นส่วนแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการชาร์จที่เร็วขึ้นและใช้งานได้นานขึ้น ภายหลังจากที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตไทเทเนียมไนโอเบียมออกไซด์ในปริมาณที่มากขึ้น และจะเป็นวัตถุดิบหนึ่งในทางเลือกแทนแกรไฟต์ เป็นวัสดุแอโนดในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
โดยแผนการลงทุนครั้งนี้ บริษัทใช้เงินลงทุน 1 พันล้านเยน (หรือ 7.47 ล้านดอลลาร์) บนพื้นที่ไซต์งานอามางาซากิ เขตใกล้กับโกเบ เมืองโอซาก้า ภายในปี 2024 ส่วนกำลังการผลิตเริ่มต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 50 ตันต่อเดือน และตั้งเป้าในอนาคตจะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า ใน 5 ปี และ Kubota จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการผลิตไทเทเนียมไดออกไซด์ที่ได้รับการพัฒนาโดยการผลิตโพแทสเซียมไททาเนต ซึ่งใช้สำหรับวัสดุเสียดสีในผ้าเบรกด้วย
ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวเป็นหนึ่งในเป้าหมายรายได้ใหม่หลังจากยอดขายบางส่วนอย่างท่อน้ำถึงจุดอิ่มตัว
รายงานข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2022 Kubota มีแผนการลงทุนเพื่อเข้าสู่ตลาด EV และมุ่งพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร โดยใช้นโยบาย Global Major Brand (GMB) สินค้าที่เป็นพลังงานสะอาด ไฮโดรเจน แทรกเตอร์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และนำเสนอโมเดลแทรกเตอร์ไร้คนขับโลกแห่งอนาคต เทคโนโลยีขั้นสูงไร้คนขับทำงานด้วยระบบ AI ที่มีกำลังแรงม้าสูง
ปัจจุบัน Kubota ถือเป็นบริษัทที่ผลิตและพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมการเกษตร โดยทำธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม และส่งออกสินค้าไปยัง 70 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ กลุ่ม Food ที่ขายเครื่องจักรกลเกษตร มีผลิตภัณฑ์หลักคือรถแทรกเตอร์ อีกส่วน กลุ่มระบบน้ำ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักก็คือท่อ และสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม
โดยข้อมูลล่าสุด Kubota มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 78% ถือเป็นบริษัทแบรนด์ระดับโลกที่มีการผลิตเครื่องยนต์โดยรวมมากกว่า 30 ล้านยูนิต เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไปยังทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย Kubota มีบริษัทลูกคือ สยามคูโบต้า ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 45 ปี และถือว่าเป็นแบรนด์เจ้าตลาดเครื่องจักรกลเกษตรที่ครองสัดส่วน 80% โดยมีสินค้ารถขุดขนาดเล็กครองสัดส่วนอันดับ 1 ต่อเนื่องหลายปี
และเมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งเปิดตัวแทรกเตอร์ไฟฟ้า 100% ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่ทำงานได้อย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 3-4 ชั่วโมงต่อรอบการชาร์จ อีกทั้งยังสามารถชาร์จไฟ (Fast Charge) ได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘Tesla’ ประกาศหั่นราคาขายในตลาดจีน 9% กูรูหวั่นจุดชนวนสงครามราคารถยนต์ไฟฟ้า
- ยุโรปปูพรมแดงต้อนรับ BYD เข้าตั้งฐานการผลิต ฟากแบรนด์ผลิตรถยนต์เจ้าถิ่นอาจอยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป
- สตาร์ทอัพ ‘รถยนต์ไฟฟ้าจีน’ เนื้อหอม โกยเงินลงทุนจาก Venture Capital ไปกว่า 6 พันล้านดอลลาร์
ภาพ: Kubota.com
อ้างอิง: