วานนี้ (23 มกราคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ (KU TOWER) เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมี รศ. ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเยี่ยมชมการทำงานของ KU TOWER
รศ. ดร.สุรัตน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ติดตามข้อมูลและทำงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาว่าฝุ่นมีต้นตอมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาก็ส่งให้ กทม. ใช้ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
สำหรับ KU TOWER เป็นเสาสูงขนาด 117 เมตร ใช้เก็บตัวอย่างลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศ โดยมีระดับของการวัดที่ความสูง 5 ระดับ คือ 10, 30, 50, 75 และ 110 เมตร และมีเรื่องฝุ่นที่เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง 3 ระดับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้วิเคราะห์ที่มาของฝุ่น รวมทั้งหาองค์ประกอบทางเคมีว่าฝุ่นเหล่านี้มาจากกิจกรรมประเภทใด
รศ. ดร.สุรัตน์ อธิบายถึงสถานการณ์ฝุ่นสูงในช่วงนี้ว่า เกิดจากอากาศเย็น ทำให้อากาศหนัก เมื่ออากาศหนักขึ้นก็จะจมตัวลง ซึ่งการจมตัวลงก็ทำให้ชั้นบรรยากาศมีความแคบลง สิ่งที่อยู่ข้างในก็จะมีความเข้มข้นสูงขึ้น แต่ย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนที่อากาศจะจมตัวลง กิจกรรมของมนุษย์เราปล่อยอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจราจรและอื่นๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นอยู่ภายใน
จริงๆ แล้วฝุ่นในกรุงเทพฯ มีแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ตัวเลขที่เห็นสูงสุดจะอยู่ประมาณ 50-60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ตัวเลขเกินระดับนี้ขึ้นมา แสดงว่ามีฝุ่นจากข้างนอกเข้ามาเติม ซึ่งที่เราพบเป็นฝุ่นที่มาจากการเผาไหม้ชีวมวลที่ลอยเข้ามาแล้วจมตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ความเข้มข้นสูงขึ้นในช่วงเช้า อย่างไรก็ตาม ปกติฝุ่นจะเข้ามาตลอด แต่เมื่อเจออากาศเย็นที่ไหนก็จะจมตัวลงที่นั่น จึงทำให้เห็นว่าช่วงกลางคืนหลังเที่ยงคืนไปแล้วจะมีความเข้มข้นสูงขึ้น และหากตอนเช้าอากาศยังนิ่งอยู่ ประกอบกับมีรถในกรุงเทพฯ ที่เดินทางตอนเช้าก็จะยิ่งทำให้ความเข้มข้นสูงขึ้น
ในส่วนของสถานการณ์ตอนนี้ฝุ่นมาจากไหน บอกได้ด้วย 2 วิธี
- ดูจากตัวเลขความเข้มข้น ถ้าตัวเลขความเข้มข้นข้างบนสูงกว่าข้างล่าง แสดงว่าตอนนั้นฝุ่นลอยเข้ามา
- นำตัวอย่างกระดาษกรองฝุ่นละอองไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี แล้วจะบอกได้ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างและมาจากกิจกรรมอะไร โดยเช้าวันนี้ที่ระยะความสูง 75 เมตร ฝุ่นมีความเข้มข้นสูง แสดงให้เห็นว่าอากาศจมตัว
รศ. ดร.สุรัตน์ ให้ความเห็นว่า การจะแก้ปัญหาฝุ่นสูงตอนนี้ เนื่องจากปัญหาหลักอยู่ที่การเผาไหม้ข้างนอก ในกรุงเทพฯ จึงควรทำในส่วนที่ทำได้คือมาตรการลดฝุ่นที่เกิดจากในพื้นที่ ซึ่งก็คือฝุ่นจากรถยนต์ต่างๆ และสิ่งที่ช่วยได้เยอะคือการพยากรณ์และแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าช่วงไหนจะเป็นอย่างไร
ชัชชาติกล่าวว่า กทม. มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ Work from Home (WFH) หรือมาตรการ Low Emission Zone (LEZ) แต่เราไม่สามารถห้ามรถทุกคันเข้ามาได้ เนื่องจากอาจกระทบกับเศรษฐกิจ จึงใช้หลักการจูงใจให้คนทำดี ร่วมดูแลรักษารถให้อยู่ในมาตรฐาน และขึ้นทะเบียน Green List โดยนำเทคโนโลยี CCTV และ AI เข้ามาตรวจควบคุม
ซึ่งภายหลังบังคับใช้ LEZ ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ถึงประมาณช่วงเช้าของวันที่ 31 มกราคม ตรวจพบว่ามีรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่ไม่ได้อยู่ใน Green List ฝ่าฝืนเข้ามาในพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกกว่า 700 คัน ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังต่อไป